(ซีรีย์ญี่ปุ่น) HERO 2014 (กึ่งรีวิว) ตอนที่ 5 (ตามซับไตเติ้ล): Pride and Professionalism (Spolied)

คล้าย ๆ กับที่เคยรีวิว(นิดหน่อย) ท่านคาวาจิริสนิมเกาะจริง ๆ นะแหละ อย่างที่เคยกล่าวไว้ คาวาจิริซังเป็นหัวหน้าเพราะฉะนั้นก็เน้นไปที่งานบริหารมากกว่างานคดี แต่เมื่อเคสที่เข้ามา ณ สำนักงานอัยการ มันเยอะขึ้น ๆ จ่ายคดีให้ลูกน้องทีก็ต้องปวดกะโหลก ไม่ใช่อะไรลูกน้องบ่นน่ะสิ งานเก่ายังไม่ทันเสร็จ งานใหม่ก็โถมเข้ามาอีก เป็นอันว่ามี "หนึ่งเคส" ที่ท่านคาวิจิริต้องดำเนินการเอง และ ประสบอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ นานา ไม่ใช่อะไรหรอกก็เพราะไม่ได้จับคดีมานานมันก็ต้องมีอะไรฝืด ๆ กันบ้าง

แถมอีผู้ต้องหาก็เด็กวัยรุ่นสุดแสนจะกวนบาทา อย่านึกว่าผู้ต้องหาจะกลัวเจ้าพนักงานเสมอไป บางทีก็กวนโอ๊ยใส่ บางทีก็หลอกกันซึ่ง ๆ หน้าได้เหมือนกัน ไม่แปลกอันใด เวลาเจอแบบนี้อัยการก็เหนื่อย นอกจากนั้นพยาน ... พยานยังเป็นเด็กอีก สืบหาข้อเท็จจริงก็ยาก เรื่องความหนักแน่นก็เป็นปัญหา ดูท่าทางว่าเคสที่หยิบขึ้นมาทำนั้นจะเจออุปสรรคในทุกภาคส่วน ท่านก็คิดของท่านว่า ไอ้เรารึก็แก่แล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยจะดี  เจอผู้ต้องหาวัยรุ่น ignore แบบนี้ ต้องเดินท่อม ๆ ไปสัมภาษณ์เด็กอายุ 5 ขวบ 7 ขวบ ที่บ้านที่โรงเรียนแบบนี้ มันไม่ใช่ ฉันไม่ไหวจะเคลียร์

สุดท้ายก็นึกไปว่า ... เราเองสงสัยจะหมดสภาพเสียแล้วกระมัง
หรือว่าจะ early ไปสถิตย์ ณ สำนักงานทนายความตามเพื่อนอัยการเสนอมาดี


เมื่อข่าวรู้ถึงหูเหล่าลูกน้องแต่ละคนก็แลดู ignore ท่านคาวาจิริเหมือนกัน ก็ว่ากันไป ใครจะมาแทนนะ จะใจดีหรือเปล่า ออกนอกเรื่องนอกราวกันไปใหญ่ แม้แต่คุริวเองก็บอกกับอาซางิว่า "แล้วแต่เจ้าตัวตัดสินใจ" ว่าแล้วท่านคาวาจิริหมดก็เดินหมดแรงออกมาจากห้องหลังจากคุยกับท่านอุชิมารุ แล้วก็พากันไปกิน "เฝอ" (จุดเล็ก ๆ ตรงนี้ชอบมาก เพราะ ยังเน้นย้ำคาแร็คเตอร์ ร้านอาเฮียมีทุกสิ่ง อาเฮียไม่เคยมีบทพูด นอกจาก "มีสิ" เมื่อคุริวถามว่ามีอันนี้(เฝอ)ด้วยเหรอ เฮียก็ตอบโดยพลันว่า "มีสิ")

