ความเชื่อในสมัยพุทธกาล

กระทู้สนทนา
เห็นมีการตั้งกระทู้เรื่องความเชื่อครั้งพุทธกาล  มีการเรียกร้องหาหลักฐานต่างๆกันวุ่นวาย พอดีไปพบผู้นำมาโพสในเฟสบุ๊ค   ดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์จึงลอกมาตั้งกระทู้เป็นการแบ่งปันความรู้กัน                                                                                                                                        ศาสนาเชน เป็นศาสนาที่เก่าแก่มากศาสนาหนึ่งทางซีกโลกตะวันออก ถือกำเนิดที่ดินแดนชมพูทวีป ปัจจุบันคือประเทศอินเดียในราวปี ค.ศ. 599 หรือก่อนพุทธศักราช 58 ปี ศาสดาองค์สำคัญที่ได้รับการนับถือในปัจจุบันคือ พระมหาวีระ ซึ่งถือเป็นศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน องค์มหาวีระมิได้เป็นผู้ก่อตั้งศาสนาเชนแต่พระองค์เป็นผู้สืบทอดและปฏิรูปหลักคำสอนตลอดจนวิถีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากองค์ศาสดารุ่นก่อนทั้ง 23 องค์
คำว่า "เชน" มาจากศัพท์ว่า "ชินะ" แปลว่า ชนะ มีนัยหมายถึงการเอาชนะภายใน คือ กิเลสของตนเอง ศาสนาเชนถือว่ากิเลสเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะนำความทุกข์ ความวิบัติมาสู่ตนเองและผู้อื่น เช่น การทำสงครามหรือการเข่นฆ่าทำร้ายกัน เหตุปัจจัยของการกระทำเหล่านี้ก็เนื่องมาจากอำนาจของกิเลส นอกจากนี้กิเลสยังเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น
องค์มหาวีระทรงสั่งสอนมนุษย์ผู้ให้เกิดปัญญาด้วยหลักแห่งการดำเนินชีวิต 5 ข้อ คือ
1. อหิงสา (Ahimsa: Non-violence) คือ การไม่เบียดเบียนกันและมีเมตตากรุณาเอื้ออาทรต่อกันทั้งทางกาย วาจา ใจ
การไม่เบียดเบียน หมายถึงการไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนหรือความทุกข์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การไม่เข่นฆ่าทำร้ายชีวิตมนุษย์และสัตว์ หรือ การพูดและการคิดที่ไม่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ผู้นับถือศาสนาเชนยังบริโภคอาหารมังสวิรัตอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงอาหารมังสวิรัตบางชนิดที่อาจทำให้เกิดการเบียดเบียนชีวิตพืชและสัตว์ เช่น ผลไม้ที่มีเมล็ดพันธุ์มาก ผลไม้ที่มีราก น้ำผึ้ง นม ไข่ ฯลฯ หลักแห่งการอหิงสาอีกข้อหนึ่งคือการให้ผู้ที่นับถือศาสนานี้ละเว้นอย่างเด็ดขาดในการประกอบอาชีพที่อาจก่อให้เกิดการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงพืชพันธุ์นานาชนิด เช่น อาชีพเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การค้าอาวุธ หรืออาชีพพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สรรพสัตว์และธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น
2. อมุสาวาท (Truthfulness) การไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดโอ้อวด หลักการนี้ได้แก่การพูดแต่ความจริงและการไม่ใช้คำพูดเพื่อทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่น
3. อทินนาทาน (Non-stealing) การไม่ลักขโมยเอาสิ่งที่ผู้อื่นหวงแหนและไม่ได้ให้ด้วยความเต็มใจ รวมทั้งไม่ฉ้อโกง ไม่ขูดรีด กรรโชก ทุจริตด้วยเหตุผลใดๆ การลักขโมยถือเป็นสาเหตุแห่งการเบียดเบียนผู้อื่นโดยตรง ข้อปฏิบัตินี้ยังรวมไปถึงการมิควรหยิบของของผู้อื่นมาใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของ
4. พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยา (Chastity) การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติตนในหลักแห่ง เมตตา กรุณา และการยึดมั่นพอใจในคู่ครองของตน รวมไปถึงการดำรงตนให้บริสุทธิ์ด้วย กาย วาจา ใจ หลักปฏิบัติข้อนี้สำหรับนักบวชเชน คือการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ออกจากกามโภคี แต่สำหรับฆราวาส คือการมีความพอใจในคู่ครองของตน
5. สันโดษ หรือ สมชีวิตา (Aparigrah: Non-
possessiveness) การใช้ชีวิตให้พอเหมาะ ไม่โลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้รับ นอกเหนือจากความสมเหตุสมผล ศาสนาเชนเป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์ลดละความต้องการทางวัตถุและทรัพย์สิน และไม่พึงปรารถนาสิ่งใดจนเกินควร การไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ละมีจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นในเบื้องหน้า
