"ดร.สมเกียรติ" แนะป.ป.ช. ไม่ควรอ้างงานวิชาการทีดีอาร์ไอ ไปเป็นหลักฐานกล่าวโทษคดีจำนำข้าว

กระทู้ข่าว
เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich มีเนื้อหาว่า

มีการวิพากษ์วิจารณ์ และมีการสอบถามกันเข้ามาพอสมควรต่อเรื่องที่ ป.ป.ช. อ้างงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ในการกล่าวโทษอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อความเห็นที่แตกต่างระหว่างอัยการสูงสุด กับ ปปช. ทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่

อันที่จริง อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร เพื่อนร่วมงานของผมที่ทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว และเป็นเจ้าของงานวิจัยดังกล่าว ก็กำลังเตรียมที่จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะอยู่ แต่ผมเห็นว่า การอภิปรายกันในสังคม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์เริ่มจะสับสนมากขึ้น โดยเนื้อหาบางส่วนก็พาดพิงมาถึงทีดีอาร์ไอในแง่มุมต่างๆ ผมจึงอยากอธิบายสั้นๆ กับเพื่อนๆ ว่า ทีดีอาร์ไอทำอะไร เพื่ออะไร และอธิบายว่างานวิชาการแตกต่างจากงานไต่สวนอย่างไร

ก่อนอื่น ผมขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิพนธ์อย่างยิ่งว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่มีปัญหามาก เพราะไม่ได้ช่วยคนจนอย่างตรงจุด ทำลายกลไกตลาดค้าข้าวซึ่งทำงานได้ดีพอใช้จนแทบจะเสียหายไปหมด และทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง ซึ่ง ป.ป.ช. ควรต้องไต่สวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากสื่อสารก็คือ ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบาย หน้าที่ของเราคือ การวิจัยที่มุ่งให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขนโยบายที่มีปัญหา เป้าหมายของทีดีอาร์ไอแตกต่างจากของ ป.ป.ช. ที่ต้องไต่สวนเอาผิดกับผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ผมจึงคิดว่า ป.ป.ช. ไม่ควรอ้างถึงงานวิชาการของทีดีอาร์ไอในฐานะที่เป็น "หลักฐาน" ในการตัดสินกล่าวโทษผู้ใด เพราะพยานหลักฐานทางวิชาการย่อมมีลักษณะแตกต่างจากพยานหลักฐานในคดีอาญาหรือคดีการเมืองในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.

ในความเห็นของผม งานวิชาการอาจจะมีประโยชน์บ้างในการเป็นจุดเริ่มต้นหรือช่วยวางกรอบความคิดในเรื่องซับซ้อนที่ ปปช. ต้องไต่สวน แต่หลักฐานที่จะใช้ได้ในคดีความนั้น ก็เป็นหลักฐานซึ่งมีมาตรฐานในการพิสูจน์คนละอย่างจากหลักฐานทางวิชาการ เช่น งานวิชาการอาจใช้หลักสถิติในการพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน ในขณะที่การพิสูจน์การกระทำผิดทางกฎหมาย ก็มีมาตรฐานในกฎหมายกำหนดอยู่ เช่น ต้องมีเจตนา หรือประมาทเลินเล่อ เป็นต้น ซึ่งทางวิชาการมักจะไม่สนใจ เพราะไม่ได้พุ่งเป้าที่จะเอาผิดใคร

ด้วยอำนาจตามกฎหมายและทรัพยากรที่มีอยู่ ผมเชื่อว่า ป.ปช. สามารถหาพยานหลักฐานต่างๆ หาตัวคนผิดในโครงการจำนำข้าวมาดำเนินคดีได้ ในขณะที่นักวิชาการไม่ว่าที่ทีดีอาร์ไอ หรือที่ไหนๆ ก็ไม่มีอำนาจไปเรียกใครมาให้ปากคำ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะมุ่งดำเนินคดีกับใคร

ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ และมีบทบาทหลักในการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมอยากจะเห็น ป.ป.ช. ทำงานอย่างรัดกุมและสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่เกินความสามารถและทรัพยากรที่ ป.ป.ช. มีอยู่

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1410191042

อ้าว แล้วยังไงล่ะครับทีนี้ วิชา มหา ปลดนายกปูวว์ ไปแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่