รถยนต์ไฟฟ้า ไม่มีสิทธิวิ่งในไทยเนื่องด้วยกฎหมาย

อีกไม่นาน ประกาศของกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับสเปคของรถยนต์ไฟฟ้า จะมีผลบังคับตามกฎหมาย และผลของกฎหมายนี้ จะทำให้รถยนต์ไฟ้ฟ้าขนาดเล็ก หรือรถซอกแซกเกือบทั้งหมดที่ผมนำเสนอใน blog นี้ ไม่สามารถใช้งานบนถนนในประเทศไทยได้ แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ขายดีที่สุดในโลกและได้รับรางวัลมาแล้วที่อังกฤษ ก็นำมาใช้ในเมืองไทยไม่ได้

รถพวกนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร ไม่สร้างมลพิษทางอากาศและความร้อนให้ตัวเมืองเลย โดยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่โรงงานไฟฟ้าปล่อย CO2 ออกสู่บรรยากาศในชนบทน้อยกว่าที่รถยนต์ปัจจุบันปล่อยออกมาตามท้องถนนในใจกลางเมืองราว 4-5 เท่าเมื่อเทียบกับระยะทางที่วิ่งเท่ากัน แต่รถพวกนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้งานบนท้องถนนในเมืองไทย เพราะอะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

ลองมาดูกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกประกาศออกมากันครับ (ที่มา http://www.dlt.go.th/dltnews/2550/aug50/snv.html)

กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้าสี่ล้อ ต้องใช้มอเตอร์ที่มีกำลังมากกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้เร็วกว่า 45 กม./ชม. ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กๆพวกนี้ที่มีใช้งานในสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น เกือบทั้งหมดใช้มอเตอร์ที่ให้กำลังน้อยกว่านั้นมาก แต่ก็ยังวิ่งได้ 40-60 กม./ชม. และที่แปลกคือ บังคับให้รถสี่ล้อเล็ก รถส่วนบุคคล ใช้สเปคมอเตอร์เดียวกับรถบรรทุก รถบดถนน !!
หมายความว่า  แม้ผู้ผลิตจะออกแบบรถที่มีความเร็วตรงตามที่กรมฯต้องการแล้ว โดยใช้พลังงานน้อยหรือใช้มอเตอร์ขนาดเล็กได้ แต่กลับกลายเป็นถูกห้ามไม่ให้นำมาใช้งานบนถนนเมืองไทย ในขณะที่วิ่งได้ทั่วเมืองต่างๆในยุโรป

กรมฯยังกำหนดให้รถยนต์สามล้อใช้มอเตอร์ที่มีกำลังเพียงแค่ 4 กิโลวัตต์ขึ้นไปได้ และกำหนดความเร็วไว้เหมือนกัน
หมายความว่า  ถ้าใครคิดจะออกแบบผลิตรถในลักษณะโครงสร้างเปิดแบบรถสามล้อ แต่เพิ่มล้อให้เป็นสี่ล้อเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ก็จะถูกห้ามไม่ให้นำมาใช้งานบนถนนเอีกช่นกัน ทั้งที่เป็นการทำให้ปลอดภัยขึ้น (เพราะกฎหมายบังคับให้ต้องใช้มอเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นอีกอย่างน้อย 4 เท่า)

ส่วนรถสกุตเตอร์ไฟฟ้าที่สั่งมาขายจากจีนมากมาย ราคาราวสองหมื่นบาท เกือบทั้งหมดจะใช้มอเตอร์ขนาด 0.3-0.4 kw. ก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็น 0.6 kw. ขึ้นไป จึงจะตีทะเบียนได้ แล้วเลยขึ้นราคาเป็นสามหมื่น แต่กลายเป็นรถมีการทรงตัวแย่ลงเพราะไปทำให้ล้อมีน้ำหนักมากขึ้น


