แอดมิชชั่นกับความไม่เท่าเทียมทางความสามารถ

เมื่อถึงช่วงใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัย เหล่านักเรียนก็ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเพื่อให้ตนเป็นผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและได้เป็นหนึ่งในนักศึกษาของคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนใฝ่ฝัน เพื่อที่จะได้ทำงานดีๆและมีสถานะสูงในสังคมซึ่งตัดสินกันที่การศึกษานี้

การตัดสินด้วยผลการเรียนเป็นการคัดเลือกที่ถูกมองว่าใช้เกณฑ์ทางความสามารถและความพยายาม ดังนั้นจึงเป็นมาตรฐานที่ชอบธรรมในการตัดสินอนาคตของคนคนหนึ่ง กำหนดความเป็นอยู่ในอีกหลายสิบปีจนกว่าจะสิ้นชีวิต อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่ตัดสินกันด้วยความสามารถนั้นเป็นความไม่เท่าเทียมเชิงระบบ มันไม่ได้วัดความพยายามหรือความสามารถที่บุคคลนั้นสั่งสมขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะความสามารถเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เกิด

มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าคนเราเกิดมาพร้อมความสามารถที่ไม่เท่ากันและความพยายามในรูปแบบและจำนวนเดียวกันอาจให้ผลลัพธ์กันคนละแบบเลยก็ได้ ถ้าหากผู้อ่านมองไปรอบตัว ก็คงมีหลายคนรอบตัวผู้อ่านที่ไม่ต้องพยายามอะไรก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี หรือพยายามแทบตายก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี รวมถึงตัวผู้อ่านเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ก็ได้

แม้จะบอกว่าความสามารถมาทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมผสมผสานกัน ทว่าไม่ว่าจะพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างที่อยู่อาศัยหรือฐานะของครอบครัว ก็ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนไม่สามารถเลือกสิ่งที่ต้องการได้ ดังนั้นการตัดสินคนจากสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างจากการแบ่งแยกตัดโอกาสคนด้วยเชื้อชาติ ลักษณะทางร่างกายเช่นสีผิวหรือเพศ หรือสถานะทางการเงินไม่ใช่หรือ

ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ความสามารถยังเป็นเกณฑ์สำคัญยิ่งกว่าเกณฑ์อื่นๆไม่ว่าจะสายเลือด เชื้อชาติ ฯลฯ เพราะความสามารถเป็นเพียงเกณฑ์เดียวที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ให้หรือตัดสิทธิของผู้อื่นอย่างกว้างขวาง เพราะเกณฑ์อื่นๆนั้นไม่ได้รับการยอมรับในฐานะเกณฑ์ที่ยุติธรรมแล้ว และอาจถูกเลิก หรือไม่ก็อยู่ในรูปแบบแอบแฝงโดยไม่สามารถประกาศออกหน้าออกตาได้

เราอาจจะไม่สามารถเขียนลงในใบประกาศสมัครงานหรือใบบอกคุณสมบัติคัดเลือกคนเข้าเรียนได้ว่าต้องการเฉพาะคนจนเท่านั้น คนรวยเท่านั้น หรือการเขียนลงไปว่าต้องการเพศหญิงเท่านั้น หรือเพศชายเท่านั้นก็อาจถูกตำหนิว่ากำลังเหยียดอยู่ แต่เราสามารถเขียนเกณฑ์ความสามารถได้อย่างอิสระโดยไม่มีใครตำหนิเลย ตัวอย่างเช่น ต้องการคนที่จบปริญญาขึ้นไป ต้องการคนที่ได้คะแนนในการทดสอบภาษาอังกฤษกี่คะแนนขึ้นไป ต้องการคนที่มีเกรดเฉลี่ยมากกว่าเท่าใด หรือพวกแบบทดสอบบุคลิกภาพและความถนัดที่องค์กรต่างๆใช้คัดคนเข้าทำงาน

แต่ความจริงแล้วความสามารถแตกต่างกับหลักเกณฑ์อื่นๆจริงหรือ ในเมื่อการตัดสินด้วยความสามารถนั้นอาจทำให้คนที่พยายามที่สุดเสียโอกาส ในขณะที่ทำให้คนที่ขี้เกียจที่สุดได้โอกาสนั้นไปก็ได้ ดังนั้น ผู้เขียนขอเสนอว่า ควรเลิกใช้ความสามารถและผลงานในการตัดสินความขยันหรือความพยายาม เพราะมันไม่เชื่อมโยงกันจนกว่าจะมีการเพิ่มความสามารถของมนุษย์ทุกคนให้เท่าเทียมกันเสียก่อน รวมถึงไม่ควรใช้เกณฑ์ความสามารถในการตัดโอกาสทางการศึกษาด้วย

การตัดสินโดยใช้เกณฑ์ความสามารถเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งที่ผู้คนมักไม่รู้สึกตัว ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมที่แฝงอยู่ในการตัดสินคนด้วยความสามารถรอบตัวของพวกเราทุกคนและมุ่งหน้าไปสู่การแก้ไขให้ดีและเท่าเทียมขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่