ตุลาการภิวัตน์ - สรุปเหตุการณ์สำคัญ และ ไทม์ไลน์ (Special Report 10 ปี ประชาไท)

เข้าไปดูเนื้อหาทั้งหมดและตารางไทม์ไลน์ จากลิงค์   http://prachatai.org/journal/2014/10/55920


การตีความพระราชดำรัส ปฐมบทตุลาการภิวัตน์

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาในช่วงหลังนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการรื้อ-รวบใหญ่นอกระบบอย่างรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบทศวรรษแล้ว ยังมี ‘ตุลาการ’ ที่มีบทบาทตามระบบที่สำคัญยิ่งในการสร้างจุดเปลี่ยนต่างๆ ทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

‘ตุลาการภิวัตน์’ (judicial activism) แม้จะเป็นศัพท์ที่มีอยู่ก่อนในแวดวงนิติศาสตร์ แต่นักสังคมวิทยาชื่อดังอย่าง ธีรยุทธ บุญมี เป็นคนแรกๆ ที่หยิบยกขึ้นมาใช้เรียกบทบาทการตัดสินคดีทางการเมืองสำคัญๆ ขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะ ‘พระเอก’อย่างศาลรัฐธรรมนูญ

หากจะย้อนถึงที่มาที่ไปของแรงบัลดาลใจสำหรับการนี้ หลายคนดูจะหวนกลับไปสู่พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อนรับหน้าที่ ในวันที่ 25 เมษายน2549 เพราะนอกจากจะมีพระราชดำรัสอย่างชัดเจนเรื่องมาตรา 7 หรือนายกฯ พระราชทานว่าไม่อาจเป็นไปได้แล้ว ยังทรงกระตุ้นถึงบทบาทของตุลาการอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่2 เมษายน 2549

การเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทักษิณประกาศยุบสภา (24 ก.พ.49) และพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งเนื่องจากเห็นว่าเป็นการฟอกตัวทักษิณและเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

“ในเวลานี้ อาจจะไม่ควรจะพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เองได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียวซึ่งมีความสำคัญ. เพราะว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียวในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์.ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า.แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกันเพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้. แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน. ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้” ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัส

หลังจากนั้นมีการประชุมประมุขตุลาการ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 3 ครั้งในการหาทางออกให้ประเทศดังปรากฏเป็นข่าวทั่วไป แม้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ แต่จากนั้นมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองให้วินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 เมษา เหตุหลักๆ เพราะ “หันคูหาออก” ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ สุดท้ายทั้งสองศาลตัดสินให้ การเลือกตั้ง 2 เมษาเป็นโมฆะ


จุดตัน เมื่อที่ประชุมศาลฏีกาไม่เสนอชื่อ 2 กกต.ที่ตำแหน่งว่างลง

แน่นอน กกต.ผู้รับผิดชอบการจัดเลือกตั้งถูกโจมตีอย่างหนัก และตำแหน่ง กกต. ก็พลันว่างลง 2 ที่เนื่องจากจรัล บูรณพันธุ์ศรี เสียชีวิต และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ลาออก ที่น่าสนใจคือ เว็บไซต์นิติราษฎร์ ซึ่งปัจจุบันถูกไอซีทีบล็อคการเข้าถึง ได้เผยแพร่จดหมายที่ประชุมศาลฏีกาแจ้งต่อประธานวุฒิสภาว่าที่ประชุมศาลฎีกามีมติไม่ส่งชื่อ กกต. ใหม่ 2 ราย เพราะ กกต.ที่เหลือ3 คน“มิได้อยู่ในฐานะที่สมควรจะได้รับความไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่ต่อไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการของบุคคลทั้งสามนี้ได้” และต่อมากกต.ชุดนี้ที่เหลือ 3 คน นำโดย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ก็ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญา จากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการสู้คดีมาเรื่อยจนถึงชั้นศาลฎีกาที่พิพากษายกฟ้องในที่สุดเมื่อปี 2556 นี้เอง

วันเลือกตั้งถูกกำหนดใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน
นั่นเป็นปฐมบทของตุลาการภิวัตน์


ตุลาการรัฐธรรมนูญกับดาบแรก ยุบพรรคไทยรักไทย

หลัง 19 กันยา คณะรัฐประหารได้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” มาทำหน้าที่แทน ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวมีผลงานลงดาบสำคัญคือ การยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กอีก 3 พรรค คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทยพร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้านเลขที่ 111’ ทั้งนี้มีเหตุสืบเนื่องมาจากสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งพรรคประชาธิปัต์ร้องเรียนกกต.ว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20% ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ขณะที่พรรคไทยรักไทยร้องกลับว่าประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กมาใส่ร้าย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิด

จากนั้นมีร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติเฉียดฉิว ร้อยละ 57.81 เห็นชอบร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ เรียกได้ว่าผ่านมาด้วยวาทกรรม “รับก่อนค่อยแก้” โดยแท้ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็กลับคืนมาตามมาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญใหม่และต่อมามีการแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการในวันที่28 พ.ค.2551  รายชื่อของทั้ง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นที่จดจำเนื่องจากมีบทบาทในการตัดสินคดีทางการเมืองหลายคดีสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

นายนุรักษ์ มาประณีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
นายจรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
นายเฉลิมพล เอกอุรุ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
นายชัช ชลวร (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญระหว่าง 28 พ.ค. 2551 - 26 ต.ค. 2554)
นายบุญส่ง กุลบุปผา (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด)
นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด)


ปลดนายกฯ 2คนรวด พร้อมยุบพรรคพลังประชาชน (อีกรอบ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ (รวมถึงศาลปกครองและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ตัดสินคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับอำนาจฝ่ายบริหาร รวมถึงนโยบายรัฐหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่ การปลดนายกฯ 2 คน คือ สมัคร สุนทรเวช จากกรณีรับเป็นพิธีกรกิตติมาศักดิ์รายการชิมไปบ่นไปและยกโขยงหกโมงเช้า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงพจนานุกรมเพื่อตีความว่านายสมัครเป็นลูกจ้างบริษัทเจ้าของรายการอันขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงต้องสิ้นสภาพนายกฯ อีกคนหนึ่งคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในครั้งนี้เป็นการยุบพรรคพลังประชาชน (และรวมถึงพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทย) จากกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งการปลดสมชายนี้อยู่ในช่วงที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้วหลายวัน

(มีต่อในความเห็นด้านล่าง)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่