ซีอานเปิด “ขบวนรถไฟท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม”

ซีอานเปิด “ขบวนรถไฟท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม” เตรียมผลักความร่วมมือบนเขตเศรษกิจเส้นทางสายไหม
“เส้นทางสายไหม” (new silk road) กำลังเป็นคำที่หลายๆประเทศกล่าวถึงและให้ความสนใจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น “แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) หรือ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime silk road) ซึ่งนครซีอานถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางบกในอดีต และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่พยายามผลักดันความร่วมมือต่างๆบนแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมมาโดยตลอด
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2257 กรมรถไฟแห่งนครซีอาน ร่วมมือกับกรมการท่องเที่ยวแห่งนครซีอาน และรัฐบาลเมืองต่างๆบนเส้นทางอีก 14 เมือง เปิดให้บริการเที่ยวรถไฟ “ฉางอันห้าว” ขบวน 2067 ขบวนรถไฟการท่องเที่ยวบนเส้นทางสายไหมเที่ยวพิเศษ (丝绸之路旅游专列)อย่างเป็นทางการ โดยมีหัวข้อหลักของโครงการคือ “เส้นทางสายไหมกับการชื่นชมประเพณีวัฒนธรรมภาคตะวันตก” ซึ่งในปีนี้รถไฟขบวนนี้จะวิ่งเส้นทางภายในประเทศ และจะเปิดให้บริการสู่ต่างประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ขบวนรถไฟนี้มีกำหนดการเดินทางทั้งสิ้น 11 วัน โดยมีผู้โดยสารจำนวนเกือบ 600 คน ร่วมเดินทางไปกับขบวน โดยเส้นทางสายไหมนี้มีระยะทางทั้งสิ้น 7,000 กว่ากิโลเมตร เป็นระยะทางในประเทศจีน 4,000 กว่ากิโลเมตร ผ่าน 20 กว่าเมือง ออกเดินทางจากนครซีอาน ผ่านมณฑลกานซู เมือง Urumqi เมือง Beitun  เมือง Turpan เขตปกครองตนเองซินเจียง โดยผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆมากมาย อาทิ  Mogao Grottoes , Crescent Lake , Tianshan Lake,  Kanas Lake



บทส่งท้าย
การฟื้นฟูแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมขึ้นมาอีกครั้งเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนวางแผนไว้ เพื่อมุ่งพัฒนาฝั่งตะวันตกของจีน และการใช้จีนเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ศูนย์กระจายสินค้าและจุดโลจิสติกส์ไปยังประเทศอื่นๆ  ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาร่วมกันระหว่างจีนและกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง ทั้งนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวบนเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมนี้จัดได้ว่าเป็นความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับกระแสและวิสัยทัศน์ของผู้นำของจีนที่ไม่เพียงมุ่งหวังความร่วมมือทางด้านการค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงด้านสังคม และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับกรอบแนวทางของ องค์การท่องเที่ยวโลก (world tourism organization ,WTO) ในการฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวบนเส้นทางสายไหมและนับว่าเป็นความร่วมมืออย่างแรกที่รัฐบาลสามารถผลักดันได้ก่อน เพื่อริเริ่มความร่วมมือในด้านอื่นๆต่อไป
นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจีนขณะนี้ก็กำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของเส้นทางสายไหม รวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆที่อยู่ในเขตเส้นทางนี้ ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตเส้นทางสายไหมทางบก แต่ประเทศไทยก็อยู่ในเขตเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งกำลังมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงจีนกับอาเซียนในอนาคตเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] องค์การท่องเที่ยวโลก(world tourism organization ,WTO) ได้วางแผนงานโดยร่วมมือกับกลุ่มประเทศบนเส้นทางสายไหมจำนวน 24 ประเทศ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวบนเส้นทางสายไหม ซึ่งได้เคยมีการหารือระหว่างกันในข้อริเริ่มต่างๆ อาทิ การตลาดร่วม การแก้ปัญหาด้านการขนส่ง และการทำวีซ่า เป็นต้น

1. ซีอานผลักครม.เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม จับมือมณฑลและนานาประเทศหารือแนวทาง

แหล่งที่มา
1. http://news.163.com/14/0619/03/9V2Q032500014AED.html
2. http://aric.adb.org/initiative/world-tourism-organization-silk-road-project

2 กรกฎาคม 2557
แหล่งข้อมูล: http://news.163.com/14/0619/03/9V2Q032500014AED.html (19/07/2014)
โดย: ดรุโณทัย แสงสุข ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน
จีน, ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน

http://www.thaibiz.net/th/news/detail.php?ID=16504

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่