ธรรมนั้นอย่าพึงเข้าใจว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวของเรานี้เอง ที่ว่าอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ใช่

ณ วัดอ้อมแก้วนี้ หลังจากผู้เขียนได้รับฟันอันเป็นรางวัลจากท่านอาจารย์มั่นฯในวันนั้นแล้ว ท่านก็ได้เล่าถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ให้ผู้เขียนฟังอย่างละเอียด ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับความเป็นจริงท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านหลายประการ ที่ผู้เขียนสะดุดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ท่านว่า

“พระอาจารย์เสาร์นี้ วาจาท่านศักดิ์สิทธิ์มาก การแสดงธรรมก็ไม่แสดงมาก คือวันหนึ่งศาลาการเปรียญของวัดชำรุดมานาน วันนี้ท่านขึ้นแสดงธรรม บอกกับโยมทั้งหลายว่า “ศาลาเต็มทีแล้ว สร้างกันให้ดีเสียเถิด”

เพียงเท่านี้ศาลานั้นก็ถูกสร้างขึ้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งมีพระดื้ออยู่กับท่าน ท่านบอกว่า

“อย่าดื้อเลย”

เพียงเท่านี้พระนั้นก็ไม่ดื้อตลอดชีวิต แต่ว่าท่านอาจารย์เสาร์นี้นาน ๆ ท่านจึงจะพูด จึงทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการพูดมาก

ต่อจากพระธาตุพนมนี้ก็จะมีการเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ อุบาสกได้มาขอปวารณาปัจจัยค่ารถ ให้ขึ้นรถยนต์ไปที่จังหวัดอุบล ผู้เขียนก็ นึกในใจว่า ท่านจะขึ้นรถหรือจะพาเดินเท้าอีกหนอ ? ในคราวนี้

เช้าวันนั้นหลังจากบิณฑบาตมาแล้ว ท่านก็ได้บอกผู้เขียนว่า เวลาถวายพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ใกล้เข้ามาแล้ว เราจะเดินก็คงไม่ทันต้องขึ้นรถยนต์โดยสารไป จึงให้ผู้เขียนดีใจ และแป้วใจ ที่ดีใจก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อย ถึงเร็ว ที่แป้วใจก็คือ เราควรจะได้ธุดงค์กับท่านอีกสักพักใหญ่แต่แล้วก็ไม่มีโอกาส และก็หมดโอกาสเพียงเท่านี้ มาคิดอีกทีท่านก็สงเคราะห์เราเท่านี้จะไปเอาอะไรกับท่านอีกเล่า ขณะนี้ท่านอายุก็ ๗๔ แล้ว หนทางจากนครพนมถึงอุบลนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร

เมื่อได้เวลาของวันเดินทาง ท่านก็พาข้าพเจ้าขึ้นรถโดยสารออกจากอำเภอพระธาตุพนม เป็นถนนลูกรัง ตั้งแต่เช้าถึงจังหวัดอุบลราชธานีตอนเย็นและพักที่วัดเลียบ

ที่วัดเลียบนี้เอง ท่านเล่าว่า ท่านอยู่ที่นี่มานาน ทำความเพียรทางสมาธิได้ผลมาก พร้อมกับบอกผู้เขียนว่าท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ อยู่ที่นี้เป็นสิบๆ ปี เพราะในขณะนั้นสงบดีมาก และท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ( พนฺธุโล จูม ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ก็มาเป็นสามเณรอยู่กับเราที่วัดนี้เอง ก็นับว่าวัดเลียบนี้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระผู้ใหญ่หลายองค์ แม้ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านบำเพ็ญความเพียรได้ทั้งนิมิตสมาธิในขั้นแรกก็คือวัดเลียบนี้เอง

ผู้เขียนได้เดินดูรอบ ๆ บริเวณ ก็รู้สึกว่ามีความเป็นสัปปายะหลายประการ น่าที่จะเป็นแหล่งทำความเพียรของผู้หวังความสงบได้เป็นอย่างดี เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ มาพักอยู่ที่วัดเลียบนี้ ก็ได้พากันมานมัสการท่านมาก และมากขึ้นทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งเมื่อญาติโยมมาหลายคนก็อาราธนาท่านอาจารย์มั่น ฯ แสดงพระธรรมเทศนา ท่านก็ไม่ขัดข้อง ผู้เขียนก็ถือโอกาสนั่งฟังอย่างจดจ่อเพราะยังไม่เคยเห็นท่านแสดงธรรมแก่ญาติโยมมากอย่างนี้สักที มีแต่แสดงธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร

เริ่มการแสดงธรรมเทศนา ท่านได้แสดงว่าบุคคลผู้ประพฤติตัวไม่ดีในพุทธพจน์ว่า ทุวิชาโนปราภโว ผู้รู้ชั่วทำตัวยิ้ม เช่นเล่นไพ่ กินเหล้า ท่านแสดงว่าสุรา นารี กีฬาบัตร เที่ยวผู้หญิง พวกนี้พากันล่มหลวง หมายความว่า เมื่อตัวไม่ทำงานยังใช้เวลาเล่นโดยไม่มีประโยชน์ เสียเงิน ภาษีอากรของรัฐก็ขาดไป ตั้งตัวของตนเป็นภัยต่อสังคม อย่างนี้เรียกว่าล่มหลวง ถ้าทำกันมากขึ้นก็เป็นภาระหนักแก่หลวงคือรัฐบาล ที่ว่าวันล่มหลวง วันฟู วันจม ตามตำราหมอดูนั้น มันบ่แม่นดอกท่านว่า วันไม่ได้ล่มหลวง ไม่ฟู ไม่จม ตัวคนนี้ต่างหากที่ฟู ที่จม ที่ล่มหลวง

ขณะที่ผู้เขียนฟังท่านอยู่นั้น ก็คิดในใจว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงธรรมนี้ช่างมีคำคมน่าฟังจริง เราก็พึ่งจะรู้ว่า วันล่มหลวงนั้น ที่แท้ก็คือคนทำความชั่วล่มทั้งตัวทั้งที่รัฐบาล วันนี้เอง และมาเข้าใจว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ มิได้สนับสนุนการเป็นหมอดู หรือการดูหมอโชคชาตาราศีต่าง ๆ

ต่อมา ๒-๓ วันท่านได้พาผู้เขียนไปพักที่วัดบูรพาราม อันเป็นสถานที่ถวายพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่นี้เองได้มีพระเถรานุเถระบรรดาที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ฯ ได้มาประชุมกันมาก แต่แม้จะมีพระภิกษุสามเณรมาก นับจำนวนหลายร้อยรูป ดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เหมือนกับไม่มีพระเณรเลย น่าที่จะลำบากแก่เจ้าภาพผู้ทำการต้อนรับ ด้วยสถานที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ นี่ไม่มีการลำบากอะไรเท่าไรนัก เพราะแต่ละองค์ที่ท่านมากัน ถือเหมือนกับมาสนองพระคุณของครูบาอาจารย์ ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาลำบากด้วย เมื่อมาถึงท่านก็จะเข้าไปดูต้นไม้ป่าไม้หลังวัด จัดแจงกางกลดทำที่นอนโดยไม่มีผ้าปูนอน เอาตีนบาตรเป็นหมอน พักกันไปทั่วบริเวณหลังวัด และต่างก็รับผิดชอบตัวเอง ทั้งน้ำใช้น้ำฉันมีเครื่องใส่น้ำพร้อมสรรพ นำมาเองแบบธุดงค์มา จึงไม่ทำความรำคาญเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงาน มีแต่มาช่วยทำงานกันอย่างจริงจัง ไม่ต้องบอกต้องวาน เห็นว่าตรงไหนควรทำอะไรแล้วท่านได้ช่วยกันทำทุกอย่าง น่าปลื้มใจ ผู้เขียนได้ออกอุทานอยู่ในใจ และท่านเหล่านี้ก็มิได้หวังประโยชน์จากงานศพ ถึงจะนิมนต์หรือไม่ ไม่สำคัญ

ในงานศพของพระอาจารย์เสาร์ในคราวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์ใหญ่ ๆ หลายองค์ด้วยกัน นับเป็นบุญตาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้เกิดความเลื่อมใสในใจอย่างประหลาด เพราะแต่ละองค์นั้นมีความสง่า และเหมือนกับซ่อนความลึกลับแห่งความดีอะไร ๆ มากทีเดียว

เมื่องานพระราชทานเพลิงศพใกล้เข้ามา ท่านพระเถระผู้ใหญ่บรรดาที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ยิ่งทยอยกันเข้ามามากมายจำนวนหลายร้อยองค์ ดูก็เป็นการประชุมพิเศษ ทุก ๆ องค์ที่เข้ามาต่างก็มีความเคารพ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตอนกลางคืนเวลาว่าง จะมารวมประชุมขอฟังโอวาทพิเศษ และ พระอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้แสดงธรรมให้แก่ท่านเหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่งานศพ เหมือนกับจะประชุมสังคายนาธรรม หรือเป็นแหล่งอบรมธรรมชั้นพระปรมาจารย์ไปทีเดียว

นี่เองทำให้ผู้เขียนมาระลึกถึงงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ว่าการทำศพให้ เป็นประโยชน์ และก็เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก เป็นการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิแลกเปลี่ยนปรับปรุงความคิดเห็น ในการปฏิบัติธรรม เอาเพียงศพเป็นเหตุเท่านั้น แต่ถือการประชุมมีความสำคัญกว่า แม้คำพูดและคำให้โอวาทของพระอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงออกมานั้น มีข้อความเน้นหนักไปในทางให้รักษาเป็นปฏิบัติปฏิปทาเดิมทั้งสิ้น และแสดงเพื่อให้อาจหาญเชื่อมั่นในข้อปฏิบัติที่ได้กระทำมาแล้วนั้นถูกต้องแล้ว

