“เพรียวพันธ์” จ๋อย! ศาลปกครองยกฟ้อง กรณี “มาร์ค” ชง “วิเชียร” นั่ง ผบ.ตร.

กระทู้สนทนา
ศาลปกครองกลางการันตี “นายกฯ อภิสิทธิ์” ชง ก.ต.ช. ตั้ง “วิเชียร” นั่ง ผบ.ตร. ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง “เพรียวพันธ์” หลังร้องใช้อำนาจมิชอบ มีอคติส่วนตัวจากปัญหาการเมืองมาปิดกั้นความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนส่งผลให้วืดตำแหน่ง ผบ.ตร. ศาลชี้ชัด พ.ร.บ.ตำรวจ ให้อำนาจนายกฯ ชงรายชื่อตำรวจยศพลตำรวจเอกเพียงคนเดียวให้ ก.ต.ช. พิจารณาเห็นชอบได้ ซ้ำในอดีตก็ทำกันจนเป็นประเพณี
       
       วันนี้ (1 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 กรณีขอให้เพิกถอนมติของ ก.ต.ช. เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 53 ที่เห็นชอบให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยเหตุเกิดในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
       
       ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ในขณะนั้นได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 52 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 211/2552 ลงวันที่ 29 ก.ย. 52 สั่งให้ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ ซึ่งมีอาวุโสลำดับ 2 เป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 52 ซึ่ง พล.ต.อ.ประทีป จะครบกำหนดเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 53 ต่อมาในการประชุม ของ ก.ต.ช. เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 53 นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ก.ต.ช.ได้คัดเลือกรายชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ขณะนั้นเพียงรายชื่อเดียวแล้วเสนอให้ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
       
       โดย ก.ต.ช. ก็มีมติเห็นชอบนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 มาตรา 53(1) ประกอบมาตรา 44(1) และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (1) ที่กำหนดให้นายกฯ ดำเนินการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกคนหนึ่งเป็นลำดับแรกแล้วเสนอต่อ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นการบัญญัติหลักการสำหรับการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งไม่ได้บังคับว่านายกฯจะต้องคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกจำนวนกี่ราย หรือมากกว่าหนึ่งรายเพื่อเสนอต่อ ก.ต.ช. ให้พิจารณา แม้ว่ามาตรา 18 วรรคหนึ่ง (3) จะบัญญัติให้ ก.ต.ช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาดำเนินการ โดยใช้คำว่า “คัดเลือก” ข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามที่นายกฯ เสนอ โดยมิได้ใช้คำว่า “ให้ความเห็นชอบ” ก็ตาม แต่ก็มิได้บัญญัติให้มีผลบังคับไปถึงนายกฯ จะต้องคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกมากกว่าหนึ่งรายเพื่อเสนอต่อ ก.ต.ช. ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป
       
       จึงเป็นการชัดเจนว่าบทบัญญัติกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้นายกฯ มีอำนาจใช้ดุลพินิจในการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกเพียงรายเดียว เพื่อเสนอให้ ก.ต.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือดำเนินการคัดเลือกต่อไป ซึ่ง ก.ต.ช. ก็มีอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในรายชื่อข้าราชตำรวจยศพลตำรวจเอกรายเดียวที่มีการเสนอมานั้นได้เช่นกัน ดังนั้น การที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อ้างว่า การที่นายกฯ เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ต่อ ก.ต.ช. ให้พิจารณาเพียงรายชื่อเดียว ไม่ใช่เป็นการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเพื่อให้ ก.ต.ช. พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการอนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่เป็นการเสนอให้ ก.ต.ช. อนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ที่ประชุม ก.ต.ช. ได้มีดุลพินิจเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้
       
