พิชัย รัตตกุล จี้ "ประชาธิปัตย์" หยุดโหมไฟการเมือง

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd01URXhOell5Tmc9PQ==
พิชัย รัตตกุล จี้ "ประชาธิปัตย์" หยุดโหมไฟการเมือง

สัมภาษณ์พิเศษ


เส้นทางประชาธิปไตยของไทยต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยข้ออ้างเพื่อแก้ไขวิกฤตความขัดแย้ง ยับยั้งรุนแรง นำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุข
      ที่ผ่านมาบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง กรณีออกมาเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ก่อการรัฐประหาร ไม่นับรวมการบอยคอตการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ สวนทางกับเจตนารมณ์ของพรรคที่ได้ชื่อว่าสถาบันการเมือง ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ติดตามการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยความเป็นห่วง ก่อนจะมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองรุ่นหลัง โดยเฉพาะผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน

ประชาธิปัตย์กับการรัฐประหาร
ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2501 ผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่ละครั้งรู้สึกเสียใจมากที่ต้องเจอการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการใช้กำลังปฏิวัติ

เนื่องจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนได้รับการอบรมสั่งสอนถึงหลักการประชาธิปไตย ย่อมไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหัวหน้าผู้ก่อการนั้น กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่อให้ตัวเองเป็นใหญ่ ยิ่งไม่เห็นด้วย

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดแบบนี้มาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย ได้รับการอบรมสั่งสอนมาแบบนี้ อุดม การณ์นี้จึงฝังอยู่ในกระดูกของพวกเรา

มองการคลี่คลายสถานการณ์ของ คสช. ครั้งนี้

คิดว่าไม่ใช่อย่างที่ นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ ไปโทษพรรคเพื่อไทยว่าไม่ทำตามแผนปฏิรูปของประชาธิปัตย์ จึงโดนทำรัฐประหาร

ถ้าจะโทษต้องโทษนักการเมืองทุกพรรคที่ทะเลาะกัน และไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แล้วนักการเมือง เหล่านี้ก็นำความเท็จไปบิดเบือนปลุกระดมมวลชนให้เคียดแค้นกัน จึงทำให้ทหารทนไม่ไหว

มองอย่างเป็นธรรมแล้วจะพบความแตกต่างจากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. มีความตั้งใจดี ในแง่ความมั่นคง เขาจำเป็นต้องทำ

ตลอดวิกฤตการเมือง 7-8 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเขาวางตัวได้ถูกต้อง พยายามให้ทั้ง 2 ฝ่ายหาทางออกอย่างสงบก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่กำลังไฟไหม้ และไม่มีใครดับไฟนี้ได้ ซึ่งมันเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือดตกยางออกครั้งใหญ่ เนื่องจากฝ่าย นปช. และ กปปส. ต่างมีมวลชนเป็นของตนเอง

แต่ก็ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจ ทำไมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องถูกเรียกไปควบคุมตัว ทั้งที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เราควรเห็นใจและให้เกียรติเขา เขาไปพักผ่อนอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ กับลูกชาย

ผมไม่โทษใคร แม้จะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งควรจะสนับสนุน กปปส. อย่างเต็มที่ แต่เป็นห่วงมากที่สุดคือประชาชนที่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนติดไปกับร่างแหนี้ด้วย
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามในอุดมคติและอุดมการณ์ที่ได้รับการสั่งสอนจากรุ่นสู่รุ่น ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติเลย

การเมืองไทยจะเดินไปในแนวทางไหน
จะมีแรงบีบจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก การประกาศ ตัดความช่วยเหลือของสหรัฐ หลักร้อยล้านบาท นับว่ายังน้อย ยังจะมีตามมาอีกเยอะ
พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องรีบดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมารองรับแนวคิดการทำงาน โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่การจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 เพื่อให้เศรษฐกิจ ขับเคลื่อนต่อไปได้ หรือ คสช.อาจตั้งคณะรัฐบาลเลยก็ไม่ทราบได้

สำหรับบางกระแสข่าวที่ระบุว่ามีบางคนออกมาประจบ สอพลอ ออกโรงหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็น นายกฯนั้น หากเป็นแบบนี้จริง ผมรู้สึกเป็นห่วงพล.อ. ประยุทธ์ สถานการณ์จะกลับกลายเป็นว่าปฏิวัติเพื่อ ตัวเอง

พรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ควรเป็นอย่างไร
แม้จากเดิมที่ประชาธิปไตยไทยล้มเหลวจนทหารต้องออกมาปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุว่ายังมีความไม่ยุติธรรมอยู่ แต่ก็ยังเชื่อว่าเราจะได้เริ่มต้นใหม่ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง อยากให้ครั้งนี้คือการปฏิวัติครั้งสุดท้าย

ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำอะไรไม่ได้มากเมื่อปฏิวัติ เพราะรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกก็ต้องอยู่เฉยๆ แต่ภายในหัวใจของสมาชิกพรรค ต้องวางแผนและคิดถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นสำคัญ

พรรคการเมืองอื่นควรทำอย่างไรผมไม่ทราบ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรไปยุยงอะไรอีก อยู่เฉยๆ ดีแล้ว ไม่ควรโหมไฟให้มันลุกขึ้นอีก

สิ่งที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งต่อสมาชิกว่าให้วางตัวเหมาะสม อยู่นิ่งๆ ระมัดระวังการให้สัมภาษณ์ ก็เพื่อจะรอดูสถานการณ์ว่าจะพัฒนาไปอย่างไรก่อน จึงจะได้แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างถูกต้อง

และหากเห็นว่าหนทางกำลังเดินไปสู่ความไม่ชอบมา พากลก็ยิ่งต้องออกมาแสดงความคิดเห็น

ประชาธิปัตย์ถูกจับตาเรื่องสัมพันธ์กับทหาร ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลปี 52 สลายม็อบแดงปี 53 รวมถึงรัฐประหารครั้งล่าสุด
   ไม่รู้ว่านายอภิสิทธิ์มีแนวทางหรือเหตุผลอย่างไร แต่ผมมองว่ากองทัพเป็นกลาง แล้วก็ไม่เชื่อว่าประชาธิปัตย์จะเอียงหมดตัวให้ทหาร อีกทั้งการวางตัวเป็นกลางของทหาร พรรคการเมืองก็คงไม่สามารถไปโน้มน้าวกองทัพให้มาเป็นพวกได้เช่นกัน

แต่ทำไมสังคมถึงวิจารณ์ว่า นายอภิสิทธิ์เป็นพวกทหาร ทั้งที่ถูกฝึกมาให้เป็นประชาธิปไตยโดยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่แน่ใจว่านายอภิสิทธิ์อิงแอบกับทหารจริงหรือไม่


ก้าวย่างต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์
      ประชาธิปัตย์ทำให้สังคมเห็นความสวยงามของประชา ธิปไตย ในการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้ว ซึ่งควรจะหยุดตั้งแต่นายกฯประกาศยุบสภา แต่หลังจากนั้นก็ไปเรื่อย

อยากให้สมาชิกพรรคโดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หันกลับไปดูสิ่งที่เคยร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ตั้งแต่การลง พื้นที่หาเสียง กระทั่งร่วมกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย

สมาชิกพรรคเรามีความสามารถในการดึงคะแนนภาคใต้ได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องไปดึงคะแนนเสียงจากภาคเหนือ และอีสานให้ได้เช่นกัน ผ่านการใช้สาขาพรรคให้เป็นประโยชน์ ตามในข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่ให้พรรคมีการปฏิรูป

ผมหวังอย่างเดียวว่าหากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ประชาธิปัตย์ต้องยืนหยัดในหลักการเดิมของตัวเอง อย่าตั้งกลุ่มมวลชนขึ้นมาต่อสู้แบบนี้อีก มันไปไม่รอด ขอให้กลับไปสู้แบบประชาธิปไตยในสภาผู้แทนราษฎร

รู้ว่าแพ้ก็ต้องสู้ ได้ 5 ที่นั่ง 10 ที่นั่ง ก็ต้องสู้ พรรคประชา ธิปัตย์ต้องอดทน หากแพ้อีก ก็รอ 4 ปี แล้วสู้ใหม่

สถานการณ์บ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
การปฏิวัติครั้งนี้พยายามดับไฟก็จริง แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่ายังมีควันคุกรุ่นอยู่ในใจมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งดีใจ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ดีใจ
ผมสังหรณ์ใจว่ามันน่าหวาดเสียว เชื่อว่าทหารก็รู้แต่เขาจะทำอย่างไรต่อไป ผมไม่รู้
1. เห็นด้วยกับคุณพิชัย รัตตกุล หรือไม่ ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่