อีโบลาจะติดต่อทางการหายใจ (airborne) - เรื่องจริงหรืออิงนิยาย




ทำไมไวรัสบางตัวจึงกลายพันธุ์จนติดต่อทางการหายใจได้?  
แล้วเจ้าตัวที่ระบาดอยู่ในอัฟริกาตะวันตกนี่ล่ะ จะกลายพันธุ์กับเค้าด้วยหรือเปล่า?


อีโบลาสามารถกลายพันธุ์จนติดต่อทางการหายใจได้ไหม?   ความหวาดระแวงนี้เกิดจากบทสัมพาษณ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times  เรื่อง
"อีโบลากับเรื่องที่เราไม่กล้าพูด" โดย Michael Osterholm  ผู้อำนวยการ Center for Infectious Disease Research and Policy  แห่งมหาวิทยาลัย Minnesota


แม้ว่าแพทย์จะพร้อมใจกันเห็นด้วยว่า ไวรัสอีโบลาติดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งทางการสัมผัสใกล้ชิดกับเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย  
Osterholm ได้เตือนว่า ความเสี่ยงที่อีโบลาสามารถแพร่กระจายเชื้อทางอากาศได้ เป็นเรื่องที่ "มีอยู่จริง"  และถ้าเราไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้  
โลกก็จะไม่ได้เตรียมตัวทำในสิ่งที่จำเป็น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด



Michael Osterholm




แต่จากการสัมพาษณ์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อหลายๆคน เปิดเผยว่า  การเกิด mutation (อันที่จริงเป็น series of mutations) แบบนั้น
แม้จะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี  แต่โอกาสเกิดน้อยมากๆ


ในความเป็นจริงแล้ว แทบจะไม่มีอุบัติการณ์มาก่อนว่า ไวรัสตัวไหนจะสามารถเปลี่ยนวิธีหลักในการแพร่กระจายของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง  
"เรามีปัญหาเยอะแล้วกับอีโบลา อย่าเพิ่มปัญหามาอีกเลย โดยเฉพาะอันที่เป็นไปได้ตามทฤษฎีแต่โอกาสเกิดจริงไปอยู่ท้ายสุดของตาราง"  
William Schaffner ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าว
"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้ สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ด้วยการแพร่กระจายแบบคนสู่คนโดยการสัมผัส  เราไม่จำเป็นต้องอ้างคำอธิบายจากวิธีอื่นอีก"





ปัจจัยที่จะเอื้อให้ไวรัสเปลี่ยนเป็นแพร่กระจายทางอากาศได้มีดังนี้   อย่างแรก ไวรัสอีโบลาจำนวนมากจะต้องเริ่มมีการเพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ที่อยู่บริเวณคอ (throat)  
หลอดลม และอาจจะในปอด    สอง  การแพร่กระจายทางอากาศจะต้องได้ผลดีมากกว่า  การแพร่กระจายในแบบปัจจุบันซึ่งโคตรจะได้ผลดีมากอยู่แล้ว
เพื่อที่มันจะสามารถเอาชนะการแพร่กระจายแบบเดิม ซึ่งสกัดกั้นมันจากการกลายพันธุ์  
สิ่งขวางกั้นโดยธรรมชาติมากมายทำให้มันไม่น่าจะเกิดขึ้นทั้งสองเหตุการณ์


สถานะการณ์ปัจจุบัน อีโบลายังคงเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่เป็นแผล เยื่อบุตา เยื่อบุจมูกและปาก จากนั้นมันจะเข้าสู่เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิด
ที่ซึ่งมันหลอกให้เพิ่มจำนวนไวรัสให้  ผลท้ายสุดคือการโจมตีที่เส้นเลือดอย่างรุนแรง  ไม่ใช่ระบบหายใจ


แม้แต่ไวรัสที่ปรับตัวให้โจมตีระบบหายใจยังยากมากที่จะติดต่อผ่านทางเดินหายใจได้  เมื่อพิจารณาถึงประสบการณ์จากไข้หวัดนก
ซึ่งแพร่กระจายทางอากาศจากนกสู่นก ยังไม่สามารถกลายพันธุ์จนแพร่ทางอากาศจากคนสู่คนได้