ที่จริงกำลังมอเตอร์และความเร็วของรถเป็นตัวแปรที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่แล้ว ผมไม่เข้าใจว่าทำไมกรมฯถึงต้องกำหนดบังคับทั้งสองตัว แทนที่จะบังคับความเร็วอย่างเดียว แล้วเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาการประหยัดพลังงานที่ทำให้ใช้กำลังของมอเตอร์น้อยลงได้ แต่การกำหนดแบบนี้เป็นการบีบสเปคให้แคบเกินความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้ใช้ภาชนะใส่น้ำที่ต้องจุได้มากกว่า 1 ลิตรและตัวภาชนะต้องสูงกว่า 30 ซม.เท่านั้น หมายความว่าผมไม่สามารถใช้ ขัน กาละมัง ชาม หรือภาชนะอย่างอื่นมาใส่น้ำได้เลย ของพวกนี้ก็หมดราคาไปโดยปริยาย ทั้งที่ตอบสนองความต้องการใส่น้ำได้ไม่น้อยกว่า 1 ลิตรเหมือนกัน ถ้ายิ่งบีบให้แคบลงมากๆ ก็คือเหมือนที่เขาเรียกว่า "ล็อกสเปค" นั่นแหละครับ

การที่กรมการขนส่งฯกำหนดสเปคให้แคบแบบนี้ ทั้งๆที่น่าจะมีสเปคของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ในมือ และน่าจะได้ไปดูงานดูของจริงมาแล้วทั่วโลก (เพราะเป็นหน่วยงานทางยานยนต์ที่สำคัญที่สุดและมีงบมากที่สุดของประเทศ) คงต้องมีจุดประสงค์อะไรเป็นพิเศษที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างผมไม่เข้าใจเพราะมีความรู้และประสพการณ์ไม่มากนัก

แต่ถึงอย่างนั้นผมก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากกับเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจและหลงรักรถยนต์ไฟฟ้ามานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยที่ GM เริ่มโครงการ EV1 เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมประเทศเราไม่สนับสนุนรถประเภทนี้แบบจริงๆจังๆเลยซักที เอาแต่สนับสนุนส่งเสริมการรับจ้างประกอบรถให้บริษัทต่างชาติอยู่นั่นแหละ บางเรื่องก็เหมือนจะพยายามเดินถอยหลัง คิดแล้วก็อยากหัวเราะ(ทั้งน้ำตา) เช่น ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเก็บ 10% รถตุ๊กตุ๊กใช้น้ำมันเก็บ 5% รถกระบะดัดแปลงใช้เครื่องยนต์น้ำมันขนาดใหญ่ถึง 3 ลิตรเก็บเพียง 3% อย่างนี้ถ้าใครคิดจะทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าก็จะเสียภาษีหน้าโรงงานแพงกว่ารถตุ๊กตุ๊กที่ใช้น้ำมันถึงสองเท่า ทั้งต้นทุนระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าก็แพงกว่าอยู่แล้ว แค่เริ่มคิดก็เลิกทำไปได้เลย หรือในเรื่องข้อกำหนดของการรับจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ ถ้าจะผลิตรถไฟฟ้าสี่ล้อแทนรถสามล้อ ก็บังคับให้ต้องใช้มอเตอร์ใหญ่ขึ้นอีกกว่า 3 เท่าตัว ทำให้ต้องใช้ระบบควบคุมมอเตอร์ ใช้จำนวนแบตเตอรี่และทำโครงสร้างให้ใหญ่ขึ้นหนักขึ้นตามไปด้วย เฉพาะตัวมอเตอร์ขนาด 15 kw ก็มีน้ำหนักร่วมๆ 100 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว หนักกว่าขนาดที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กๆที่มีวิ่งอยู่ทั่วโลกกว่า 3-4 เท่า ทั้งยังทำให้ราคารถแพงขึ้นอีกมาก การออกแบบเพื่อให้ได้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กน้ำหนักเบาแต่ปลอดภัยกว่ารถสามล้อและเหมาะสมจะวิ่งใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า แต่กลับจดทะเบียนตามกฎหมายไทยไม่ได้

