เสียง กับ สำเนียง

สวัสดีค่ะ

พอดีได้อ่านกระทู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษที่ผิดของคนไทย และมีหลายคนพูดถึงเรื่องสำเนียงกันมาก เลยอยากทำความความเข้าใจระหว่าง เสียง กับ สำเนียง

สำหรับดิฉัน English as a foreign language นะคะ ไม่ได้เก่งมากมาย แต่สำเนียง near native speaker (ชมตัวเอง 555)
แค่จะบอกว่าสำเนียงดีไม่ได้แปลว่าจะฟัง พูด อ่าน เขียนเก่งนะคะ

มาต่อด้วยเรื่องประเด็นของ เสียง และ สำเนียง
เสียงในภาษา คือ เสียงที่เราเปล่งออกมาผ่านช่องคอหอย ช่องปากและฟัน รวมไปถึงริมฝีปาก ที่เรียกว่า ฐานและกรณ์นั่นเอง
เสียงทุกเสียงไม่ได้มีความหมายในตัว หลายๆเสียงต้องมีการนำเสียงมารวมเป็นหน่วยคำ วลี ประโยค และหน่วยที่ใหญ่กว่าประโยค
ภาษาจะไม่เป็นภาษา หากเราไม่มีสามัตถิยะทางภาษา คือรู้ภาษา รู้หลักไวยากรณ์ การออกเสียง เช่น ถ้าเราไม่รู้ภาษาจีน ภาษาก็จะเป็นแค่เสียงสำหรับเรา แต่ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากนี้ยังต้องมีสามัตถิยะทางการสื่อสาร คือ รู้ว่าควรใช้เมื่อใด ใช้อย่างไร (time & setting) เพราะภาษามีทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ส่วนสำเนียง คือ ลักษณะน้ำเสียงและการเปล่งเสียงในแต่ละบุคคล ซึ่งคนในพื้นถิ่นเดียวกันก็จะมีสำเนียงการพูดที่คล้ายคลึงกัน แต่ละสังคมก็จะมีการเลือกสำเนียงที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดมาเป็นสำเนียงมาตรฐาน ซึ่งโดยหลักการแล้ว ภาษาทุกภาษาจะมีการพัฒนาเพื่อให้เข้าใกล้ภาษามาตรฐานมากที่สุดและจะเป็นไปแบบอัตโนมัติ คนทั่วไปจึงมองว่าสำเนียงที่ดีจะต้องพูดให้เหมือนกับภาษามาตรฐาน(ทั้งรูปแบบ ไวยากรณ์ เสียงและความหมาย) สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสำนึกที่หยั่งรากลงไปในสังคม กลายเป็นว่าการพูดไม่เหมือนภาษามาตรฐานเป็น stigmatization เพราะ Traditional Grammar เองก็มองภาษาที่ผิดรูปแบบไปจากภาษามาตรฐานเป็นเช่นนั้น แต่ตอนหลังมีแนวทางทฤษฎีแบบใหม่ รวมไปถึงภาษาศาตร์สังคมเข้ามาทำให้ความเข้าใจในความหลากหลายของภาษามากขึ้น  แต่กระนั้นความคิดเรื่องภาษามาตรฐานและภาษาที่มีลักษณะดี-เลว ก็ยังคงอยู่ในทุกชาติทุกภาษา

สำเนียงเป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลนั้นๆ เกิดจากการใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่เด็ก การผึกฝนเรื่องสำเนียงจึงควรทำตั้งแต่เสียงยังไม่แตกหนุ่มสาว เพราะหลังจากนั้น การจะเปลี่ยนสำเนียงการพูดจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องอาศัยทั้งความพยายามและพรสวรรค์ แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆนั้นจะพูดได้แบบ Native Speaker ยกตัวอย่างภาษาไทย คนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างก็มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งคนไทยฟังจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นคนท้องถิ่นไหน และทุกคนก็เข้าใจและสามารถพูดภาษามาตรฐาน(ภาษาไทยกลาง)ได้ แม้จะยังติดสำเนียงถิ่นของตนแต่เราก็ฟังเข้าใจ นั่นคือไม่ว่าจะสำเนียงไหนขอเพียงออกเสียงได้ถูกต้อง ถูกไวยากรณ์ ก็สามารถเข้าใจได้

อยากให้มองว่าสำเนียงภาษาถิ่นนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกที่มา ประเพณีวัฒนธรรมของคนถิ่นนั้น เป็นความหลากหลายทางภาษาที่งดงาม มากกว่าจะมองว่าเป็นลักษณะที่ดีหรือเลว เช่นเดียวกัน การที่คนไทยพูดภาษาอังกฤษแล้วติดสำเนียงไทย ก็เป็นเอกลักษณ์แบบไทยไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอายอะไรเลย  แต่การพูดให้ถูกต้องและใกล้เคียงมาตรฐานก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะเวลาพูดกับเจ้าของภาษาจะทำให้เข้าใจและสื่อสารกันได้ดีขึ้นนั่นเอง

สุดท้าย ถ้าอยาก ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาต่างประเทศเก่งๆ ก็ต้องฝึกฝนอยู่เสมอ กล้าที่จะพูด ไม่มีใครให้พูดด้วยก็พูดแม่มคนเดียวเลย 555 อินเตอร์เน็ตมี Youtube มีก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ การเรียนภาษาตามโรงเรียนบางครั้งก็เป็นการสิ้นเปลืองมากเกินไปทั้งเงินและเวลา แต่ถ้ามีเงินมีเวลาก็แล้วแต่เนอะ จุ๊บๆ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่