แล้วอะไรเป็นสิ่งที่รั้งมันเอาไว้?    "ความยากมันอยู่ตรงที่ ไวรัส (ไข้หวัด) พวกนั้นไม่มีโปรตีนผิวเซลล์ที่จะใช้จับกับ receptor ผิวเซลล์ของระบบหายใจ  
พวกมันต้องพัฒนาโปรตีนผิวเซลล์เพื่อจะทำอย่างนั้นได้"   Schaffner กล่าว  ดังนั้นแม้ว่าจะมีไวรัสออกมากับลมหายใจออก มันยังต้องอาศัยการจับกับ
receptor ผิวเซลของทางเดินหายใจในอีกคนหนึ่งด้วยในการแพร่กระจาย
การแพร่กระจายจากคนสู่คนของมันเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก  ดังนั้นมันมักจะหยุด และไม่แพร่ไปยังบุคคลที่สาม" Schaffner เล่า





อีโบลาก็เหมือนกัน ไวรัสต้องพัฒนาผิวเซลล์ที่จะสามารถจับกับรีเซปเตอร์ที่เซลล์ทางเดินหายใจส่วนบนได้
เป็นเรื่องที่ไม่ว่าเชื้ออีโบลา หรือไวรัสญาติโกโหติกาของอีโบลา ไม่เคยทำได้มาก่อน


แม้กระนั้น อีโบลาก็สามารถแพร่กระจายได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกลายพันธุ์แบบนั้นเลย   โปรตีนที่จับกันได้พอดีแบบลูกกุญแจและแม่กุญแจ ที่ไวรัสต้องการเพื่อสามารถ
เข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินหายใจนั้น  ไม่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะไม่มีแรงกดดันทางวิวัฒนาการที่จะพลักดันให้มันทำแบบนั้น  
มันเป็นแค่ทางเลือกที่ไม่มีประสิทธิภาพ  ขอให้นักระบาดวิทยาสบายใจได้


เมื่อไวรัสมีการระบาดเป็นระยะๆ ในแอฟริกาตะวันตก  มันอาจจะเหมือนเชื้อตัวอื่นๆ ที่ค่อยๆมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรม  
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าอีโบลากำลังกลายพันธุ์ไปในทิศทางที่ทำให้มันกระโดดข้ามขั้นจากการแพร่กระจายทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง
ไปเป็นเชื้อที่แพร่กระจายทางการหายใจอยู่ในห้องเดียวกัน  เมื่ออ้างอิงตาม WHO


เกี่ยวกับอีโบลา "ฉันไม่คิดว่าในเวลานี้เรามีข้อมูลพอที่จะรู้ว่า ความเสี่ยงมีขนาดไหน แต่ความเสี่ยงอาจไม่ได้เป็น 0 ซะทีเดียว"
Thomas Geisbert ผู้เชี่ยวชาญด้านอีโบลากล่าว  เขาเป็นนักไวรัสวิทยาอยู่ที่ The University of Texas Medical Branch ที่ Galveston



Thomas Geisbert



อุบัติการณ์ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวเรื่องอีโบลาติดต่อทางการหายใจ   คือเหตุการณ์ในหนังสือ The Hot Zone ที่เล่าถึงปี 1989
ไวรัสได้แพร่กระจายทางอากาศ จากลิงไปสู่ลิง (แม้ว่ามันจะไม่ได้ก้าวกระโดดจนมาติดต่อสู่คนในห้อง Lab) แต่ต่อมาผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่า
อุบัติการณ์เพียงครั้งเดียวโดดๆ ของการแพร่กระจายทางอากาศจาก primate สู่ primate นั้น  ได้ถูกกระตุ้นโดยสภาวะของห้อง Lab และระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น  
ขณะที่ Osterholm ได้บอกไว้ในงานของเขาว่า ปี 2012 นักวิจัยพบว่าอีโบลาสายพันธุ์หนึ่งมีการแพร่กระจายจากหมู สู่ primates ที่ไม่ใช่คน
ทางอากาศหายใจ ในสภาวะของ Lab อีกแบบหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นไวรัสไม่ได้แพร่กระจายจากลิงสู่ลิงภายใต้สภาวะนั้น



ยังคงมีคำถามเหลืออยู่เกี่ยวกับสายพันธุ์อีโบลาที่กำลังระบาดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก  นอกจากสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสภาพสังคม
ที่กระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายได้ง่ายแล้ว  ตัวไวรัสเองมีคุณสมบัติพิเศษอะไรที่ทำให้มันแตกต่างหรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่น  
มันเพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้น หรือความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสายพันธ์ุก่อนหน้านี้หรือเปล่า?
ขณะนี้เรามีคำตอบไม่มากสำหรับอีโบลาสายพันธุ์นี้  แต่เรารู้ว่าการช่วยเหลือด้านเงินและบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ควบคุมมันได้



ดอกไม้ แปลจาก http://www.scientificamerican.com/article/fact-or-fiction-the-ebola-virus-will-go-airborne/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่