ในสหรัฐฯและยุโรป รัฐบาลหรือเทศบาลท้องถิ่งจะพยายามอย่างมากที่จะออกกฎหมายให้ประชาชนสามารถพัฒนาหรือซื้อรถประเภทนี้มาใช้งานบนถนนทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งก่อมลพิษให้ได้ มีการกำหนดประเภทของยานพาหนะขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น เป็นรถสี่ล้อเบา (Quadricycle) หรือ รถในชุมชน (Neighborhood Electric Vehicles : NEV) โดยให้เป็นรถประเภทที่ใช้ความเร็วต่ำและความเร็วปานกลาง (Low/Middle speed vehicles) ทั้งนี้เพราะรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จะวิ่งได้ไม่เร็วอยู่แล้ว โดยเขาจะกำหนดไว้ว่าต้องวิ่งไม่เร็วกว่า 40 หรือ 60 กม./ชม. รถประเภทนี้จะถูกจำกัดไม่ให้วิ่งบนทางหลวงหรือทางด่วนเพื่อความปลอดภัย และมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆต่ำเป็นพิเศษหรือยกเว้นไปเลย รวมทั้งภาษี ค่าจอดรถ ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เกิดผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยขึ้นในประเทศจนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นผู้ผลิตและขายรถยนต์ขนาดเล็ก สามารถแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ได้ ทำให้ประชาชนมีสินค้าที่ตรงความต้องการมาให้เลือกมากขึ้นและเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น

แต่ของเราดูมันจะกลับตาลปัตรกับเขาไปหมด จับเอารถยนต์ไฟฟ้าไปรวมกลุ่มกันหมด ทั้งรถเล็ก รถตู้ รถบรรทุก แม้แต่รถบดถนน กลายเป็นกำหนดให้ต้องวิ่งเร็วๆ ใช้กำลังเยอะๆ กรมการขนส่งฯคงมีเหตุผลเฉพาะตัว ซึ่งผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ อาจจะคิดว่ารถที่วิ่งช้าๆเกะกะถนนหรือเป็นตัวอันตรายก็ได้ ถ้าคิดเพียงแค่นี้ สงสัยว่ามาตรฐานความปลอดภัยของเราเหนือกว่าสากล เหนือกว่าสหรัฐฯ เหนือกว่ายุโรป และเราคงไม่ได้คิดออกกฎหมายข้อนี้มาเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือต้องการผลักดันให้เกิดการผลิตหรือใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนประเทศอื่นๆแน่ จะทำไปเพราะไม่รู้ว่าทั่วโลกเขาทำกันอย่างไรก็คงไม่ใช่ จะตั้งใจหรือจำใจทำไปเพราะโดนบังคับ หรือกลัวจะไปแย่งตลาดรถ eco-car ของบริษัทรถยนต์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ

ถ้าเรายังโฆษณาว่าเป็น Detroit of Asia กรมการขนส่งทางบก สมควรต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและการทำงานแบบเดิมๆที่บังคับควบคุมอยู่ภายในกรอบเก่าๆที่คับแคบ ให้มีแนวทางที่สร้างสรรค์และขยายกรอบความคิดให้ทันต่อสภาวะการณ์ต่างๆของโลกสมัยใหม่ให้มากขึ้น ต้องจริงจังกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ทำไมเราถึงยังเห็นรถกระบะในเมืองจำนวนมากที่ใส่กันชนหน้าเป็นท่อเหล็กขนาดยักษ์ไว้เหมือนกับรถที่ใช้ในสงครามหรือรถที่ใช้ในป่าและยังใส่กันชนหลังชุบโครเมี่ยมเป็นอุปกรณ์มาตราฐานจากโรงงานผู้ผลิตซึ่งสะท้อนแสงไฟจากหน้ารถที่ขับตามหลังได้ ผู้ผลิตรถกระบะบางรุ่นสามารถใส่ไฟหน้าจากโรงงานที่สว่างจ้าเข้าตารถสวนทางเพื่อเอาใจคนซื้ออยู่ได้ตั้งหลายปีจนรถเปลี่ยนรุ่นโดยไม่มีใครสามารถบังคับให้แก้ไขได้เลย รถมอเตอร์ไซต์รุ่นใหม่ๆบางรุ่นก็ยังมีลำแสงไฟหน้าเหมือนเปิดไฟสูงเข้าตารถสวนทางอยู่ตลอดวลา รถโดยสารขนาดใหญ่จำนวนมากที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศมีโครงสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในทางโค้งและทางลาดชันหลายครั้ง ทำไมเรายังได้เห็นข่าวรถเมล์เก่าๆแต่ทำสีใหม่ก็สามารถจดทะเบียนได้ แล้วก็ไปวิ่งเบรคแตกฆ่าคนตายกันอยู่หลายครั้ง และมาคราวนี้ทำไมเราไม่มีสิทธิ์ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ทั่วโลกเขาได้ใช้กัน

รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพวกนี้ ที่ผมเรียกเล่นๆว่า "รถซอกแซก" ซึ่งน่าจะเป็นยานพาหนะที่เหมาะสมที่สุดในยุคนี้สำหรับการใช้งานในเมืองควบคู่กับระบบขนส่งมวลชนระบบราง ทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน เวลานี้หลายประเทศทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ได้เพิ่มมาตรการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้อย่างมาก แต่กฎหมายที่ออกใหม่ของกรมการขนส่งฯนี้ ทำให้เราไม่มีทางสามารถผลิตหรือนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กๆพวกนี้มาใช้งานในประเทศไทยได้แล้ว คงเหลือแต่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบราคาล้านสองล้านจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายกำลังเตรียมการผลิตและมีรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนบางรุ่นที่บางบริษัทเตรียมนำเข้ามาขายเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์กฎหมายนี้ได้ แต่ถ้าคนไทยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กๆขึ้นมาเองก็ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งหมดไม่สามารถจำหน่ายให้คนไทยด้วยกันใช้ได้

ทำไมคนไทยถึงไม่มีสิทธิได้ใช้รถประเภทนี้ล่ะครับ

กระทรวงพลังงาน บอก.. ต้องประหยัดพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมัน
กระทรวงอุตสาหกรรม บอก.. ต้องสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้รถประหยัดน้ำมัน Eco-Cars
กระทรวงสิ่งแวดล้อม บอก.. ต้องช่วยกันต่อต้านภาวะโลกร้อน ลดปริมาณก๊าซ CO2
กระทรวงการคลัง บอก.. ต้องลดภาษีประจำปีให้รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก
แต่..
กระทรวงคมนาคม บอก.. ถ้าจะใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ก่อมลพิษ จะต้องไม่ใช้รถคันเล็กๆแบบที่ประเทศอื่นๆเขากำลังใช้กันตอนนี้ ประเทศไทยต้อง(รอ)ใช้รถที่ให้กำลังสูงๆ(จากบริษัทรถยนต์รายใหญ่) เท่านั้น (เพื่อไม่ให้เกะกะถนนขวางทางรถที่ใช้น้ำมัน)

Credit : โดย mr.zakkman
            BLOC OK NATION
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
ทำไมเราถึงยังเห็นรถกระบะในเมืองจำนวนมากที่ใส่กันชนหน้าเป็นท่อเหล็กขนาดยักษ์ไว้เหมือนกับรถที่ใช้ในสงครามหรือรถที่ใช้ในป่าและยังใส่กันชนหลังชุบโครเมี่ยมเป็นอุปกรณ์มาตราฐานจากโรงงานผู้ผลิตซึ่งสะท้อนแสงไฟจากหน้ารถที่ขับตามหลังได้
ผู้ผลิตรถกระบะบางรุ่นสามารถใส่ไฟหน้าจากโรงงานที่สว่างจ้าเข้าตารถสวนทางเพื่อเอาใจคนซื้ออยู่ได้ตั้งหลายปีจนรถเปลี่ยนรุ่นโดยไม่มีใครสามารถบังคับให้แก้ไขได้เลย
รถมอเตอร์ไซต์รุ่นใหม่ๆบางรุ่นก็ยังมีลำแสงไฟหน้าเหมือนเปิดไฟสูงเข้าตารถสวนทางอยู่ตลอดวลา
รถโดยสารขนาดใหญ่จำนวนมากที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศมีโครงสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในทางโค้งและทางลาดชันหลายครั้ง ทำไมเรายังได้เห็นข่าวรถเมล์เก่าๆแต่ทำสีใหม่ก็สามารถจดทะเบียนได้ แล้วก็ไปวิ่งเบรคแตกฆ่าคนตายกันอยู่หลายครั้ง และมาคราวนี้ทำไมเราไม่มีสิทธิ์ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ทั่วโลกเขาได้ใช้กัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

