ความสำเร็จอยู่ที่ใจ

กระทู้สนทนา
ความสามารถของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย  นอกจากสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรแล้ว  
สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยก็คือ สำนึกว่าเราเป็นใคร

คล็อด สตีล ( Claude Steele) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกับคณะ  เคยทดลองให้นักศึกษาทำแบบทดสอบชิ้นหนึ่ง
โดยบอกว่าเป็นการวัดความสามารถทางสติปัญญา  ปรากฏว่านักศึกษาผิวดำทำคะแนนได้น้อยกว่านักศึกษาผิวขาว  
แต่พอเอาแบบทดสอบชิ้นเดียวกันนั้นให้นักศึกษาทำ โดยบอกเพียงแค่ว่าเป็นแบบทดสอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติการ
ไม่เกี่ยวกับการวัดความสามารถแต่อย่างใด ปรากฏว่านักศึกษาผิวดำกับผิวขาวทำคะแนนได้ไม่ต่างกัน

ในทำนองเดียวกันเมื่อให้นักศึกษาหญิงทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ โดยบอกว่าเป็นการวัดความสามารถ
ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมาต่ำกว่านักศึกษาชายที่มีความรู้ระดับเดียวกัน  แต่พอบอกว่าแบบทดสอบนี้เป็นเพียง
เครื่องมือสำหรับการวิจัย  นักศึกษาหญิงสามารถทำคะแนนได้มากพอ ๆ กับนักศึกษาชาย



Claude Steele (American social psychologist)


ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น   มีคำอธิบายว่า  เมื่อนักศึกษาผิวดำหรือนักศึกษาหญิง ได้รับการบอกว่า
แบบทดสอบที่ตนกำลังทำนั้น เป็นการวัดความสามารถของตน  นักศึกษาเหล่านั้นจะรู้สึกว่า
ตนกำลังถูกทดสอบในฐานะที่เป็นคนผิวดำหรือผู้หญิง  ถึงตรงนี้ทัศนคติกระแสหลัก(sterotype)
ที่มองว่าคนผิวดำหรือผู้หญิงมีความสามารถด้อยกว่าคนผิวขาวหรือผู้ชาย ก็เข้ามามีอิทธิพลต่อ
ความรู้สึกของนักศึกษาเหล่านั้น  ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง    จึงทำคะแนนได้ไม่ดี  
จริงอยู่อาจมีบางคนที่ต้องการพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นมอง  จึงมีความตั้งใจมาก
ในทำแบบทดสอบดังกล่าว แต่ยิ่งตั้งใจมาก ก็ยิ่งเกร็งหรือเครียด จึงทำผลงานได้ไม่ดี  
ตรงข้ามกับเวลาที่นักศึกษาเหล่านั้นทำแบบทดสอบที่(ถูกบอกว่า)ไม่ได้ชี้วัดความสามารถอะไรเลย  
พวกเขาจะทำสบาย ๆ โดยไม่กังวลถึงสายตาของใคร  และโดยไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนผิวดำหรือผู้หญิงด้วยซ้ำ  
ผลงานจึงออกมาดีไม่ด้อยไปกว่านักศึกษาผิวขาวหรือผู้ชาย




ความสำนึกว่าตนเป็นใครนั้นสามารถส่งผลในทางบวกหรือลบต่อความสามารถก็ได้   แม้แต่คน ๆ เดียวกัน
ผลงานก็อาจขึ้นหรือลงขึ้นอยู่ว่า มีสำนึกในตัวตนอย่างไร  ดังเห็นได้จากการทดลองของมาร์กาเร็ต ชิน (Margaret Shin)
และคณะ ซึ่งขอให้ผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียมาทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์  โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม  
กลุ่มแรกถูกถามเกี่ยวกับเพศของตน  เช่น ถูกถามว่าชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับหอพักรวม (เพื่อปูทางให้เธอคิดถึงเรื่องเพศของตน)  
ส่วนอีกกลุ่ม ถูกถามเกี่ยวกับเชื้อชาติของตน เช่น ภาษาที่พวกเธอใช้ที่บ้าน รวมถึงประวัติความเป็นมาของครอบครัวเธอ
(เพี่อปูทางให้พวกเธอคิดถึงเชื้อชาติของตน)

ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมาของสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มที่ถูกถามเกี่ยวกับเพศของตนทำคะแนนได้แย่กว่า
กลุ่มที่ถูกถามเกี่ยวกับเชื้อชาติของตน   ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ กลุ่มแรกนั้นจะถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกในความเป็นผู้หญิง
ซึ่งทำให้หวั่นไหวต่อความคิดกระแสหลักที่มองว่าผู้หญิงไม่เก่งคณิตศาสตร์  ขณะที่กลุ่มที่สองนั้น เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิด
สำนึกในความเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในตนเองเพราะทัศนคติของคนทั่วไปในสหรัฐอเมริกามองว่า
คนเชื้อชาตินี้เก่งเป็นพิเศษในด้านคณิตศาสตร์