ทัศนคติและความเชื่อในศาสนาเชน
ศาสนาเชนเชื่อว่าโลกและจักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ปฏิเสธทัศนะเรื่องการสร้างโลกและความเชื่อเรื่องพระเจ้า ศาสนาเชนเชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ ทัศนคติที่ผู้นับถือศาสนาเชนยึดถือและปฏิบัติคือ การมีชีวิตอยู่เพื่อให้ชีวิต (ช่วยเหลือผู้อื่นและสรรพสิ่ง) ( live and let live)
องค์มหาวีระทรงสอนว่า เราคือมนุษย์ ดังนั้นเราจงใช้ชีวิตในการช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อพระองค์กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายถึงเพียงแค่การช่วยเหลือชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่พระองค์ทรงหมายถึงสรรพชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ รวมไปถึงพืชพันธุ์ อากาศ ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ
หลักอหิงสาในศาสนาเชนเชื่อว่าทุกอณูพื้นที่เต็มไปด้วยชีวิต ชีวิตทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกัน ศาสนาเชนสอนว่า ธาตุธรรมชาติทั้งหลายที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดชีวิต ธาตุธรรมชาติเหล่านี้มีความเป็นชีวิตอยู่เช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรเคารพธรรมชาติและไม่เบียดเบียนสิ่งเหล่านี้
ในทางปรัชญา เสาหลัก 3 ข้อที่ศาสนาเชนถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเชื่อ คือ
1. หลักอหิงสา (Ahimsa) หลักแห่งการไม่เบียดเบียน
2. ปริจาคะ / อนุปาทาน (Aparigraha) คือ การรู้จักเสียสละ เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นตามสมควร รู้จักแบ่งปัน และการไม่ยึดติดในวัตถุหรือสิ่งรอบกาย
3. อเนกวาทะ หรือ นานาจิตตัง (Anekantvaad) หรือ (Syadvaad) ทัศนะการมองโลกแบบสัมพัทธ์ คือ การรับฟัง และพิจารณาว่ามีความจริงในความเชื่อหรือทัศนะของบุคคลอื่นที่ต่างกับของเรา ข้อนี้นำไปสู่การยอมรับในตัวตนและความคิดของปัจเจกบุคคล (Individual) และการเปิดใจไม่ปิดกั้นทัศนะที่แตกต่างจากความคิดตน
ไตรรัตน์ คือ คุณค่าแห่งชีวิต 3 ประการ (The Three Jewels):
คุณค่าแห่งชีวิต 3 ประการ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร และเอาชนะกรรม
1. สัมมาทัศนะ/สัมมาทิฏฐิ (Right Faith)
การมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเหตุผลและความเป็นจริง คือ การสามารถแยกแยะมองเห็นสิ่งต่างๆว่าสิ่งใดหรือการกระทำใดถูกต้องและไม่ถูกต้อง
2. สัมมาสังกัปปะ (Right Knowledge)
ได้แก่ การมีความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงคือ รู้ว่าสิ่งไหนเป็นโทษ สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนจริง สิ่งไหนเท็จ คือการมีความรู้ที่จะทำให้จิตวิญญาณมีความสะอาด บริสุทธิ์ เช่น การรู้ว่าความต้องการวัตถุในทางโลกและการยึดติดเป็นเหตุแห่งความทุกข์และการติดข้องอยู่ในวัฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด)
3. อาชีวะปาริสุทธิ (Right Conduct)
ได้แก่ ความหมดจดแห่งการใช้ชีวิต คือ การปฏิบัติตนอยู่ในหลักแห่งความถูกต้อง ความเหมาะสมและความดีตลอดเวลา ไม่ทำกิริยาใด ๆ ที่จะทำให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งต่อหน้าและลับหลังตามทัศนะของเชนการปฏิบัติตนอยู่ในหลักแห่งความถูกต้องคือการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการไม่เบียดเบียน บุคคลใดมีความเห็นและความรู้ที่ถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีการกระทำที่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม บุคคลใดปราศจากความเห็นและความรู้ที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องย่อมมิอาจที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ข้อมูล http://www.jainworld.com
http://www.atmadharma.com http://www.terapanth.com
http://www.cs.colostate.edu/~malaiya/jainhlinks.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่