สื่อมะกันเผย สหรัฐฯ เสีย “โดรน” แล้วมากกว่า 400 ลำ จากการตก

กระทู้คำถาม
เอเอฟพี - หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์แฉ นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ต้องสูญเสียอากาศยานรบไร้นักบิน หรือ “โดรน” ไปแล้วมากกว่า 400 ลำทั่วโลก ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากรายงานที่ตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของอากาศยานสุดล้ำชนิดนี้ของกองทัพแดนอินทรี
       
       รายงานซึ่งอ้างผลการสืบสวนอุบัติเหตุความยาวกว่า 50,000 หน้า ของวอชิงตันโพสต์ ระบุว่า โดรนของกองทัพสหรัฐฯ มีประวัติการทำงานผิดพลาดมากมายไม่ว่าจะในเรื่อง ความล้มเหลวทางเทคนิค รวมถึงการทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย
       
       “โดรนร่วงใส่บ้าน, ไร่นา, รันเวย์, ทางหลวง, เส้นทางน้ำ และมีอยู่กรณีหนึ่งที่ชนเข้ากับเครื่องบินขนส่งเฮอร์คิวลิส ซี-130 ของกองทัพอากาศกลางเวหา” รายงานระบุ
       
       วอชิงตันโพสต์ระบุว่า จากการตกเท่าที่ทราบของโดรน 418 ลำในช่วงระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2001 ถึงสิ้นปี 2013 ในจำนวนนั้นมีการตกซึ่งพิสูจน์ได้ของโดรน 194 ลำที่เรียกกันว่าการตก “คลาส-เอ” ที่ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายมากถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 64 ล้านบาท)
       
       ตัวเลขรวมดังกล่าวนั้นเกือบเท่ากับมูลค่าความเสียหายรวมของเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินจู่โจมของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ประสบอุบัติเหตุตกในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นโดรนจะมีภารกิจและชั่วโมงบินที่น้อยกว่ามากก็ตาม
       
       รายงานระบุด้วยว่า การตกของโดรน 77 ลำเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน และ 41 ลำในอิรัก แต่มีอยู่ 47 ลำที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ระหว่างการบินทดสอบและฝึกซ้อม
       
       นอกจากนี้ยังพบโดรนกองทัพสหรัฐฯ 1 ลำตกใกล้กับสนามเด็กเล่นของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในรัฐเพนน์ซิลเวเนียเมื่อเดือนเมษายน ขณะที่ โดรนอีกลำหายต๋อมไปในทะเลสาบออนแทรีโอที่อยู่ทางเหนือของรัฐนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน
       
       ในส่วนของ “พรีเดเตอร์” ซึ่งเป็นโดรนทางการทหารของอเมริกันที่เป็นรู้กันดีที่สุด ก็มีส่วนร่วมในการตกแบบ “คลาส-เอ” ด้วยเช่นกันถึง 102 ลำ หลังจากนั้นก็มีการสูญเสียโดรนรุ่น “ฮันเตอร์” ที่เล็กกว่า 26 ลำ และรุ่น “รีเพอร์” ที่ใหญ่กว่า 22 ลำ
       
       การสืบสวนดังกล่าวมีขึ้น ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (FAA) กำลังร่างชุดกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการใช้ “โดรนเชิงพาณิชย์” ที่คาดว่าจะเกิดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่