การทดลองดังกล่าวนอกจากจะยืนยันว่า สำนึกว่าตนเป็นใครมีผลต่อความสามารถที่แสดงออกมา (โดยสัมพันธ์กับสายตาของคนอื่น)  
ยังชี้ว่าคนเรานั้นมีสำนึกในตัวตนที่หลากหลาย  ผลงานที่ออกมาจึงแตกต่างไปด้วย  สุดแท้แต่ว่าผู้คนมีทัศนคติต่อตัวตน
(หรืออัตลักษณ์)นั้นอย่างไร   แม้สำนึกในตัวตนนั้นที่แตกต่างกันนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์หรือการกระตุ้นจากภายนอก
(ดังตัวอย่างการทดลองที่กล่าวมา) แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะมีสำนึกในตัวตนแบบไหน  
แท้จริงแล้วเราสามารถเลือกมีสำนึกในตัวตนชนิดที่เสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเองได้  แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีสติรู้ทัน
เวลาเกิดสำนึกในตัวตนที่เป็นลบหรือต่ำต้อยในสายตาของคนอื่นด้วย  หาไม่แล้วก็อาจหวั่นไหวต่อทัศนคติดังกล่าวได้ง่าย

อย่างไรก็ตามจะดีกว่าไหมหากเราวางสำนึกในตัวตนลงเสีย  เวลาทำงานใดก็ตาม ใจก็อยู่กับงานที่ทำ
โดยไม่ปล่อยให้สำนึกในตัวตนนั้นครอบงำใจ  รวมทั้งไม่แคร์ด้วยว่าใครจะมองว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง  
ผลงานจะออกมาอย่างไรก็ไม่กังวลเพราะไม่สนใจคำชื่นชมหรือคำวิพากษ์วิจารณ์  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
ทำงานด้วยจิตว่าง เป็นหนึ่งเดียวกับงาน โดยไม่พะวงกับอะไร แม้จะมีรางวัลเป็นผลตอบแทนก็ตาม

จางจื๊อ ปราชญ์ชาวจีนในพุทธศตวรรษที่สาม ได้เล่าถึง “ขิง” ซึ่งแกะสลักที่แขวนระฆังได้อย่างงดงามราวเทวดาเนรมิต  
เมื่อถูกถามว่าเขามีความลับอย่างไรในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้  เขาตอบว่า เขาไม่มีความลับอะไรดอก  
ก่อนทำงานเขาเพียงแต่ทำจิตให้สงบ

ผ่านไปสามวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงผลได้และความสำเร็จ”  

ผ่านไปห้าวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงคำชมและคำวิจารณ์”

ผ่านไปเจ็ดวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงร่างกาย”

ถึงตอนนี้เขาไม่ได้นึกถึงอะไรเลย ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจของเขาจากงาน  

“ข้าพเจ้าประมวลความคิดลงเป็นหนึ่งแต่ในเรื่องที่แขวนระฆัง”  

เมื่อเขาเข้าป่า ได้เห็นต้นไม้ที่เหมาะ รูปร่างของที่แขวนระฆังก็ปรากฏแก่สายตาของเขา  
แล้วเขาก็ “เพียงแต่ใช้มือเริ่มทำรูปร่างนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา”

จางจื๊อยังพูดถึงนายขมังธนูผู้สามารถว่า

“เมื่อนายขมังธนูยิงโดยไม่หวังอะไร ย่อมใช้ความชำนิชำนาญได้เต็มที่  
ถ้ายิงเพื่อโล่ห์ทองเหลือง ย่อมประหม่าเสียแต่แรกแล้ว  
ถ้ายิงเอาทองเป็นรางวัล เลยตาบอดเอาด้วยซ้ำ  
หาไม่ก็เห็นเป้าเป็นสองเป้าเพราะใจไม่อยู่กับตัว”  

แท้จริงแล้วความชำนาญของเขาไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย  
แต่เป็นเพราะ “ความต้องการเอาชนะทำให้อำนาจของเขาขาดหายไป” (สำนวนแปลของส.ศิวรักษ์ ใน มนุษย์ที่แท้)


นักฟุตบอลระดับโลก  เมื่อต้องยิงลูกโทษในนัดสำคัญ  หากเขาพะวงว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ายิงไม่เข้า
หรือเพียงแต่คิดว่านี้คือวินาทีแห่งความเป็นความตายของทีมเขา  มีโอกาสมากที่เขาจะยิงพลาด
ทั้ง ๆ ที่ตอนซ้อม เขาสามารถยิงประตูได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  ในทางตรงข้ามหากเขาไม่คิดถึงอะไร
ใจแน่วแน่อยู่กับลูกฟุตบอลข้างหน้า มีโอกาสสูงมากที่ฟุตบอลจะเข้าไปตุงตาข่ายคู่แข่ง

ความสำเร็จของนักฟุตบอลชั้นนำนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถเท่านั้น แต่อยู่ที่ใจด้วยว่าจะนิ่งเพียงใดในช่วงเวลาอันสำคัญ
ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะทำงานได้สำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการวางใจด้วยว่าจะนิ่งหรือ “ว่าง”เพียงใด
ทั้งจากสำนึกในตัวตน จากสายตาของผู้คน และจากความคาดหวังในผลงาน  




นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๔๐ :: มิถุนายน ๕๖ ปีที่ ๒๘

คอลัมน์รับอรุณ :  ความสำเร็จอยู่ที่ใจ
พระไพศาล วิสาโล
http://visalo.org/article/sarakadee255606.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่