"ไม่เน่าก็ขึ้นรา" เมนูแช่แข็ง ชวนอ้วก

ไม่เน่าก็ขึ้นรา.. เมนูแช่แข็งชวนอ้วก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000089610


  แม้ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร 'แช่แข็ง' แต่ผู้บริโภคก็ได้เห็นข่าวคราวของแช่แข็งทั้งเมนูอาหารสำเร็จรูป หรือของสดที่แช่แข็งด้วยอุณหภูมิเย็นยะเยือกนั้นเน่าเสีย ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุตามที่ปรากฏบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ ล่าสุด ภาพเนื้อหมูสไลซ์แช่แข็งขึ้นราถูกแชร์ว่อนเน็ต โดยเจ้าทุกข์เปิดเผยว่าซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้บริโภครายอื่น หากต้องซื้อหาของแช่แข็งต้องพินิจพิจารณามากขึ้นกว่าเดิม
      
       ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
      
       ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตกใจเสียเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาสภาพของแช่แข็งลักษณะเน่าเสียขึ้นราถูกตีแผ่ออกมาเป็นระลอก กลายๆ ว่าการซื้อของแช่แข็งในซูเปอร์มาร์เกต ฯลฯ เป็นเหมือนการวัดดวง แม้จะมีฉลากระบุวันหมดอายุแต่ใช่ว่าของแช่แข็งในหีบห่อนั้นจะสดใหม่ เพราะบางอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวคลับคล้ายคลับคลาแช่แข็งของเน่าไว้สำหรับผู้บริโภคผู้โชคร้าย
      
       สำหรับกรณีล่าสุดที่ร้องเรียนเป็นข่าวดัง สมาชิกสังคมออนไลน์ท่านหนึ่งร้องเรียนผ่านหน้าแฟนเพจ CM108.com พร้อมโพสต์ภาพหมูแช่แข็งขึ้นราที่ซื้อมาจากห้างดังแห่งหนึ่ง โดยเผยว่า ตนซื้อเนื้อหมูแช่แข็งในห้างดังแห่งหนึ่ง ตอนซื้อไม่ทันสังเกตเห็นว่าลักษณะเนื้อหมูเป็นอย่างไร แต่พอนำมาละลายน้ำแข็งที่บ้านกลับเห็นอย่างชัดเจนว่ามีเชื้อราเกาะอยู่เต็มแผ่น ซึ่งระบุวันหมดอายุปีหน้า 18/7/2015 จึงทำให้ไม่มั่นใจในความปลอดภัยและเลือกซื้อมาประกอบอาหาร จึงอยากฝากเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ในการเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ควรตรวจสอบให้ดี
      
       อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมาชาวโซเชียลฯ ก็แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับของอาหารแช่แข็งที่ดันเน่าเสียก่อนตกถึงท้องผู้บริโภค กรณีผู้บริโภคซื้ออาหารแช่แข็งจากซูเปอร์มาร์เกต ข้าวสเตกปลาแซลมอน หลังพนักงานอุ่นอาหารให้ก็กลับมายังที่พักแต่ถึงกับผงะเพราะเปิดมาเห็นข้าวในกล่องเน่าเปลี่ยนสีเป็นสีดำ
      
       กรณีถัดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดขึ้นกับอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเช่นเดิม ผู้บริโภคท่านหนึ่งร้องเรียนเมนูข้าวหมูเกาหลี ที่ซื้อมาจากห้างค้าปลีกแห่งหนึ่ง เมื่อเตรียมรับประทานเปิดกล่องออกมากลับเจอของเสีย
      
       “กรณีที่เป็นข่าวอย่างที่เห็นในรูปแม้จะไม่ชัด แต่น่าจะเป็นหมูสามชั้นหรือส่วนที่เป็นมัน มันสัตว์มันจะเกิดการสันดาบกับออกซิเจนได้ง่าย ถ้าขั้นตอนแรกของการเตรียมวัตถุดิบไม่ดี” แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน แสดงความคิดเห็นต่อข่าวเนื้อหมูแช่แข็งขึ้นราที่เป็นประเด็นล่าสุด
      