คือ ย่อหน้านี้มันใช่แบบที่ผมคิดและเห็นมาตลอดเวลาเลยครับ

งงมากๆ ว่าทำไมถึงปล่อยให้ผลิตของแบบนี้ออกมาขายได้ ? ไม่เข้าใจจริงๆนะ

ฟีโน่ วิ่งสวนกัน ไฟหน้าทิ่มตาเราเต็มๆ เพราะไฟมันสาดตรงไม่ได้ส่องลงพื้น
กันชนโครเมี่ยม สะท้อนแสงไฟหน้าเข้าตาเราเต็มๆ
รถเมล์ 20 ปี ทาสีใหม่ วิ่งได้ต่อ ?
ฯลฯ

คือ ผมคิดเผื่อไว้ส่วนนึงแล้วว่า ทาง ขรก.พวกนี้ ไม่ค่อยฉลาดนักหรอกครับ
ผมไม่ได้เคยคิดว่า คนทำงาน ราชการ ทีสอบเข้ายากเย็น จะฉลาดกว่าคนอื่นทั่วไปได้
มันยิ่งตลก ถ้าเห็นว่าพวกนี้ไม่เคยพัฒนา และ ทันโลกเลย ล้าหลังสุดๆ
ประเทศจะดำเนินไปได้ก็คือ ขรก.เป็นตัวขับสำคัญเลยล่ะ
ขรก.เป็นผู้กำหนดนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ แต่ถ้าออกมาแบบประหลาดๆแบบนี้ ประเทศจะพัฒนาได้ยังไง ?
ระบบข้าราชการไทย หยุดการพัฒนามาได้ 8 ปีแล้วมั้งครับ ก่อนหน้านี้ยังพอมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้าง แต่ก็หยุดไป

รถไฟฟ้า ไม่ต้องใช้น้ำมัน แค่ชาร์จไฟ หรือ ใช้เครื่องยนต์เล็กปั่นไฟฟ้าให้มอเตอร์แทน
รถวิ่งในเมือง ไม่ควรเกิน 60 - 80 อยู่แล้ว
บริษัทรถ เอาเครื่องยนต์แรงๆ มาใส่ให้รถเล็กๆ ก็เหยียบกันกระจาย สาดโค้ง จนเกิดอุบัติเหตุในเมืองได้ด้วยการขับเร็วและประมาท
เมืองนอกรถชนกันแทบทั้งหมดจะเป็นเพราะ "เมา"
แต่ของไทย ไม่ต้องเมา ก็ชนกันได้ เพราะขับเร็ว เครื่องมันแรง เหยียบนิดเดียวก็วิ่งเร็วแล้ว

ญี่ปุ่น รถเก๋ง ใช้เครื่อง 800 - 1200 กันในเมือง อุบัติเหตุเลยน้อยมาก และ ถึงชนกัน ก็ไม่แรงเท่าขับ 140 มาชนกันหรอก

สำคัญคือ ขรก. ที่มีอำนาจออกระเบียบกฏหมาย กลับไม่ทำในสิ่งที่ตนเองทำได้
ไม่รู้ว่ามีอะไรจุนเจืออยู่หรือเปล่า ถึงได้ออกกฏหมายเอื้อให้บริษัทบางที่ทำของขายได้เจ้าเดียว