ในอดีตกาลท่านคาวาจิริก็เหมือน ๆ คนหนุ่มไฟแรงทั่วไปนั่นล่ะนะ 10 ปีที่แล้วตอนที่อยู่หน่วยสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปพัวพันเรื่องเงินทุจริตนักการเมืองแล้วคงทำเคสนานเกินไปเลยจบลงที่การถูกย้ายมาและทำงานบริหารมาตลอด ไฟคงหมดแล้วจริง ๆ จริง ๆ ก็เป็นเงาสะท้อนของคุริวเหมือนกันล่ะนะ เพราะ คุริวเองก็ลงรายละเอียดงานเลยค่อนข้างจะช้าเช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็จะเห็นว่าเปรียบเทียบกันระหว่างเคสสองเคสที่มีความยากเกิดขึ้นในการทำคดี

สำหรับท่านคาวาจิริมันยากตรงคน ส่วนคดีของคุริวมันยากตรงเนื้องาน ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างสะพานประกอบด้วยสูตรทฤษฎีคณิตศาสตร์ฟิสิกส์อะไรต่าง ๆ ซึ่งเข้าใจยาก แต่คุริวก็ยังตะลุยไปไม่หยุด แต่ท่านคาวาจิริจะหยุดแล้ว เมื่ออาซางิถามว่าถ้าเป็นคุริวจะทำเช่นไร

คำตอบมีอยู่ว่า
ทุกสิ่ง ... ต้องทำให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ


อยู่ ๆ จะปุ๊บปั๊บแล้วจะให้ได้คำตอบอย่างที่ต้องการคงเป็นไปไม่ได้หรอกนะ เมื่ออาซางิมาเพ่งมองโรงงานที่คุริวไปเยือนเพื่อสืบคดีก็เห็นว่า เอ๊ะ ๆ เรนะจังที่เป็นพยานคดีวิ่งราวกระเป๋า ก็เคยมาทัศนศึกษาที่นี่ด้วยนี่นา ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่าจะทำอย่างไรให้สืบพยานอย่างเรนะจังได้ (อืมมม์ กำลังคิดอยู่ว่ากระบวนการตรงนี้ของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร เพราะของไทยสืบพยานก็ต้องพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ จากนั้นทำสำนวนส่สงต่อมาที่อัยการ ซึ่งอัยการสามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนเรียกพยานให้อัยการซักถามได้ แม้ไม่ใช่พยานตามสำนวน แต่ไม่ถือว่าเป็นการสอบสวนเพราะอัยการไม่ใช่พนักงานสอบสวน ในเรื่องนี้เห็นเรียกพยานตลอด (พนักงานสอบสวนเรื่องนี้สงสัยไม่ได้ดังใจอัยการ) กระบวนการอาจจะไม่เหมือนกัน)

แต่อื้อหือ พอท่านคาวาจิริเล็คเชอร์ ... ก็รู้สึกอีกว่าบท research มาเยอะนะ มีตัวเลขคดีเป็นสถิติให้เห็นด้วย และที่สำคัญ .... อธิบายเรื่องเข้าใจยากให้เข้าใจง่าย(มาก)แบบไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ทางนิติศาสตร์ก็เข้าใจได้

ถามว่าอัยการทำงานยังไง ... โห ตอบยากนะ แต่ละครเรื่องนี้ทำให้อำนาจหน้าที่ของอัยการเข้าใจง่ายมาก ๆ เลย โอเค มันอาจจะไม่ดีเทลว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายคืออย่างไร แต่อันนี้เป็นการให้ความรู้ชั้นดีเลยว่า อัยการนี่ เค้ามีสโคปงานแบบนี้


