ใึครจะลงทุนหุ้นน้ำมัน อ่านบทความนี้ก่อนนะครับ (วัฎจักรราคาน้ำมัน : วีรพงษ์ รามางกูร)

กระทู้คำถาม
มีหลายอย่างน่าสนใจมาก โดนเฉพาะราคาน้ำมันดิบ มีความเป็นไปได้ว่าจะลงไป 70-50 เหรียญ/บาเรล ในอนาคต
ถ้าเป็นอย่างนี้ PttEP กับ Top รวมถึง Ptt จะเป็นไง น่าคิดนะครับ


*************

วัฏจักรราคาน้ำมัน : วีรพงษ์ รามางกูร

สถานการณ์ ราคาพลังงาน นำโดยราคาน้ำมันดิบในระยะ 1-2 ปีมานี้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน สถานการณ์ที่โลกประสบกับราคาน้ำมันและพลังงานแพงคงจะสิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปนี้สถานการณ์จะกลับกัน กล่าวคือจะเป็นสถานการณ์น้ำมันและพลังงานอย่างอื่นล้นตลาดและมีราคาลดลง กลับกันกับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประเทศผู้ผลิตน้ำมันออกรายใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม หรือ OPEC ประกาศลดปริมาณการผลิตลงในปี 1973 ต่อมาในปี 1979 เกิดปฏิวัติอิสลามขึ้นที่ประเทศอิหร่าน สหรัฐ และยุโรป สามารถผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่านซึ่งมากเป็นที่ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย หายไปจากตลาดโลก

ผลของการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและ การคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีราคาอยู่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 40-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวโลกโดยทั่วไป

วิกฤตการณ์ น้ำมันทั้ง 2 ครั้ง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะงักงันไปทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์อีก 2-3 อย่าง กล่าวคือ เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั่วไปหมด ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร รถยนต์ ให้มีการประหยัดพลังงานทั่วโลก ญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ จึงสามารถฝ่าวิกฤตการณ์น้ำมันไปได้ ขณะเดียวกันก็เกิดการลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการใช้พลังงานอื่นทดแทนน้ำมัน อันได้แก่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

ใน ที่สุดก็พบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ทะเลเหนือและสามารถนำเอามาใช้ได้ ทำให้ราคาน้ำมันทรุดลงทันที แม้ประเทศในกลุ่มโอเปคจะพยายามลดการผลิตน้ำมันลง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการลดลงของราคาน้ำมันได้

เมื่อราคาน้ำมันดิบ เริ่มสั่นคลอน ความสามัคคีในกลุ่มโอเปคก็เริ่มมีปัญหา หลายๆ ประเทศในกลุ่มแอบลักลอบผลิตน้ำมันในอัตราสูงกว่าโควต้ามากขึ้น ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ก็ลดปริมาณการผลิตลงเรื่อยๆ จากที่เคยผลิตได้วันละ 10 ล้านบาร์เรลมาเหลือ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาน้ำมันก็ยังไม่ขึ้น ค่อยๆ ทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะความต้องการน้ำมันของโลกลดลง ขณะเดียวกันการผลิตนอกกลุ่มโอเปคก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุด กลุ่มโอเปคก็ทนไม่ได้ ประกาศยกเลิกมาตรการกำหนดเพดานการผลิต เมื่อข่าวชิ้นนี้ออกไปก็ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงทันทีอย่างรวดเร็ว จาก 35 เหรียญต่อบาร์เรล มาเหลือเพียง 10 เหรียญต่อบาร์เรล

ที่ราคาน้ำมัน กลับมาพุ่งสูงขึ้นก็เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย การขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักของเศรษฐกิจจีนเป็นเวลายาวนานกว่า 15 ปี เป็นเหตุให้ราคาสินค้าขั้นปฐมโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน ราคาแร่ธาตุต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น

การที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคายางเทียมซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันดิบแพงขึ้นไปด้วย เมื่อราคายางเทียมสูงขึ้น ราคายางพาราก็แพงขึ้นไปด้วย นอกจากยางพาราแล้ว พืชน้ำมันต่างๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งพืชประเภทแป้งที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์นำมาผสมกับ น้ำมันเบนซิน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอื่นๆ ก็พลอยมีราคาแพงตามกันไปหมด

นอกจากนั้น การที่พืชน้ำมันมีราคาแพงขึ้น จึงมีการขยายการผลิตพืชเหล่านี้มากขึ้น การขยายตัวการผลิตพืชน้ำมันก็มาแย่งพื้นที่การเพาะปลูกของพืชชนิดอื่นๆ มากขึ้น พลอยทำให้พืชชนิดอื่นๆ มีราคาแพงขึ้นตามกันไปหมด

ถึงขณะนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปชะลอตัวมาเป็นเวลาหลายปี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียได้ชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานจึงลดลงและบัดนี้ได้ลดลงในอัตราเร่งอย่างรวด เร็ว

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นเพราะความต้องการของจีนและเอเชียสูงขึ้น ราคาของพลังงานที่สูงขึ้นมากจึงทำให้สหรัฐอเมริกาทุ่มเทเงินทุนพัฒนาแหล่ง หินน้ำมันใต้พิภพจนสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ รัสเซียก็สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้โดยการสร้างท่อส่งก๊าซเข้า ไปในยุโรปตะวันตก จนทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซของโลกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1985-1986 ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศโอเปคก็คงจะไม่ลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เหมือนกับคราวก่อน ราคาน้ำมันน่าจะลดลงอย่างรวดเร็วอีกในคราวนี้ ส่วนจะลงมาถึงระดับเท่าใดก็น่าจะต้องคอยดู แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 70 เหรียญต่อบาร์เรล และอาจจะลงมาถึง 50 เหรียญต่อบาร์เรลก็ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย นอร์เวย์ อังกฤษ ไม่สามารถร่วมมือกับกลุ่มโอเปคลดปริมาณการผลิตลงได้

ครั้งนี้จะเป็น การพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งหรือผู้ผลิตผู้ใดผู้หนึ่ง จะฝืนหรือตั้งราคาสินค้านั้นได้โดยการลดปริมาณการส่งออกของตัวลง หรือรวมกลุ่มกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกของตนลง การทำเช่นนั้น ผู้ที่ลดการผลิตหรือลดการส่งออกของตัวลงโดยการเก็บสต๊อกก็จะต้องรับภาระเป็น ผู้เสียหายอย่างมหาศาล แต่เป็นประโยชน์ของคู่แข่ง โครงการรับจำนำข้าว ยางพารา มันสำปะหลังของประเทศไทยก็อยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ ความคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนหรือ Buffer Stock ตามที่ลอร์ด เคนส์ เคยเสนอนั้น บัดนี้ได้เลิกคิดกันแล้ว เพราะทำแล้วไม่เคยได้ผลตามที่ต้องการ

ถ้าสถานการณ์ราคาพลังงานเป็นช่วงขาลง อย่างที่กล่าวแล้ว ผลกระทบต่อประเทศของเราคงจะมีทั้งสองด้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ กล่าวคือ กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่เราใช้อยู่ทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แม้แต่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเราก็ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่ปากหลุม

การ ที่ราคาพลังงานมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากดูตามพื้นฐานของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน ประเทศในภูมิภาคนี้น่าจะได้รับประโยชน์ เพราะรายจ่ายจากการใช้พลังงานน้อยลง ทำให้รายได้ที่แท้จริงของประชาชนสูงขึ้น กำลังซื้อของตลาดก็น่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมบริการลดลง

การลดลงอย่างรวดเร็วของราคา พลังงาน อาจจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือก เช่น อ้อย น้ำมันปาล์ม พืชน้ำมันอื่นๆ รวมทั้งสินค้าประเภทแป้งที่อาจจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นแอลกอฮอล์ ที่ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินได้ รวมทั้งยางพารา เพราะราคายางเทียมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของน้ำมันปิโตรเลียม แต่ในระยะยาวการผลิตก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ใน อนาคตข้างหน้า เมื่อโครงสร้างการผลิตและการใช้พลังงานเปลี่ยนไป ความสำคัญของภูมิภาคต่างๆ อันเป็นผลต่อการเมืองระหว่างประเทศก็น่าจะเปลี่ยนไป

ตะวันออกกลาง คาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกก็คง จะลดความสำคัญลง ยิ่งปริมาณน้ำมันจะล้นตลาด ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานอื่นมีราคาลดลง สหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลางน้อยลง และคงมอบให้ยุโรปเป็นผู้รับภาระในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคนี้แทนตน

จีน อินเดีย ญี่ปุ่น น่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันลดลงมากกว่าประเทศอื่น เพราะต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันจีนและอินเดียที่กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัว การลดลงของราคาพลังงานอาจจะทำให้เศรษฐกิจของจีน อินเดีย และญี่ปุ่น เปลี่ยนทิศทางก็อาจจะเป็นไปได้ จะต้องติดตามดูกันต่อไป

ประเทศกำลัง พัฒนาอย่างเราควรจะคิดไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าราคาสินค้าส่งออกที่เป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจาก สินค้าเกษตรมีราคาลดลง เราจะทำอย่างไร จะใช้วิธีชดเชยอย่างเดิมคงจะไม่ไหว เพราะบัดนี้สินค้าเหล่านี้มีปริมาณมากกว่าเมื่อก่อนประมาณ 10 เท่าตัว


*********************

ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

(ตัดข้อความเกี่ยวกับความเห็นทางการเมืองออกไป)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่