ส่องชุดตรวจเชื้อ “อีโบลา” กรมวิทย์เสนอสร้าง “แล็บนิรภัย” ตรวจไวรัสร้ายแรง


กรมวิทย์เปิดชุดตรวจ “อีโบลา” คาดสัปดาห์หน้ามาครบทั้งหมด 3 แบบ 300 ชุด ชี้ตรวจเชื้อ 1 รายต้องยืนยันทั้ง 3 แบบ รู้ผลใน 5 - 8 ชั่วโมง
เผยความคืบหน้าสร้างห้องแล็บนิรภัยตรวจไวรัสร้ายแรงมูลค่า 57 ล้านบาท เสนอผู้บริหาร สธ. แล้ว
       




       วันนี้ (26 ส.ค.) ที่อาคารวิจัยเฉลิมพระเกียรติซาซาคาวะอุทิศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   นพ.อภิชัย มงคล
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” ว่า
ชุดตรวจเชื้อไวรัสอีโบลาที่สั่งซื้อจำนวน 3 ชุด ชุดละ 3 แสนบาท รวมเป็น 9 แสนบาท โดย 1 ชุดจะตรวจได้ 100 ตัวอย่าง สั่งซื้อจาก 3 ประเทศ คือ
เยอรมนี จีน และ ญี่ปุ่น นั้น ขณะนี้มาถึงไทยแล้ว 200 ชุด คือน้ำยาชุดทดสอบจากเยอรมนี และจีน ส่วนญี่ปุ่นนั้นยังไม่ได้ จึงได้สั่งซื้อชุดจากเยอรมนีอีก 100 ชุด
เข้ามาทดแทน ซึ่งจะมาถึงในสัปดาห์หน้า เนื่องจากการตรวจสอบเชื้อไวรัสอีโบลาตามมาตรฐานนั้น ใน 1 รายจะต้องตรวจยืนยันจากชุดทดสอบทั้ง 3 ชุด
โดยผลการยืนยันจะต้องตรงกัน 2 ชุด ซึ่งหากไม่พบการติดเชื้อก็ไม่มีปัญหา แต่หากพบเชื้ออีโบลาจะต้องส่งไปตรวจต่อที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ
       

       นพ.อภิชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องใช้ชุดทดสอบตรวจเชื้ออีโบลา เนื่องจากการเพาะเชื้อแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคปนั้นใช้เวลานาน
ไม่ทันการณ์ต่อการควบคุมโรค และกล้องมีไม่มาก รวมถึงราคาแพง จึงต้องตรวจด้วยชุดทดสอบดังกล่าว ซึ่งเป็นการหาทั้งสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส
และภูมิต้านทานที่มีต่อเชื้อไวรัส มีความแม่นยำมากกว่า 90% ใช้เวลาตรวจเพียง 5 - 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลมีความแม่นยำมากขึ้น
ก็จะมีการตรวจด้วยการเพาะเชื้อเพื่อยืนยันทีหลังเช่นกัน หากผลออกมาตรงกันทุกครั้งก็จะสามารถใช้นำชุดทดสอบมาใช้แทนได้โดยไม่ต้องเพาะเชื้อ
       

       “การตรวจเชื้ออีโบลาจะตรวจด้วยเครื่องเพิ่มสารพันธุกรรมและพีซีอาร์ระบบปิดอัตโนมัติ ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL3)
ซึ่งบุคลากรจะต้องสวมชุดอวกาศป้องกัน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้ โดยการทำงานจะใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน โดยจะนำเลือด ซึ่งจะถูกเก็บไว้อย่างดี
ในกล่อง 3 ชั้นชนิดพิเศษที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เรียกว่า ไบโอฮาซาร์ด (Biohazard) มาแยกเพื่อสกัดสารพันธุกรรมก่อน จากนั้นจะใส่ไพรเมอร์เข้าไปในระบบ
เพื่อจับคู่เชื้อ หากจับคู่กันได้ก็จะขยายปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นล้านเท่า โดยจะมีเครื่องจับสีที่เพิ่มขึ้น แสดงว่ามีการพบเชื้อ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบเชื้อ
แต่อย่างใด” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
       

       นพ.อภิชัย กล่าวว่า การจัดหาชุดทดสอบดังกล่าวนั้นใช้งบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยระหว่างนี้กำลังดำเนินการของบกลาง
จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อชดเชยในส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังของบอีก 57 ล้านบาทในการจัดสร้างอาคารสำหรับห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4
ซึ่งจะใช้ในการตรวจเชื้อโรคใหม่ๆ ที่มีความรุนแรง มีอัตราการป่วยตายสูง ยังไม่มีวัคซีนและยาในการรักษา โดยในภูมิภาคเอเชียมีเพียงญี่ปุ่น และอินเดียเท่านั้น
ที่มีห้องระดับ BSL4 ประเทศไทยยังไม่มี โดยขณะนี้กำลังเสนอต่อผู้บริหารว่าเห็นชอบจะให้มีการจัดสร้างหรือไม่ หากเห็นชอบจึงจะทำประชาพิจารณ์ว่าชุมชน
โดยรอบพื้นที่ที่จะจัดสร้างนั้นมีการคัดค้านหรือไม่ โดยพื้นที่ในการจัดสร้างจะตัวอาคารจะใช้พื้นที่ 50 ตารางวา และพื้นที่โดยรอบอีก 50 ตารางวา
โดยจะมีระบบควบคุมอากาศ น้ำ และการเข้าออกของมนุษย์ให้มีความปลอดภัย รวมถึงมีระบบทำลายเชื้อหากเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ด้วย
       

       “การจัดสร้างห้อง BSL4 จะเป็นผลดีต่อประเทศไทย เพราะไม่จำเป็นต้องส่งเชื้อไปตรวจที่ต่างประเทศ เพราะการส่งเชื้อร้ายแรงไปตรวจต่างประเทศนั้น
ไม่มีสายการบินใดที่ยอมขนส่ง จำเป็นต้องหาเครื่องบินจัดส่งเอง” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เล็งไว้ว่าจะสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 นั้น จะสร้างขึ้นบริเวณพื้นที่ระหว่างสถาบันบำราศนราดูรและโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากสถาบันบำราศฯ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อร้ายแรงอยู่แล้ว ประชาชนในพื้นที่โดยรอบมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ไม่น่าจะมีแรงต้านเท่ากับพื้นที่อื่น


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000097568
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่