.. ต่างคน ต่างมุมมอง : ความเห็นน่าสนใจ ที่มีต่อ " มาตรา 44 " ..

.

ส่วนตัวขออนุญาตที่จะไม่ขอแสดงความเห็น เนื่องจากยังไม่มั่นใจในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า จะสามารถคุ้มครองสถานะล็อคอินของพ้ม ให้อยู่รอดปลอดภัยได้หรือไม่..?

ดังนั้นจึงขอคัดเฉพาะรายงานข่าวจากสื่อฯ ที่ได้รับการผ่อนปรนมาลงไว้เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาของความเห็นต่างที่มีต่อมาตรานี้..ดังนี้ครับ..


ทันทีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 ได้ออกเผยแพร่สู่สาธารชน มาตราที่ร้อนแรงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น "มาตรา 44" ที่ระบุว่า

"มาตรา 44 ในอำนาจหัวหน้าคสช.สั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน 

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร โดยไม่ว่าการกระทำนั้น จะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าว ให้มีการรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"


ทั้งนี้  ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นนั้น ก็มีทั้งในฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่รู้สึก "ตะขิดตะขวงใจ" กับมาตราดังกล่าว ซึ่งสามารถประมวลทรรศนะต่างๆ ได้ดังนี้


ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. :

มาตรา 44 ไม่ได้ให้อำนาจ คสช.ในการแทรกแซงฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ รวมทั้งไม่ได้มีอำนาจที่จะไปสั่งการรัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่อย่างใด 

" ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 ต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งทางบวกและทางลบ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หากกระบวนการของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติต้องใช้ระยะเวลานาน หัวหน้า คสช.ก็อาจจะออกคำสั่งหรือประกาศเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม คงไม่ไปไกลถึงขนาดจอมพลสฤษดิ์ที่ไปยุ่งเกี่ยวกับคดีอาญาปกติ "


นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ด้านกฎหมาย :

มั่นใจว่า รธน.มาตรา 44 มีความสร้างสรรค์ ให้สังคมไทย เรื่องการใช้อำนาจพิเศษคู่กันมาตามที่มีองค์กรพิเศษ ถ้า คสช.ไม่อยู่ต่อก็จบ 

"ทั้งนี้ ความจริงเนื้อหาใน รธน. ม.44 มีมาแต่อดีตทุกครั้งที่มีธรรมนูญชั่วคราว 2502, 2515 และเกิดอีกครั้ง 2519, 2520, 2534 ครั้งสุดท้าย คือ พล.อ.สนธิ ยึดอำนาจ ไม่ได้เขียนไป ฉบับนี้จึงเอามาเขียนเอาๆ ไว้ดูถึงความเป็นมาในอดีต ต้องอยู่จะแปรสภาพเป็นอะไรก็ตาม คงต้องดูอนาคตว่า จะใช้มาตรานี้ในเชิงสร้างสรรค์ หรือทำลาย คสช.อยู่ภายใต้การดูของทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว "


นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ :

มาตรา 44 บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้ อาจมีผลบังคับในทาง "นิติบัญญัติและทางตุลาการ" ได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึง ความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ :

เข้าใจว่าคสช.คงศึกษาบทเรียนจากการรัฐประหารครั้งที่แล้วและบทเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยทำให้คสช.ตัดสินใจที่ยังคงอำนาจไว้มากโดยเฉพาะการมีมาตรา 44 ที่ให้คสช.สามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามได้อย่างเบ็ดเสร็จและเป็นที่สุด แม้จะไม่ครบทุกเรื่องก็ตาม คสช.อาจสรุปบทเรียนมาว่ามีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดความลักลั่นกับองค์กรอธิปไตยทั้งสามได้ และยังมีปัญหาความขัดแย้งกันเองของรัฐธรรมนูญ และการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วย หวังว่าคสช.คงไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้เกินความจำเป็นและเหมาะสม


นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :

เนื้อหาของมาตรา 44 ที่ให้อำนาจ คสช. นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก เพราะก็มีโครงสร้างการใช้อำนาจหลักที่คล้ายคลึงกับ ม.17 ของ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502" อันมีใจความดังต่อไปนี้

"มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักรให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ"



ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406118095

สำหรับ ความเห็นคนอื่นๆ เท่าที่พบยังไม่ขอนำมาลงเพราะค่อนข้างแรงไปนิด ค่อยไปศึกษาหาอ่านเอาเองน่ะครับ

ส่วน การแสดงความเห็นใดๆ ก็โปรดให้คำนึงน่ะครับว่า ประกาศฉบับที่  97 และ 103 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคําสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก..

ดังนั้น โปรดระวัง.. และ อย่าหวังปาฏิหารย์จากมาตรา  4 จะช่วยเหลือได้น่ะครับ

ขอให้โชคดี ..ส่วนพ้มขอตัวไปเข้าฌาน เพื่อรำลึกถึงความหลังสมัยเป็นเด็กในยุคที่ทั่นจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้นำประเทศในขณะนั้นสักหน่อยครับ

กู๊ดไนท์..


.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่