นี่เองผู้เขียนเห็นว่าการทำศพที่มีประโยชน์เพราะการประชุมเช่นนี้ นานนักจะมีการประชุมกันขึ้นได้ เพราะแต่ละองค์นั้นมิใช่อยู่ที่เดียวกัน ต่างองค์ต่างก็ไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ และเป็นถิ่นทุรกันดารในถ้ำภูเขาเป็นส่วนมาก การที่จะติดต่อพบกันได้จึงลำบากมาก ครั้งนี้ถือเอาศพของพระอาจารย์เสาร์ ฯ เป็นเหตุได้มาประชุม อันเป็นมหาสันนิบาต นับว่าเป็นบุญตาของผู้พบเห็นจริง ๆ

บรรยากาศตอนหนึ่ง ผู้ที่เขียนต้องจดจำและซาบซึ้งในใจ คือในวันนั้นเป็นรายการแสดงธรรม โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ณ ศาลาวัดบูรพา เมื่อพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้ทราบข่าว ได้พากันมาประชุมในวันนั้นพอสมควร ผิดคาดที่ผู้เขียนคิดว่า ชาวเมืองอุบลคงจะหลามไหลมาฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นฯ ส่วนพระภิกษุสามเณรนั้นก็อยู่ประจำอยู่แล้ว จึงมากไปด้วยพระเณรที่ตั้งใจฟังธรรม

พระธรรมเทศนา แสดงผ่านไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง เสียงพระธรรมเทศนาจึงดังไปทั่วบริเวณวัด ทุก ๆ คนที่อยู่ในบริเวณนี้ถ้าตั้งใจฟังก็ได้ยินหมด การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ ใช้เวลาประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง นานพอดูทีเดียว

การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการแสดงธรรม การปฏิบัติกรรมฐานโดยตรง และปรมัตถนัย เพราะพอเริ่มต้น ท่านก็แสดงว่า

ธรรมนั้นอย่าพึงเข้าใจว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวของเรานี้เอง ที่ว่าอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ใช่ เพราะนั่นเพียงใบไม้เขาเอามาจารึก ว่าอยู่ในวัดก็ไม่ใช่ นั่นคือที่อยู่ของหมู่สงฆ์ ว่าอยู่บนอากาศ ป่าไม้ก็ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นอยู่ที่ไหน ? ก็อยู่ในตัวของคนเรานี้เอง รูปธรรม นามธรรมอยู่ไหนเล่า ? นั่นแหละคือธรรม ในตัวของเรานี้มีหมด พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ก็อยู่ในตัวของเรา พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็อยู่ในตัวของเรา จึงเมื่อใครต้องการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ก็มาปฏิบัติในตัวเรา ท่านได้กล่าวคาถาว่า อคฺคํฐนํมนุสฺเสสุ มคฺคํสตฺต วิสุทฺธิยา มนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ สามารถทำให้แจ้งได้ซึ่งมรรคผลนิพพาน

จากนั้นท่านก็อธิบายถึง ผู้ปฏิบัติที่หลงอยู่ในสมถะ คือหลงอยู่ในฌาน ท่านว่า สมาธิหัวตอ หมายความว่า มันไม่งอกเงยขึ้น เพราะมัวหลงแต่ความสุข โดยมากไม่รู้หนทางที่แน่นอน จึงถือเอาความสุขของฌานเป็นใหญ่เพราะสบายดี แต่ไม่พ้นทุกข์

และท่านก็อธิบายว่า การดำเนินมหาสติปัฏฐาน มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น พิจารณาถึงอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ให้เห็นจริงขึ้นภายในจิตนั้น จิตนั้นก็จะดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ เข้าสู่องค์มรรคในที่สุด

ผู้เขียนได้ฟังแล้วจับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ผ่านการฟังธรรมเทศนาแบบนี้มาตลอดพรรษาที่แล้ว ที่ได้มาพบและจำพรรษาอยู่กับท่าน แต่ข้าพเจ้าสังเกตดูผู้ฟังบางท่านชักงง ๆ อย่างไรไม่ทราบ คงจะไม่ใคร่จะเข้าใจเท่าไร เป็นอันว่าธรรมเทศนาผ่านไป ๒ กัณฑ์ตั้งแต่ท่านได้เยี่ยมเข้ามาจังหวัดอุบล และถือได้ว่าเป็นการมาครั้งสุดท้ายของท่านอาจารย์มั่น ฯ

ข้าพเจ้ายังแปลกใจหนักหนาว่า ทำไมชาวจังหวัดอุบลในครั้งนั้น จึงไม่มีความกระตือรือร้น ในอันที่จะเข้ามานมัสการไต่ถามอรรถธรรม หรือข้อปฏิบัติในทางด้านจิตใจกับท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺตเถระ เพราะทุกหนทุกแห่งที่ท่านไป ผู้คนจะหลามไหลไปนมัสการ ทำบุญท่านต่าง ๆ ตลอดถึงขอฟังธรรมเทศนา และทุก ๆ คนก็ได้รับการโปรดปรานธรรมเทศนา หรือสัมโมทนียกถาพอใจไปตาม ๆ กัน

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์
พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)
เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ใต้สามัญสำนึก ๖
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-02-06.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่