       อย่างไรก็ตาม หลังจากกรณีดังกล่าวไม่แปลกที่หลายคนจะแตกตื่นตกใจเพราะเหตุร้ายนั้นเป็นภัยแฝงใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ของแช่แข็งที่เน่าเสียเกิดจากอะไร? กลายเป็นคำถามที่ค้างคาและต้องการคำตอบอย่างรู้แจ้ง นักโภชนาการคนเดิมเผยถึงสาเหตุของการที่ของแช่แข็งจะเน่าเสียว่ามาจากหลายสาเหตุด้วยกัน
      
       อาหารแช่แข็งเน่าเสียก่อนวันหมดอายุนั้นมีสาเหตุใหญ่ๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกัน 1. คือการเตรียมวัตถุดิบไม่ดีที่อาจทำให้ออกซิเจนหรือน้ำเข้าไปทำให้เชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ 2. เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ไม่ถึงจุดเยือกแข็งของวัตถุดิบนั้นๆ 3. ตู้จำหน่ายอาจไม่มีการควบคุมอุหภูมิที่ดีพอ
      
       “การเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะการขนส่ง โดยควบคุมอุณหภูมิอยู่ตลอดเวลา จนถึงจุดจำหน่ายหากเกิดข้อผิดพลาดอย่าง ระหว่างขนส่งมีไฟดับทำให้อุณหภูมิเปลี่ยน หรือในจุดจำหน่ายไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิอยู่เสมอของแช่แข็งก็อาจถูกจัดเก็บอย่างไม่ถูกวิธีจนทำให้เน่าเสียได้”




ไขปริศนาของเน่า
      
       การที่ผู้คนต้องบริโภคอาหารแช่แข็งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจและการขนส่งที่หากเลือกบริโภคอาหารแช่แข็งแล้วก็สามารถประหยัดต้นทุนในส่วนนี้ลงไปได้ สามารถซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารทีละมากๆ มาเก็บไว้ใช้บริโภค อีกทั้งอาหารแช่แข็งยังมีราคาถูกกว่าอาหารสดเล็กน้อยอีกด้วย ทั้งนี้สารอาหารต่างๆก็ยังคงมีอยู่ครบถ้วนพอที่จะบริโภคแล้วไม่ขาดแคลนสารอาหาร
      
       แววตา กล่าวถึงอาหารแช่แข็งในมุมมองด้านโภชนาการ อาหารแช่เย็นนั้นมีการรักษาคุณค่าทางอาหารไว้อย่างสมบูรณ์ เว้นเพียงวิตามินบางตัวที่ละลายในน้ำเท่านั้น “ทางด้านของสารอาหาร ถ้าอาหารแช่แข็งถูกผลิตมาเพื่อแช่แข็งโดยตรงจากวัตถุดิบที่อุณหภูมิปกติ ถ้าเกิดเขาควบคุมจุลินทรีย์และอุณหภูมิได้ดี แล้วนำมาแช่แข็งได้เลย ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่าสารอาหารมันไม่หายไปไหน สารอาหารถ้ามันถูกคุมจุลินทรีย์ไม่ให้มันเติบโต อาหารแช่แข็งนั้นก็มีประโยชน์แล้วก็ประหยัดและสามารถยืดอายุการใช้งานได้”
      
       ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคนั้น เธอเผยว่า หากนำเนื้อแช่แข็งมาทานก็ควรมีการนำไปละลายน้ำแข็งอย่างถูกวิธี กล่าวคืออาจใช้ไมโครเวฟในโหมดละลายน้ำแข็ง หรือแช่ในน้ำโดยใส่ถุงอีกชั้นเพื่อกันน้ำเข้า เพราะน้ำจะมีส่วนทำให้อาหารเสียก่อนเวลาได้ อีกข้อแนะนำคืออาหารแช่แข็งที่มีส่วนของไขมันนั้นจะเสียง่ายกว่าส่วนที่ไม่มี ดังนั้น อาจรับประทานให้หมดก่อนวันหมดอายุที่กำหนด
      
       แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวสร้างการตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยจากอาหารแช่แข็งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แม้ข่าวที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องเสียหายหากแต่อีกมุมก็ทำให้สังคมได้ฉุกคิด แววตา เอกชาวนา มองว่าคนทุกคนควรรับรู้ทุกอย่าง ควรสัมผัสกับสิ่งที่จะกินเข้าไปอย่างถี่ถ้วนที่สุดก่อนนำเข้าปากเสมอ
      