น่าแปลก ที่ประเทศเรา กลับมีคนไม่ฉลาด มาบริหารประเทศ
ความคิดเห็นที่ 32
รถไฟฟ้า 15 kw เทียบกับน้ำมัน จะได้ราวๆ 200-300cc ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด รถยนต์น้ำมัน 4 ล้อ เครื่องเล็กขนาดนี้เค้าก็ไม่ให้มาวิ่งบนทางหลวงครับ

สาเหตุคงเพราะเรื่องอัตราเร่ง ที่อาจทำให้การจราจรติดขัด อาจจะไม่สามารถขึ้นสะพาน ขึ้นทางด่วนได้ (ด้วยอัตราเร่งที่ไม่ไปขวางคนอื่น) อย่าลืมว่า รถ 4 ล้อมันกิน 1 เลนเต็มๆ ไม่ได้หลบได้เหมือนรถเล็กจริงๆ แน่นอนบางท่านอาจยกตัวอย่างรถมา 1 คันแล้วอ้างว่าคันนี้ยังทำได้ แต่ต้องเข้าใจนะครับว่ารัฐต้องออกกม. เผื่อ worst case scenario เพราะ ถ้ามีคันนึงที่ทำได้ แล้วอนุญาต นั่นหมายความว่าคันอื่นที่สเป็คคล้ายๆกันแต่อาจทำไม่ได้ ก็ต้องได้รับอนุญาตด้วย (ลองคิดภาพคนเอารถกอล์ฟมาวิ่งบนถนนซิครับ ในเมืองรถติดมากๆอาจไม่เห็นภาพ แต่ถ้าออกมาโซน กทม.ที่รถน้อยหน่อยพอติดๆไหลๆได้ นี่ไม่ขวางเค้าตายหรือครับ) รัฐไม่สามารถไปกำหนด เงื่อนไขเยอะจนเกินไปได้ครับ เพราะจะกลายเป็นล็อคสเป็ค

อย่างแท็กซี่ 1200 cc ที่ทุกคนเรียกร้อง ถ้าเค้าอนุญาตให้  แทกซี่ใช้ 1200 cc ได้นั่นหมายความว่า นอกจาก amera แล้ว Brio March ก็ต้องอนุญาตด้วย โอเค ถ้าคุณไปเจอ Amera คุณโชคดีนั่งสบาย (แต่จริงๆมันก็ยังเล็กกว่ารถ 1600cc เดิมอยู่นะครับ)  แต่ถ้าดันไปเจอ brio  ก็จะมีคนมาบ่นว่าปล่อยให้รถเล็กมาทำแท็กซี่ได้อย่างไร โอเคบางคนบอกก็กำหนดขนาดห้องโดยสารด้วยซิ ถ้าทำแบบนั้น มันก็จะกลายเป็นว่าในบรรดา  eco car ทั้งหมด  มี amera ตัวเดียวที่เอาไปทำได้ บ. อื่นเค้าก็โวยซิครับ

ถ้าจะเปลี่ยนจากเปลี่ยนขนาดรถมาเป็นขนาดห้องโดยสารอย่างเดียว ไม่กำหนดขนาดเครื่องยนต์ ถามว่าทำได้มั้ย จริงๆมันก็ทำได้ครับ แต่มันก็จะเกิดเหตุการเช่น เอารถตัวถัง altis ไปใส่เครื่อง 900 เพื่อประหยัดน้ำมัน (ซึ่งทำแน่นอน เพราะแท็กซี่เค้าเน้นทำธุรกิจอยู่แล้ว เค้าต้องทำที่ประหยัดเค้าที่สุด) แน่นอนครับว่ามันวิ่งได้ แต่เวลาผู้โดยสารจะนั่ง 4 คน มีสัมภาระ เยอะๆ มันจะวิ่งขึ้นสะพานรอดมั้ยครับ  หรืออืดแค่ใหน คุณอาจจะบอกว่าคุณนั่งคนเดียว แต่มันมีครับคนที่เค้านั่ง 4คน อย่างที่บอกเวลาออกกม.เค้าต้องนึกถึง worst case เป็นหลัก

