บางทีความรู้ทางธรรมมันเกินกำลังของจิต

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ชยสาโร (๖ ก.พ. ๕๓)

... อาทิตย์ที่แล้วอาตมาคุยกับชาวอเมริกันคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองไทย เขามีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่  แกเคยเป็นบาทหลวงตั้งหลายสิบปี
แต่ตอนหลังเกิดเสียศรัทธาแล้วออกจากศาสนาคริสต์ ไปอยู่เชียงใหม่ บ้านก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูป สวยงามมาก บ้านเหมือนพิพิธภัณฑ์
แกเล่าว่า นอกจากเป็นบาทหลวงแล้วแกยังเคยเป็นนักเปียโน ซึ่งในทัศนะของแก เพลงที่ถือเป็นสุดยอดก็มีเพลงของโชแปง


ทีนี้ บางบทบางเพลงของโชแปง แม้แกจะมีความรู้ทางเทคนิคพร้อม รู้โน้ตทุกตัว แต่แกก็ไม่สามารถเล่นเพลงได้ เพราะอะไร ...
เพราะการจะเล่นเพลงให้ได้อย่างโชแปงนั้น ผู้เล่นต้องมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอ ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ในการเล่นที่ยังน้อย
กล้ามเนื้อของแกยังไม่แข็งแรงพอที่จะเล่นเพลงนั้นได้ ต้องฝึกอีกหลายปี กระทั่งกล้ามเนื้อแข็งแรงพอ แกจึงสามารถเล่นเพลงของโชแปงได้


แกสรุปให้ฟังว่าแม้ความรู้ทางวิชาการหรือทางเทคนิคจะรู้หมดเลย แต่ว่าร่างกายยังไม่พร้อม ยังไม่เอื้อ ก็ทำไม่สำเร็จ


ดังนั้น ถึงแม้ว่าเรารู้วิธีการทุกอย่าง แต่ว่ามันยังไม่พร้อมในตอนนี้ เราก็ยังทำไม่ได้ เรียกว่าความรู้มันเกินกำลังของกาย
หากสรุปเข้ากับเรื่องของการปฏิบัติธรรมก็ว่า บางทีความรู้ทางธรรมมันเกินกำลังของจิต

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงสอนให้เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเนื่องอาศัยกันหมด อย่างเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้งสี่ข้อ
มีข้อสังเกตว่าธรรมะทุกหมวดต้องมีตัวแทนของปัญญาอยู่เสมอ และมักจะเป็นข้อสุดท้าย

อย่างเช่น ในอิทธิบาท ๔ ...ข้อที่ ๔ "วิมังสา" ก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา

ในพรหมวิหาร ๔ ..."อุเบกขา" ก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการศึกษา การพิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม

เราอยากให้คนอื่นมีความสุข ไม่ต้องการให้เขาเป็นทุกข์ มีความหวังดี แต่โอกาสที่จะช่วยให้คนอื่นมีความสุข มันก็มีจำกัด
แล้วเวลาคนรอบข้างเราเป็นทุกข์ โอกาสที่จะช่วยดับทุกข์ ที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ มันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอ

บางที เขาไม่เชื่อเรา หรือว่าเขายังติดมากเกินไป หรือว่ามันก็มีข้อขัดข้องต่างๆ ... เมื่อเป็นเช่นนั้น

เราก็ต้องยอมรับความจริงด้วย อุเบกขา อุเบกขาเหมือนกับเป็นเกียร์neutral (N) ในรถยนต์

ก่อนจะเข้าเกียร์ก็ต้องกลับมาอยู่ neutral ก่อน การอยู่ neutral คือ การอยู่อย่างจิตใจปกติสุข

ในขณะที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการทำความดีหรือการช่วยคนอื่น ก็ถือว่า เวลายังไม่พร้อม

หรือว่าตัวเรายังไม่พร้อม หรือว่าคนที่กำลังเป็นทุกข์เค้าไม่พร้อม



แต่เมื่อเราพยายามจะช่วยคนอื่นแล้วไม่ได้ผล ส่วนมากก็จะน้อยใจ เสียใจ ท้อแท้ใจ บางทีเบื่อหน่าย ...ไม่เอาแล้ว !

อย่างนี้ เรียกว่า เมตตาก็ไม่พอ เพราะว่าขาดอุเบกขาหนุนหลัง ...นี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะใช้เมตตา ต้องอยู่ด้วยอุเบกขาก่อน



แต่ในความอุเบกขานั้น ไม่ใช่ความเฉยเมย ไม่สนใจ ไม่เอาแล้ว! หากแต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อไหร่ที่มันเหมาะสมที่จะช่วยได้ผล
ระหว่างนี้เราต้องอาศัยอุเบกขา จึงจะไม่เป็นทุกข์กับความดี ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นทุกข์




ความดีก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ถ้าเราขาดปัญญา หรือว่าใจร้อนเกินไป หรือใจเย็นเกินไป เป็นต้น

ปัญญา จะเป็นตัวบอกว่า กาลใดควรวางท่าทีอย่างไร



ฉะนั้น ธรรมะก็ต้องมาเป็นชุด แม้ศีล สมาธิ และปัญญา หรืออริยมรรคมีองค์แปด ก็ต้องมาเป็นชุดเช่นกัน
(จะแยกหรือเลือกปฏิบัติเป็นบางข้อมิได้) ... "


ที่มา: luangpudu.com

http://www.gotoknow.org/posts/500671
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่