เราไม่ได้ทำเหมือนตำรวจ (ไม่ได้ออกไปจับคนร้าย) แต่เราสืบสวนโดยการ "พูดคุย" คุยกับผู้ต้องหา คุยกับผู้เสียหาย คุยกับพยาน จากการพูดคุยนั้นเราได้ข้อเท็จจริงที่ประกอบการตัดสินใจว่า แรงจูงใจเบื้องหลังคืออะไร และ จากการพูดคุยนี้แหละที่จะทำให้รู้ว่า "ความจริง" คืออะไร และ ถ้ามีคนไม่พูดเราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะต้องเริ่มตรงไหนอย่างไร ? คนที่รู้ความจริงมีแต่ ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และ พยาน เท่านั้น สิ่งที่อัยการทำคือต่อจิ๊กซอร์จากหลาย ๆ แห่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เรื่องทางเทคนิคเราก็ค้นคว้าเรียนรู้ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษทัณฑ์อันสมควร และ เพื่อหยิบยื่นความยุติธรรมให้เกิดแก่สังคม ... งานของอัยการคือเช่นนี้


เด็ก ๆ ที่ไปทัศนศึกษาก็จดยิกเลย


สรุปแล้วที่เรนะจังไม่กล้าพูด เพราะ อิตาผู้ต้องหาขู่ และ ไม่ได้ขู่ธรรมดาด้วย ใช้มีดขู่เด็กประถมอีกต่างหาก แล้วยังจะมีหน้ามาบอกว่ายัยเด็กบ้านั่นโกหก ทีนี้องค์ประทับท่านคาวาจิริ กลายเป็น โอนิจิริกันเลยทีเดียว ทุกคนก็แบบว่า "โอนิจิริกลับมาแล้ว" (โอนิ ภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า "ยักษ์") แต่ก่อนคงดุพิลึก แต่ละคนก็ไม่ใช่ว่าไม่สนใจหรอกนะ คือ ซึนกันทั้งสำนักงานน่ะแหละ จริง ๆ ก็เป็นห่วงอยู่หรอก สนใจอยู่หรอกแต่ไม่ค่อยแสดงออกก็เท่านั้น

ส่วนคุริวหลังจากอ่านหนังสือหลายเล่ม จิ้มเครื่องคิดเลขหลายครั้ง ศึกษาทฤษฎีชวนปวดหัวต่าง ๆ มากมายก็ได้คำตอบจนได้ มิใยผู้ต้องหาจะกวนบาทาว่าอัยการจะรู้เร้อเรื่องพวกนี้ แต่ปรากฎว่านางตอบถูกค่ะ นางศึกษาจนเข้าใจ จนสามารถจะโต้กลับไปได้ว่า "ที่นี้เรามามี proper talk" กันได้รึยัง

เรื่องนี้แสดงให้เห็นอะไร Pride และ Professionalism ในคราวเดียวกัน ในรายของท่านคาวาจิริส่วนเด่นคือ Pride ศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ อัยการมีหน้าที่ทำอะไรเราตระหนักในสิ่งนั้นหรือไม่ และ เราทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ professionalism แล้วรึยัง และเน้นย้ำกับสิ่งที่คุริวถามผู้ต้องหาในตอนท้าย แบบโครงสร้างสะพานที่มันพังพาบลงมาเพราะการคำนวณน้ำหนักไม่เป็นไปตามหลักทฤษฎี คุริวซึ่งไม่ได้เป็นสถาปนิกไม่ได้เป็นวิศวกรก็ค้นคว้าหาจนเจอ

และมีคำถามว่าสิ่งที่อยากรู้ในตอนนี้ คือ "คุณได้ทำงานอย่างเหมาะสมตามศักดิ์และสิทธิในการเป็นมืออาชีพแล้วหรือยัง ?" มันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของคนทั่วไปนะคำถามนี้ ไม่ใช่แค่ตื้น ๆ อย่างใครผิดใครถูก คำนี้มันกินความรวมถึงทุกอย่าง ใช้ความสามารถอย่างที่สุดแล้วหรือยัง ระมัดระวังตามสมควรแล้วหรือยัง มีจริยธรรมในการประกอบอาชีพรึเปล่า

สิ่งเหล่านี้คืออะไร ก็คือฟันเฟืองที่ทำให้สังคมหมุนไปในทางพัฒนาเจริญก้าวหน้ายังไงล่ะ




แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่