อ่อ อันนี้คิดตามหลักพิสิกส์ให้ดูนะครับ ว่าถ้าเอารถไฟฟ้าขึ้นสะพานจะเป็นอย่างไร
รถไฟฟ้า 4 ล้อ เล็กๆอย่างน้อย ควรนั่ง 2 คนได้ ผมตีคร่าวๆ ว่าน้ำหนัก รถ+คน ราวๆ 500 กก ถ้าขึ้นสะพานความชัน  30 องศา จะมีแรงดึงลง 2500 นิวตัน
  ดังนั้น จากสูตร
P=FV
รถ 15 kW ทำความเร็วสูงสุดบนสะพานนี้ได้ไม่เกิน 6 m/s หรือ ราวๆ 20 km/h ย้ำว่านี่คือถ้าเครื่องประสิทธิภาพ 100% และไม่มีแรงเสียดทานใดๆ นะครับ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเอาเครื่อง 10kW ความเร็วสูงสุด เหลือ 12-13 ถ้า 5kw เหลือราวๆ 5-6 เท่านั้นแหละ (รถที่จขกท.ยกมา 4kW หนักไม่รวมคนขับ 645kg ท่านผู้ชมคิดเองละกันว่าจะขึ้นสะพานนี้รอดมั้ย)จะเห็นได้ว่ารถกำลังต่ำๆนั้นแม้อาจทำความเร็วสูงสุดได้ตามกม. แต่ยังมีปัญหาในการขึ้นทางลาดชันครับ

ออกตัวทางราบ กับ ออกตัวบนทางชันสำหรับรถกำลังน้อยๆต่างกันพอดูนะครับ

ต่างประเทศผมเข้าใจว่าเค้าให้รถไฟฟ้าวิ่งได้แค่ในเขตเมือง และห้ามในหลายๆเส้นทาง ดังนั้นถ้าถามว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเอามาใช้ในไทย เป็นไปได้ครับ แต่คงต้องออกกม.จัดโซนจราจรก่อน เช่นอนุญาตให้วิ่งแค่ในเขตเมืองชั้นใน ห้ามขึ้น ทางด่วน ถนนไฮเวย์ หรือกึ่งไฮเวย์(พวกวิภาวดี บางนาตราด) ห้ามขึ้นสะพานข้ามหรือลอดแยก บลาๆ (ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าที่สมรรถนะสูงต้องคอยติดร่างแหไปด้วย) หรือไม่ก็ออกกม. แยกรถนั่ง 4 ล้อ ส่วนบุคคลไม่เกิน 2 ที่นั่งแยกไปเลย แต่ก็นะ ถ้าทำจริงๆ สงสัยเหมือนกันว่าถ้าห้ามขนาดนี้คนจะทำตามจริงหรือไม่
ความคิดเห็นที่ 12
กฎหมายบ้านเราชอบทำแบบนั้นแหละครับ ตั้งกะหลอดไฟห้ามเกิน ๕๕ วัตต์แล้ว แทนที่
จะไปกำหนดค่าความสว่างมัน ตอนนี้เลยมีซีนอนบ้าพลัง ๕๕ วัตต์ สว่างถึงดวงดาวเลย
ทีเดียว นี่ถ้าได้ LED ๕๕ วัตต์ก็แทบเสียดวงตากันเลยทีเดียว

รถแท็กซี่ก็ไปกำหนดขนาดเครื่องยนต์ แทนที่จะกำหนดขนาดห้องโดยสาร

เอาว่า อย่าไปคิดมากเลยครับ คนเขียนกฎหมายไม่มีความถนัดทางด้านเรื่องพวกนี้หรอก
(จริงๆ เขาอาจจะไม่รู้มากกว่านี้ก็ได้ หรือไม่ก็รู้แต่แกล้งไม่รู้)

ตอนนี้ หากใครสักคนถูกยิงตายด้วยลิง ก็ไม่ต้องคิดเอาผิดหรอก เพราะมันไม่มีในกฎหมาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่