กรณีเปรียบเทียบค่าจ้างศึกษารถไฟทางคู่ ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

กระทู้สนทนา

รายละเอียด
เปรียบเทียบค่าจ้างศึกษารถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 ม.

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 57 ผมได้โพสต์เปรียบเทียบค่าก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ระหว่างแนวคิดของ คสช. (ในขณะนั้นยังไม่มีรัฐบาล) ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. กับแนวคิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. (โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสร้างเป็นทางคู่เช่นเดียวกัน)

มาวันนี้ (7 ก.ย. 57) ผมขอเปรียบเทียบค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การศึกษาความ เหมาะสมครอบคลุม
(1) การสำรวจและออกแบบเบื้องต้นเพื่อประมาณราคาค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืนที่ดิน และค่าระบบรถไฟฟ้า
(2) วิเคราะห์หาผลตอบแทนของโครงการที่จะเกิดต่อประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม
(3) ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมาตรการแก้ไข ทั้งนี้ ขอบเขตการศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งสองดังกล่าวไม่ว่าจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดเท่าใดจะต้องมี ขอบเขตการศึกษาเหมือนกัน และมีความยากง่ายในการศึกษาไม่ต่างกัน

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
            ได้แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ตามแนวคิดของรัฐบาลประยุทธ์ จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่
(1) หนองคาย –โคราช – สระบุรี – แหลมฉบัง - มาบตาพุด ระยะทาง 737 กม.  
(2) เชียงของ – เด่นชัย - บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม.
วงเงินค่าจ้างศึกษารวม 2 เส้นทาง 350 ล้านบาท และระยะทางรวม 1,392 กม. ดังนั้น วงเงินค่าศึกษาเฉลี่ยเท่ากับ 251,437 บาท/กม.

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
1.กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ค่าจ้างศึกษา 549.032 ล้านบาท (งบประมาณปี 2555 – 2558)
2.กรุงเทพฯ - หนองคาย ค่าจ้างศึกษา 345.088 ล้านบาท (งบประมาณปี 2555 – 2558)
3.กรุงเทพฯ – หัวหิน ค่าจ้างศึกษา 137 ล้านบาท (งบประมาณปี 2555 – 2557)
4.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ระยอง ค่าจ้างศึกษา 255 ล้านบาท (งบประมาณปี 2555 – 2556)

งบประมาณค่าจ้างศึกษารวม 4 เส้นทาง 1,286.12 ล้านบาท และระยะทางรวม 2,563 กม. ดังนั้น งบประมาณค่าจ้างศึกษาเฉลี่ยเท่ากับ 501,803 บาท/กม.

>>>   ผลการเปรียบเทียบ (ดูตาราง) ปรากฏว่าค่าจ้างศึกษาความเหมาะสมโดยรัฐบาลประยุทธ์ถูกกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง 50%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่