       ส่วนการที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อ้างว่า การที่นายกฯ เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร เพียงรายชื่อเดียว นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติ ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยมีเจตนาไม่สุจริต กลั่นแกล้ง ไม่เป็นกลาง กระทำการตามอำเภอใจ ไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ใช้ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจส่วนตัว อันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองมาปิดกั้นความเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของตน ใช้สถานะตำแหน่งนายกฯ เข้ามาก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นทั้งทางตรงทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 279 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 266 มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ 50 เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของนายกฯ ไว้เป็นหลักการอย่างกว้างๆ โดยมิได้กำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของนายกฯ ไว้โดยตรง ซึ่งจากการให้การของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ถึงการประชุม ก.ต.ช. วันที่ 9 ส.ค. 53 ฝ่ายเลขานุการของ ก.ต.ช. ได้มีการเตรียมข้อมูลประวัติการทำงานของข้าราชการตำรวจผู้มียศพลตำรวจเอกทุกคน รวมทั้งยังเชิญกองทะเบียนพล สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งรับผิดชอบข้อมูล ประวัติบุคคล การแต่งตั้งความดี ความชอบของข้าราชการตำรวจทุกคนมาเตรียมพร้อมไว้หากจะให้มีการชี้แจง
       
       โดยปรากฏหลักฐานว่าในที่ประชุมมีการซักถามว่ามีการตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยหรือไม่ และลำดับอาวุโสระหว่าง พล.ต.อ.วิเชียร กับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นอย่างไร ซึ่ง พล.ต.ต.ชัยยง กีรติขจร รอง ผบ.สำนักงานกำลังพลฯ ขณะนั้นระบุว่า วินัยไม่มี และเบื้องต้นพิจารณาแล้วว่า พล.ต.อ.วิเชียร เป็นผู้มีอาวุโส ลำดับที่หนึ่ง แต่มีกรณีโต้แย้งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของ ก.ตร. จึงเห็นว่า การเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ของนายกฯ ต่อ ก.ต.ช. เพียงรายชื่อเดียว นายกฯ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงความอาวุโส ประวัติราชการ และเรื่องวินัยแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าการที่นายกฯเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร เพียงรายชื่อเดียวต่อ ก.ต.ช. โดยไม่คัดเลือกรายชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เพื่อเสนอต่อ ก.ต.ช. เป็นการใช้สถานะนายกฯ เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง มีเจตนา ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง ไม่เป็นกลาง แต่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว รวมทั้งยังมีข้อเท็จจริงในอดีตก่อนหน้านั้นว่า มีถึง 4 ครั้งที่นายกฯ เคยเสนอรายชื่อข้าราชการตำรวจยศนายพลตำรวจเอกเพียงรายเดียวต่อ ก.ต.ช. เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. ตามรายงานการประชุม ก.ต.ช. ครั้งที่ 3/2547 ลงวันที่ 11 ส.ค. 47 ครั้งที่ 1/2550 ลงวันที่ 7 มี.ค. 50 ครั้งที่ 3/2550 ลงวันที่ 11 เม.ย. 50 และครั้งที่ 3/2552 ลงวันที่ 20 ส.ค. 52 การกระทำของนายกรัฐมนตรี จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้ออ้างผู้ฟ้องฟังไม่ขึ้น
       
       สำหรับที่อ้างว่า การประชุม ก.ต.ช. วันที่ 9 ส.ค. 53 ที่นายกฯ เข้าร่วมประชุมและเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร รวมนายกฯ ร่วมพิจาณณาให้ความเห็นชอบนั้นขัดต่อหลักความเป็นกลางทำให้การประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การที่นายกฯ เข้าร่วมประชุม ก.ต.ช. เป็นกรณีที่จำต้องเข้าร่วมประชุมในฐานะประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองตามบทบัญญัติกฎหมาย อีกทั้งการเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ต่อ ก.ต.ช. ก็เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด นายกฯ จึงไม่ใช่คู่กรณีในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และไม่อาจถือเป็นการใช้อำนาจในการพิจาณณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ที่จะถือเป็นเหตุให้ ก.ต.ช. จะทำการพิจารณาให้ความเห็นชอบไม่ได้ การประชุม ก.ต.ช. ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายหมายแล้ว
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000113086
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่