Tempy Movies Review รีวิวหนัง: Enemy {Denis Villeneuve [Canada], 2013


เอาจริงๆเลย คือแต่แรกเรานึกว่าหนังเรื่องนี้จะพูดถึงเรื่องเผด็จการที่เกิดขึ้นในระดับสังคมเมือง แต่ความจริงแล้วหนังนี้ไม่ได้พูดประเด็นอะไรที่ไกลตัว นอกไปเสียจากเรื่องของการต่อสู้ของจิตใจเราเอง ในความเห็นของเรา อดัม ตัวเอกของเรื่องที่เชื่อมโยงเรื่องราวพิศวงทั้งหมดเข้าด้วยกัน เขาเป็นอาจารย์มหาลัยฯ ประจำหน้าที่สอนในแผนกสาขาประวัติศาสตร์ พร่ำสอนนักศึกษาถึงเรื่องของเผด็จการ ซึ่งแน่นอนล่ะว่าเมื่อพูดถึงคำนี้ เราคงรู้สึกอึดอัดไม่ใช่น้อยเฉกเช่นถูกจองจำไว้สักที่ใดที่หนึ่ง ตกเย็นมาเข้าก็จะนัดพบกับแฟนสาว กิจกรรมที่ทั้งคู่ทำร่วมกันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเซ็กส์

โดยส่วนตัวเราคิดว่าชีวิตของอดัมเหมือนเป็นสนามสงครามระหว่างอิดและซูเปอรือีโก้ ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (การโหยหาเซ็กส์ ไม่สนใจใยดีในแม่ของตนเองเป็นตัวแทนของอิด และการยอมจำนน เข้าใจยอมรับในกรอบของสังคม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือสภาพความเป็นอาจารย์ เหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของซูเปอร์อีโก้) ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า แอนโทนี่ คือใคร ในทัศนคติของเราเขานี่แหละคืออีโก้ หรือตัวตนที่แท้จริงที่แสดงออกมา

ในหลายครั้งที่ผลของสงครามออกมาเป็นว่าซุเปอร์อีโก้ชนะ (เขาอยู่กับเฮเลน ภรรยาของเขาอย่างมีความสุข) แต่ในตอนท้ายจิตใจของเขาก็ต้องผ่ายแพ้ให้กับอิด ผลที่ตามมาก็คือเขาไปมีชู้ (ซึ่งตอนหลังหนังก็เผยว่าหญิงที่อดัมร่วมรัก แท้จริงแล้วก็คือชู้รักหักสวาทนั่นเอง) หรือเข้าบาร์เปลือย

อันที่จริงหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นตัวเอกต้องการหาทางออกจาก “สภาวะเผด็จการที่เกิดขึ้นในใจ” ในแง่ของสภาพสมรสที่ทำให้ตัวเอกอึดอัด แล้วจึงไปมีชู้เพียงอย่างเดียว ความรู้สึกอึดอัดนอกจากจะมาจากภรรยาของเขาแล้ว อีกส่วนที่หนังจงใจบอกกับเราก็คือ เขาก็รู้สึกอึดอัดเพราะแม่ของเขาด้วยเช่นกัน แม่ผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยในตัวลูกอยู่เสมอ (สังเกตได้ว่าเสียงแรกที่เราได้ยินในหนังก็คือเสียงแม่ของอดัม หรือจริงแล้วก็คือแม่ของแอนโทนี่) ในหนังจะปรากฎทั้งฉากที่แอนโทนี่ละเลยโทรศัพท์จากแม่ และฉากที่เขาไปขอคำปรึกษา ซึ่งทั้งสองก็เป็นผลจากสงครามทางจิตในตัวเขานั่นเอง

ฉากในหนังก็มีส่วนสำคัญ บ้านเมืองที่อดัมอาศัอยู่จะมีบรรยากาศอึมครึม เงียบเหงา และดูจะเก่ากว่ายุคสมัยที่แอนโทนี่อยู่ (นี่ยังไม่พูดถึงยี่ห้อแลปทอปที่ทั้งคู่ใช้ซึ่งบอกได้ถึงว่ายุคสมัยไหนที่ยี่ห้อไหนมาแรง) เป็นไปได้หรือไม่ว่าจิตใจส่วนลึกของแอนโทนี่ได้ถูกทิ้งไว้ และไม่เจริญเติบโตไปพร้อมกับร่างกายของเขา และอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าในท้ายที่สุดผลของการที่กายกับใจไม่ไปพร้อนกันจะเป็นอย่างไร

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องเป็นแมงมุม ไม่ว่าจะเป็นตัวแมงมุมเองที่ปรากฎตั้งแต่ฉากแรกๆของหนัง (ในบาร์ที่มีหญิงเปลือยนางหนึ่งกำลังจะเหยืยบแมงมุมให้แนบไปกับพื้น) หรือจะเป็นฉากที่แมงมุมขนาดมหึมาเหยียบย่ำลงบนตึกรามบ้านช่องใจกลางกรุงโตรอนโต และฉากสุดท้ายแอนโทนี่พบว่าอดัม (ซึ่งเอาจริงๆ เขาก็คือแอนโทนี่นั่นแหละ) พบว่าจู่ๆ เฮเลนก็กลายเป็นแมงมุมยักษ์ หลังจากที่เขาหาเรื่องจะหนีภรรยาไปเที่ยวยามราตรี (อีกแล้ว)

เราว่างานประติมากรรมรูปแมงมุมที่มีชื่อว่า Maman ของลูอิส บูจัวส์ (ซึ่งเราว่าคล้ายกับแมงมุมในหนังเรื่องนี้มาก) ที่แสดงอยู่ที่ National Gallery ที่แคนาดา ซึ่งถ้าตามวิกิพีเดีย เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้แรงบรรดาลใจมาจากแม่ของเธอที่ทำงานเป็นคนซ่อมผ้าม่านเพื่อหารายได้คำ้จุนครอบครัว เช่นเดียวกับแมงมุมที่กินยุงที่เป็นพาะนำพาโรค พร้อมๆกัน เส้นใยที่แมงมุมทักทอจึงเปรียบเป็นเส้นใยความรักระหว่างเธอกับแม่

เราว่าแมงมุมในเรื่องก็คือผู้นำเผด็จการสองคน (ที่สตรีเปลื้องผ้าในไนท์คลับต้องการจะเหยียบให้ตายคาเท้าของเธอ) กล่าวคือแม่และเฮเลน ที่คอยตักเตือน ชักนำให้แอนโทนี่เข้าร่องเข้ารอย และถึงแม้ว่าในสายตาของแอนโทนี่ ช่วงเวลาแห่งอิสระเสรีของเขาจะหมดสิ้นลงไปแล้ว แต่เราว่าเสรีภาพคงไม่ได้หมายถึงการนอกใจภรรยาหรืออยากจะละทิ้งแม่ของตนได้ตามอำเภอใจหรอกน่ะ

ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ทางเฟสได้เลยน่ะครับ https://www.facebook.com/survival.king
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่