พุทธ-คริสต์ ยกเว้นอิสลาม ไม่เห็นด้วย ฆ่า ข่มขืน โทษประหาร

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 17:50 น.  ข่าวสดออนไลน์


ตัวแทน 3 ศาสนา ร่วมเสวนา "ฆ่า ข่มขืน โทษประหาร สังคมไทยจะก้าวไปทางใด"

วันที่ 17 ก.ค. ที่วัดบ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกสตรี จัดงานเสวนา ฆ่า ข่มขืน โทษประหาร สังคมไทยจะก้าวไปทางใด เพื่อสร้างความตระหนักในการแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราที่เกิดขึ้นซ้ำซากในสังคมไทย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้นในสังคมไทย

สมณะเพาะพุทธ จนฺทเสฏโฐ (ท่านจันทร์สันติอโศก) นักบวช นักเทศน์ ผู้แทนศาสนาพุทธ กล่าวว่า ต้องประหารเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การข่มขืนฆ่า ยืนยันว่าการประหารคือการทำลายชีวิตคน ทางพุทธศาสนาไม่แนะนำให้ทำ จึงเสนอให้ยกเว้นโทษประหารในทุกกรณี เพราะการประหารชีวิตคนมีมานานแล้วแต่ก็ไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้น ควรมีวิธีการอื่นที่ดีกว่า ทางศาสนาเลือกจะสอนให้คนมีศีลธรรม และจิตสำนึกในการสร้างความยับยั้งชั่งใจตนเอง อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยไม่ต้องฆ่า

ดาโต๊ะ ดร.อิหม่าม พัฒนา หลังปูเต๊ะ ผู้แทนพระองค์กษัตริย์แห่งมาเลเซีย ผู้แทนศาสนาอิสลาม กล่าวว่า ศาสนาอิสลามมีหลักการว่า ต้องยึดถือพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า คืออัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคน ซึ่งอัลกุรอานบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ชีวิตต้องใช้ด้วยชีวิต ตาต่อตาฟันต่อฟัน ถ้าข่มขืนคนอื่นต้องถูกลงโทษโดยจับไปเฆี่ยน หรือถูกขว้างด้วยหินจนตาย บางคนมองว่าป่าเถื่อน แต่จริงๆแล้วในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายนี้ แต่ละปีมีคนถูกลงโทษเพียงไม่กี่กรณี วันนี้ไม่ควรจะออกกฎหมายแบบวัวหายล้อมคอก แต่ควรออกกฎหมายป้องปราม ในศาสนาอิสลามไม่เพียงแต่ห้ามผิดประเวณี แต่ยังห้ามไม่ให้เข้าใกล้พฤติกรรมที่เข้าใกล้ความผิดด้วย วันนี้ถ้าเราให้อภัยโดยไม่คิดจะทำอะไร กรณีนายเกมที่ข่มขืนฆ่าเด็กหญิงบนรถไฟ ถ้าจับไม่ได้ก็คงไปก่อเหตุกับคนอื่นๆอีก เราจะปล่อยให้เกิดเหตุอย่างนี้ต่อไปหรือ  ตนเห็นด้วยกับการประหารชีวิต การประหารชีวิตไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการยับยั้งอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น

บาทหลวงวิชัย โภคทวี,เอส.เจ.คณะเยสุอิต ผู้แทนศาสนาคริสต์ กล่าวว่า พวกเราทุกคนสามารถเป็นผู้ร้ายข่มขืนได้ แต่เราโชคดีเกิดในตระกูลดี มีการศึกษาดี มีเพื่อนดี ไม่ติดยาเสพติด แต่มีคนอีกมากที่ไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ดังนั้นบาปนี้จึงเป็นบาปของสังคม เราทุกคนควรช่วยกันแก้ การประหารชีวิตคนร้ายอาจได้ความสะใจ แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ดังนั้นโทษประหารจึงเปรียบเหมือนแค่เอาก้อนกรวดออกจากรองเท้า แต่ถนนที่เราเดินยังเต็มไปด้วยกรวดหิน แล้วทำไมเราจึงไม่ช่วยกันเก็บกวาดถนนนั้นให้สะอาด ครอบครัวต้องเคร่งครัดในการอบรบลูกหลาน โรงเรียนต้องสร้างคนให้เป็นคน สังคมต้องช่วยกันระมัดระวัง ศาสนาต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ดี กฎหมายไม่มีทางครอบคลุม ต้องอาศรัยกฎของธรรมะในจิตใจด้วย

ด้าน นางวิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของมนุษย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายตกเป็นเหยื่อ ด้านหนึ่งคือเหยื่อของความรุนแรง อีกด้านคือเหยื่อของสังคม สังคมไทยยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตกขอบ ไม่ได้รับโอกาส และกลายเป็นผู้กระทำผิด โทษประหารชีวิตในทางสิทธิมนุษยชนทำไม่ได้เลย ในร้อยกว่าประเทศยกเลิกโทษประหารแล้ว แต่ยังมีอีก 58 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ยังมีโทษประหารอยู่ ซึ่งในประเทศไทยก็มีการชั่งน้ำหนักว่าควรจะยกเลิกหรือไม่ กรรมการสิทธิฯ คงต้องไปไตร่ตรองอย่างหนัก สุดท้ายแม้เราจะมีกฎหมายมากมาย แต่การกระทำผิดในสังคมยังมีอยู่มาก จึงควรกลับไปสู่การหล่อหลอมความเป็นมนุษย์โดยศาสนา ครอบครัว และสถาบันศึกษา เพื่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่