       “เหตุการณ์นี้อย่างน้อยมันทำให้ผู้คนฉุกคิดว่าเราจะไม่ไว้ใจใครง่ายๆ อาหารแช่แข็งเราต้องดูให้ดี ตรวจสอบก่อนว่ามันเสียหรือไม่”
      
       โดยวิธีการตรวจสอบนักโภชนาการอย่างเธอแนะนำว่า ดูได้จากสภาพเนื้อหากเป็นหมูก็ต้องเป็นสีแดงชมพูใส ไม่มีเมือก หากเป็นเนื้อวัวก็ควรเป็นสีแดงเลือดนิดๆ ไม่มีน้ำไม่มีเมือกเช่นกัน และอาจสำรวจจากบรรจุภัณฑ์ว่า มาจากบริษัทที่ไว้ใจได้หรือไม่ มีตรา อย.หรือตราประทับรับรองมาตรฐานที่ดูน่าเชื่อถือ
      
       “คือดูซองพลาสติกที่เขาใส่ก่อน สำคัญมากอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะที่ใส่พลาสติกชั้นเดียวส่วนใหญ่เขาจะใช้พลาสติกที่มันทนต่อความเย็น แม้จะใส่ชั้นเดียวแต่ต้องคอยดูตัวที่ซีลระหว่างรอยต่อ เมื่อไหร่ที่มันรั่วอากาศเข้าไปหรือน้ำเข้าไป อาหารแช่แข็งนั้นแม้จะอยู่ในอุณหภูมิที่ดีแต่แบคทีเรียก็เจริญเติบโตได้ง่าย
      
       “และต้องดูรอบๆ บรรจุภัณฑ์ว่าไม่มีอะไรฉีกขาด แน่นอนว่าต้องดู อย.และบริษัทควรดูที่เราคุ้นเคยมันน่าเชื่อถือ มีมานาน เป็นบริษัทใหญ่ที่มีเครื่องหมายการรับรองอาหารแช่แข็ง มีเครื่องหมายต่างๆ ที่ผลิตภัณฑ์”



   ภัยร้ายอีกอย่างที่สำคัญในตอนนี้คือ อาหารแช่แข็งตามตลาดบางทีไม่ได้ผ่านกระบวนการแช่แข็งอย่างที่ควรจะเป็น หากแต่เป็นเพียงการนำวัตถุดิบสดมาแพกแช่แข็งเท่านั้น เธอเผยว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากเพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการแช่แข็งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ในรูปลักษณ์ของอาหารแช่แข็งที่มีรายละเอียดระบุเพียงปริมาณหรือวันผลิตเท่านั้น
      
       “ของพวกนี้มันจะไม่ผ่านการตรวจสอบอาหารแช่แข็งซึ่งจะมีเยอะอยู่แล้ว และของพวกนี้วันผลิตของเขาคือวันแพกใส่ถุง ซึ่งมันเหมือนเอามาหลอกว่าเป็นอาหารแช่แข็ง แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันเก็บได้ไม่นาน ของพวกนี้ซื้อมากินเลยยังพอได้ แต่เก็บไว้ไม่ได้ บรรจุภัณฑ์มักจะระบุรายละเอียดไม่มากนักและสิ่งสำคัญคือไม่มีตรง อย.หรือตรารับรองมาตรฐานของแช่แข็งใดๆอีกด้วย”
      
       สำหรับการรับมือของบริโภคนั้น เธอเผยว่า จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นถูกต้องแล้วที่ไม่รับประทานและทิ้งทันที พร้อมเตือนว่า เหตุการณ์อาหารแช่แข็งเสียนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ไม่เป็นข่าว
      
       “บางทีก็มีเสียเพราะผู้บริโภคเองที่ซื้อแล้วขนส่งกลับบ้านไกลไม่สามารถรักษาอุณหภูมิอาหารไว้ได้ หรืออาจปล่อยให้น้ำเข้าไปก็มีส่วนทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น
      
       “ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการเอาใจใส่สิ่งที่ตัวเองจะรับประทานเข้าไปมากขึ้น ต้องตระหนักว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปทั้งหมดนั้นมีความสำคัญกับชีวิต”
      
       เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่