โลกมีขันธ์เป็นอาทิ เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไป



"พระยามัจจุ ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งโลกมีขันธ์เป็นอาทิ เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไป (และ) เหมือนบุคคลพึงเห็นพยับแดด เพราะความเป็นธรรมชาติว่างเปล่าเป็นอาทิ ฉะนั้น."

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=23&p=3



๓. เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา [๑๓๙]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เจริญวิปัสสนามีประมาณ ๕๐๐ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถา ปุพฺพุฬกํ ปสฺเส" เป็นต้น.

               ภิกษุถือเอาพยับแดดเป็นอารมณ์               
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว เข้าไปสู่ป่า แม้พยายามอยู่ก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงคิดว่า "พวกเราจักเรียนกัมมัฏฐานให้วิเศษ" กำลังมาสู่สำนักของพระศาสดา เห็นพยับแดดในระหว่างทาง เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์นั่นแหละมาแล้ว.
               ฝนตกในขณะแห่งภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่วิหารนั่นเอง. ภิกษุเหล่านั้นยืนที่หน้ามุขนั้นๆ เห็นฟองน้ำทั้งหลายซึ่งตั้งขึ้นแล้ว แตกไปอยู่ด้วยความเร็วแห่งสายน้ำ ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า
               "อัตภาพแม้นี้ เป็นเช่นกับฟองน้ำ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไปเหมือนกัน."
               พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงแลดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงแผ่พระโอภาส เหมือนตรัสกับภิกษุเหล่านั้นแล้ว
               ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                        ๓.     ยถา ปุพฺพุฬกํ ปสฺเส        ยถา ปสฺเส มรีจิกํ
                            เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ        มจฺจุราชา น ปสฺสติ..
                            พระยามัจจุ ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งโลก
                            เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ (และ)
                            เหมือนบุคคลพึงเห็นพยับแดด.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มรีจิกํ คือ พยับแดด.
               จริงอยู่ พยับแดด แม้ปรากฏขึ้นแต่ที่ไกลเทียว ด้วยสามารถมีสัณฐานดังสัณฐานเรือนเป็นต้น เป็นของเข้าถึงความเป็นรูปที่ถือเอามิได้ เป็นของว่างเปล่าแท้ (ย่อมปรากฏ) แก่คนทั้งหลายผู้เข้าไปใกล้อยู่
               เพราะเหตุนั้น จึงมีอธิบายว่า
               "พระยามัจจุ ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งโลกมีขันธ์เป็นอาทิ เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไป (และ) เหมือนบุคคลพึงเห็นพยับแดด เพราะความเป็นธรรมชาติว่างเปล่าเป็นอาทิ ฉะนั้น."
               ในเวลาจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ในที่แห่งตนยืนนั่นเอง ดังนี้แล.

**โลกที่บุคคลรู้จักก็คือขันธ์ นั่นเอง ยึดถือเอา แยกแยะเป็นตนเองผู้อื่น แท้จริงแล้วว่างเปล่า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่