ความแตกต่างของ ผู้นำ และ ผู้จัดการ

ภาวะ "ผู้นำ" มีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง "ผู้จัดการ" และคนที่เป็น "ผู้จัดการ" ไม่ใช่ทุกคนที่มี ภาวะ "ผู้นำ"

ภาวะผู้นำ หรือในภาษาอังกฤษที่ทุกคนคุ้นหูกันก็คือ Leadership ใมันเป็นเทรนด์ในการพัฒนาบุคลากรสมัยใหม่ที่เน้นการพัฒนาให้ทุกๆ คน ในองค์กรมีภาวะผู้นำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแค่บุคลากรที่ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการ เท่านั้น

ในโลกการทำงานในปัจจุบัน ความสำเร็จของการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) มากกว่าจะพึ่งการทำงาน แบบ One Man Show ทีมไหน หน่วยงานไหนมีบรรยากาศการทำงานเป็นทีมที่สร้างสรรค์ มีแนวโน้มสูงว่าจะทำงานได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคนเราจะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดี สมาชิกในทีม ควรจะมีภาวะผู้นำ ควบคู่ไปกับความสามารถในการบริหารจัดการงาน โครงสร้างองค์กรสมัยใหม่จึงมีลักษณะของ Flat Organization มากกว่าจะมี Hierarchy หลายลำดับชั้น

จากเทรนด์ของการทำงานและโครงสร้างขององค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ ต่างเฟ้นหาบุคลากรที่มีภาวะผู้นำสูงเข้ามา ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ มากกว่าต้องการเพียงแค่ผู้จัดการเก่งๆ เข้ามาบริหารจัดการงาน

ลองมาดูตัวอย่างความแตกต่างของแนวคิด และวิธีการของ ผู้จัดการ และ ผู้นำ


ผู้จัดการ >> มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ มากกว่าลูกน้อง และมักจะตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของตนเอง
ผู้นำ >> อาจจะไม่ได้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ มากกว่า แต่สามารถ บริหารจัดการ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของทุกๆ คน เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ผู้จัดการ >> เน้นกฎ ระเบียบ กติกา ขององค์กร ในการบริหารจัดการประสิทธิภาพของทีม
ผู้นำ >> เน้นการมีส่วนร่วม การเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีม

ผู้จัดการ >> มอบหมายงาน
ผู้นำ >> มอบหมายแรงบันดาลใจในการทำงาน

ผู้จัดการ >> มุ่งรับและส่งต่อนโยบาย และเป้าหมายจากผู้บริหารลงมาสู่ทีม ด้วยแนวความคิดว่าพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายบริษัท
ผู้นำ >> รับและส่งต่อนโยบายจากผู้บริหารลงมาสู่ทีม โดยพยายามสื่อสารความเชื่อมโยงของนโยบาย และเป้าหมายของผู้บริหาร ให้เข้ากับเป้าหมายของทีม และเป้าหมายส่วนตัวของสมาชิกในทีม

ผู้จัดการ >> ต้องการให้ลูกน้องมีวิธีการทำงาน ในแบบเดียวกันกับตน และพยายามคัดเลือกลูกน้องทีมีลักษณะคล้ายๆ กับตนเอง
ผู้นำ >> เห็นคุณค่าของความแตกต่าง และให้อิสระในวิธีการทำงาน ภายใต้กรอบการทำงานที่ได้ตกลงร่วมกันกับทีม

ผู้จัดการ >> ตีกรอบการทำงานตาม Job Description เป็นหนัก
ผู้นำ >> วางกรอบการทำงานตามเป้าหมายที่ได้ตกลงร่วมกัน

ผู้จัดการ >> เน้นรักษาความสันพันธ์ โดยเลือกแสดงความเห็นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
ผู้นำ >> แสดงความเห็น ในทุกเรื่องที่จะมีส่วนผลักดันให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ด้วย

ผู้จัดการ >> ความเห็นของผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่า เป็นเรื่องสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
ผู้นำ >> ความเห็นของผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่า มีความสำคัญมากๆ พอกับ ความเห็นของลูกทีม และเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน ที่จะนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเอง

ผู้จัดการ >> จะกล้าตัดสินใจ หรือตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีข้อมูลที่ต้องการครบถ้วนสมบูรณ์
ผู้นำ >> สามารถวิเคราะห์และประเมินเพื่อตัดสินใจเบื้องต้นได้ อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

ผู้จัดการ >> เน้นความสัมพันธ์แบบ Win - Lose กับคู่เจรจา เห็นประโยชน์และความสำคัญของผลกำไร/ความได้เปรียบ
ผู้นำ >> เน้นความสัมพันธ์แบบ Win - Win กับคู่เจรจา เห็นประโยชน์และความสำคัญของพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnerhsip) มากกว่าผลกำไร/ความได้เปรียบ

ผู้จัดการ >> การเปลี่ยนแปลง คือ อุปสรรคในการบริหารจัดการทีม
ผู้นำ >> การเปลี่ยนแปลง คือ เรื่องปกติ ที่ต้องเตรียมพร้อมให้ทีมงานรับมือได้

ผู้จัดการ >> มองเรื่องการพัฒนาความรู้และความสามารถเป็นหน้าที่ขององค์กร ที่ต้องรับผิดชอบวางแผน และจัดการให้
ผู้นำ >> มองเรื่องการพัฒนาความรู้และความสามารถเป็นความรับผิดชอบส่วนตน ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบตนเอง

ผู้จัดการ >> เน้นเรื่องการขึ้นเงินเดือน และโบนัส สร้างแรงจูงใจให้กับทีม
ผู้นำ >> เน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพ และ ความก้าวหน้าในงาน สร้างแรงจูงใจให้กับทีม


จากตัวอย่างข้างต้น เราคงพอจะมองออกว่า ความแตกต่างของผู้จัดการ และผู้นำเป็นอย่างไร ในภาวะที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง องค์กรส่วนใหญ่ เน้นการจัดการทรัพยากรในการบริหาร ทั้งคน และเงิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บุคลากรที่มีภาวะผู้นำสูง สามารถทำงาน แก้ไขปัญหา และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้บังคับบัญชาในทุกขั้นทุกตอน จึงเป็นที่ต้องการมากกว่าบุคลากรที่ถนัดทำตามคำสั่ง ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้ยาก หรือ ไม่รู้จักพัฒนาตนเอง

สำหรับผู้ที่กำลังดำรงตำแหน่งผู้จัดการและยังขาดภาวะผู้นำอยู่ อาจจะต้องเริ่มพัฒนาตนเองให้มีความเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันพนักงาน ธรรมดาๆ ที่ไม่มีตำแหน่ง ก็สามารถสร้างภาวะผู้นำให้ตนเองได้  เพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรที่น่าพึงปรารถนาสำหรับองค์กร

หากจะรอให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ บางทีวันนั้นก็อาจจะมาไม่ถึง แต่ภาวะผู้นำคุณสร้างได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้...ภาวะผู้นำสร้างได้!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่