โยนิโสมนสิการ

อีกประการหนึ่งก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่า การทำไว้ในใจจับให้ถึงต้นเหตุ


ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก อกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล
และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก กุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว
ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณา จับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ
ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง  ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นเบื้องต้น ของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง


ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือจะคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมดต้องอาศัยมีกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการมาตั้งแต่เบื้องต้น
เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ ก็เปรียบเหมือนว่าเป็นอรุณ
เป็นเบื้องต้นของความสว่างของสัมมาปฏิบัติ คุณงามความดีทั้งสิ้น อันนับว่าเป็นความสว่าง
จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการดั่งนี้ และในหมวดธรรมบางหมวด ก็ได้ตรัสอธิบายขยายความออกไปในทางปฏิบัติ
ว่าส้องเสพคบหาสัตบุรุษคือคนดีก็ได้แก่ กัลยาณมิตรนี้เอง


ฟังธรรมของคนดี มีโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ คือนำเอาธรรมที่ฟังมาใส่ไว้ในใจตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง
ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผลและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม


ข้อใดที่พึงละ ......ก็ละ
ข้อใดที่พึงปฏิบัติ ......ก็พึงปฏิบัติ
ข้อใดที่พึงปฏิบัติก่อน ......ก็ปฏิบัติก่อน
ข้อใดที่พึงปฏิบัติภายหลัง ......ก็ปฏิบัติภายหลัง


....ดั่งนี้เป็นต้น  เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้
ก็เป็นอันว่านำให้ได้ "สัมมาทิฏฐิ"  คือความเห็นชอบความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม
นำเข้ามาสู่สัทธรรมคือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมที่ดีคือถูกต้อง คือพระธรรมวินัยนี้ดั่งนี้


เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมา อธิบายไว้เป็นประการแรก
และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล
อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม
นำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง


และเมื่อเป็นดั่งนี้
ก็ย่อมจะเป็นเหตุ   ให้ปฏิบัติละกิเลสที่นอนจม หมักหมมจิตสันดานอันเรียกว่า อาสวะ หรือเรียกว่า อนุสย อันยกขึ้นมา


ก็คือว่า เป็นเหตุให้ละราคานุสัย กิเลสที่นอนจม หมักหมมจิตสันดาน คือราคะ
บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ  ความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ
ถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชาให้บังเกิดขึ้น
จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ ได้ดังนี้


เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนาอันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป
ก็คือ ปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความ เห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้ รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล


แต่ว่า พึงทำความเข้าใจด้วยอีกว่า ความรู้จักที่เป็นตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สัญญาคือความทรงจำ
ความทรงจำนั้นก็คือความทรงจำตามที่ฟัง ตามที่อ่าน ตามที่เล่าเรียน ก็จำได้ว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง
กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๓ มีอะไรบ้างก็จำได้  ความจำได้ดั่งนี้ยังไม่เป็นปัญญา ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว
ต้องอาศัยความคิดพินิจ พิจารณาและการปฏิบัติอีกด้วย คือว่าต้อง คิดพิจารณาไปและต้องปฏิบัติไป
การปฏิบัติไปนั้นก็คือ ปหานะ ละ อย่างหนึ่ง ภาวนา ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น อย่างหนึ่ง


ละ ก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถ ทั้ง ๑๐   ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่ เป็นข้อที่ต้อง ปฏิบัติฝึกหัดละ


ภาวนาคือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐
และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้นให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ นี้ก็รวมเข้าในคำว่า สุตะ จินตา
ภาวนาซึ่งเป็นเหตุให้ได้ปัญญา ปัญญาที่ได้จากสุตะคือการสดับการอ่านการเรียนก็เรียกว่า สุตมัยปัญญา
ที่ได้จากความคิดพินิจพิจารณาก็เรียก ว่า จินตามัยปัญญา ที่ได้จากการปฏิบัติอบรม ก็เรียกว่า ภาวนามัยปัญญา


แต่ว่าในข้อ ๓ นี้ ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ  และทั้งทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดังกล่าวนั้น
และเมื่อปฏิบัติไปๆ  อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนาทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง
ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกอีกว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ ความเห็น รู้เห็นว่า

ข้อนี้ๆ  เป็นอกุศลจริง
ข้อนี้ๆ  เป็นอกุศลมูลจริง
ข้อนี้ๆ  เป็นกุศลจริง
ข้อนี้ๆ  เป็นกุศลมูลจริง



ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาใน ทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น
ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร และอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้น ประกอบกันอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติ ตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ
คือไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลายเสวนา คบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาผู้ที่ควร บูชาทั้งหลาย


เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้แล้ว จึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด
ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอดทำให้เกิดความรู้ของตัวเองขึ้น
รับรองว่านี่เป็นอย่างนี้จริง นี่เป็นอย่างนี้จริง ตามความเป็นจริง โดยที่จับเหตุจับผลได้ถูกจับได้ว่าอกุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ
ตัวอกุศล นั้นเป็นตัวผล กุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวกุศลนั้นเป็นตัวผล
ซึ่งการที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องดังนี้ก็เกิดจากโยนิโสมนสิการ
ใส่ใจตั้งแต่ตั้งใจฟังคำสอนของกัลยาณมิตร
มาจนถึงพินิจพิจารณาขบเจาะจับเหตุแห่งผลให้ได้ หรือว่าจับผลสาวหาเหตุให้ได้
จับเหตุที่จะส่งผลให้ได้  นี่แหละคือโยนิโสมนสิการ


ให้ความรู้ของตัวเองบังเกิดขึ้น รับรองว่าข้อนี้เป็นความจริง ข้อนี้เป็นความจริง และเมื่อได้ปัญญาคือความรู้ของตัวเอง
ให้เกิดขึ้นรับรองขึ้นตามเป็นจริง ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่า มีความเห็นชอบ ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นตรง ที่เรียกว่า อุชุกทิฏฐิ ทำให้มีความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระธรรมโดยตรงก็คือ ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมะอัน พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว คือ ดีจริง ถูกต้องจริง
งามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ คือศาสนา คำสั่งสอนที่แสดงความประพฤติอันประเสริฐ
พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ บริบูรณ์คือไม่บกพร่อง บริสุทธิ์คือไม่มีผิดพลาดสิ้นเชิง


ย่อมจะได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม อันเป็นสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าดั่งนี้
และเมื่อเป็นดั่งนี้แหละจึงจะชื่อว่าได้ เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ ได้เข้ามาสู่พระศาสนานี้ ได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้


ถ้าหากว่ายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิแม้ในขั้นต้นดังกล่าว ยังหาชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ไม่
หาชื่อว่ามีความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ตั้งใจที่จะสดับตรับฟังที่จะพินิจพิจารณา
ที่จะปฏิบัติอบรม เพื่อให้ได้ ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว (ส.ท. ๑-๘)



-------------------------
จากหนังสือ ธรรมาภิธาน  (คำค้น " สัมมาทิฏฐิ")
พจนานุกรมคำสอนพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
http://www.sangharaja.org/dic/index.php
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่