ระหว่างเอาโรงแรมไปกู้แบงค์กับไปขายฝาก ต่างกันยังไงคะ

1 เรื่องจำนวนเงินจากรายละเอียดข้างล่าง ถ้ากู้แบงค์ได้เท่าไหร่ ขายฝากควรให้เท่าไหร่
2 เรื่องระยะเวลาดำเนินการของธนาคาร
3 เรื่องดอกเบี้ย

รายละเอียดเบื้องต้นว่า
โรงแรมสร้างเสร็จปี 50 ที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน ประเมิณเฉพาะที่ดินราวๆ 1 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 160 ล้าน ตบแต่ง 20  ล้าน
รายรับเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้าน หักค่าใช้จ่ายเหลือ 1 ล้าน
ราคาขายของโรงแรมอยู่ที่ 200 ล้านค่ะ

ขอบคุณมากๆๆค่ะ

เพิ่มเติมค่ะ สอบถามเพื่อจะได้ประเมิณว่าควรขายฝากหรือกู้แบงค์ค่ะ ไม่คิดขายกิจการค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 12
1.ถ้ากู้แบงค์ จะให้วงเงินสูงสุด 80% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการหรือราคาประเมินในปัจจุบันอย่างใดต่ำกว่าให้นำมาเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ ต้องมีวัตถุประสงค์ในการซื้อที่ดินและชำระค่าก่อสร้างโรงแรมที่นำมาเป็นหลักประกัน ส่วนการขายฝากอยู่ที่ตกลงกัน ส่วนใหญ่จะให้ 40-70% ของราคาทรัพย์สิน
2.ระยะเวลาดำเนินการของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน หากเป็นธนาคารที่มีมาตรฐานและมีสินเชื่อสำหรับผลิตภัณฑ์โรงแรมโดยตรง ใช้เวลา 3 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
3.อัตราดอกเบี้ยของธนาคารสำหรับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ไม่เกิน MLR. ปัจจุบัน = 6.75% ต่อปีแบบลดต้นลดดอก  ส่วนอัตราดอกเบี้ยของการขายฝากและวิธีการคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ตกลงกัน แต่ตามกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี หรือแล้วแต่ตกลง
      ระหว่างเอาโรงแรมไปกู้แบงค์กับไปขายฝาก ต่างกันดังนี้
กู้แบงค์ใช้วิธีจำนองหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน มีรายละเอียด คือ
1. ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอยู่
2. ถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ธนาคาร(เจ้าหนี้)ต้องฟ้องศาลเสมอ ซึ่งโดยหลักต้องฟ้องเพื่อบังคับจำนองโดยเอาที่ดินออกขายทอดตลาด ถ้าขายที่ดินได้เกินกว่าหนี้และดอกเบี้ยที่ค้าง + ค่าธรรมเนียมศาล + ค่าทนายความที่ศาลสั่งให้ชำระให้อีกฝ่าย (ซึ่งจะไม่มากเท่าไหร่) + ค่าธรรมเนียมบังคับคดี ส่วนที่เกิน ก็จะต้องคืนให้แก่เจ้าของ
3. ในระหว่างฟ้องร้อง ผู้กู้ยังมีทางประวิงคดีไปได้อีกนานพอสมควรเพื่อหาทางเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้
4. ภาษีก็ไม่ต้องเสียเพราะไม่ถือเป็นการขาย จะเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนอง และอากรแสตมป์

การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อขายฝากไปแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกไปยังผู้ซื้อฝาก เพียงแต่มีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ภายในเวลาที่กำหนดกันไว้ มีรายละเอียด คือ
1. ผู้ขายเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญาขายฝาก (ก็คือวันที่ไปรับเงินเขามา) ผู้ขายจะมีแต่เพียงสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนเท่านั้น
2. เจ้าหนี้ไม่ต้องฟ้องศาล เมื่อครบกำหนดไม่นำเงินมาชำระหนี้ทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อทันที ส่วนใหญ่ระยะเวลาขายเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี ผู้ขายไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทัน
3. ในทางภาษี ถือเป็นการขาย เจ้าของทรัพย์สินในฐานะผู้ขายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ยกเว้นจะเข้าเงื่อนไขที่ได้รับยกเว้น เช่นถือครองที่ดินมาเกิน 5 ปีแล้ว เป็นต้น) หรืออากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนขายที่ดิน
      อย่างไรก็ตามการกู้ยืมแบงค์หรือการขายฝาก ควรนำเงินที่ได้ไปลงทุนที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป หากไม่ใช่การนำเงินไปลงทุนหรือสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยจ่าย ไม่แนะนำให้เป็นหนี้หรือขายฝากครับ
หัวใจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่