“ทัศนคติ” คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง

ในอดีตที่ผ่านมา การสัมภาษณ์ผู้สมัครงานซึ่งถือเป็นประตูด่านสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงานในองค์กรนั้น

เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านการสัมภาษณ์มักมีโครงสร้างคำถามสำเร็จรูปในการถามผู้สมัครงาน เช่น ประสบการณ์การทำงานในอดีต กิจกรรมนอกหลักสูตรที่เคยทำระหว่างศึกษา โครงการสำคัญที่เคยรับผิดชอบมาก่อน หรือหากมีโครงสร้างสมบูรณ์มากขึ้นอาจมีการเตรียมถามคำถามแบบอิงกับ Competency ของตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ ยิ่งผู้สมัครตอบได้ตรงกับความคาดหวังของผู้ทำการสัมภาษณ์มากเท่าไรโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงการจ้างงานหลังจากนั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่นานนักหลังจากนั้นผู้สมัครคนดังกล่าวก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานในองค์กรใหม่นั้น นี่คือภาพเหตุการณ์ที่เราเห็นจนคุ้นชินในทุกองค์กร คำถามคือนี่คือ Happy ending ใช่หรือไม่ ในความคิดของผมคือ "ไม่" ทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

มีหลายครั้งที่ทั้งฝ่ายบุคคลและฝ่ายองค์กรพบกับเรื่องเศร้าในภายหลัง นั่นคือแม้ว่าบุคคลจะมีความรู้ความสามารถที่เหมาะกับตำแหน่งงานนั้นๆ แล้ว แต่ชีวิตการทำงานในองค์กรยังมีอะไรมากกว่านั้น บ่อยครั้งที่คนที่ดูเหมือน "ใช่" สำหรับตำแหน่งงานกลับกลายเป็นคนที่ "ไม่ใช่" สำหรับองค์กร เช่น มีมุมมองความคิดเห็นไม่ตรงกับนโยบายขององค์กร ไม่สามารถเข้ากับสังคมการทำงานที่มีอยู่ได้ เรื่องพวกนี้อาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรง แต่ในที่สุดบุคคลนั้นก็อยู่ในองค์กรอย่างไม่มีความสุข ทำงานเพียงแค่ให้เสร็จตามหน้าที่ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ กับส่วนรวม นานวันกลายเป็นไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับสถานการณ์ต่างๆ ในองค์กร ผลลัพธ์ออกมาเป็นลักษณะสูญเสียทั้งสองฝ่าย นั่นคือบุคคลสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ศักยภาพถดถอย ไม่มีความสุขในชีวิต ในขณะที่องค์กรก็สูญเสียโอกาสในการว่าจ้างคนดีๆ ไปหนึ่งคน และยังมีความเสี่ยงที่จะเสียหายจากคุณภาพงานที่เกิดจากพนักงานหมดไฟคนนี้อีกด้วย จุดจบของเรื่องนี้มีไม่กี่แบบเท่านั้น นั่นคือการลาออก การเลิกจ้าง หรืออยู่กันไปทั้งสองฝ่ายแบบไม่มีอะไรดีขึ้น ผมเชื่อว่ามันเหมือนเป็นเรื่องที่ "Basic" เสียจนเราไม่ได้สนใจการมีอยู่ของมัน ทั้งๆ ที่หากเราลองหันไปมองรอบๆ ตัวดูปัญหานี้อาจเกิดกับคนใกล้ตัวของเราเป็นจำนวนมากกว่าที่เราเคยคิดไว้

ปัญหาพวกนี้เกิดจากอะไร?

ในปัจจุบันนั้นวิชาชีพด้าน HR มีองค์ความรู้และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานที่ทันสมัยเป็นจำนวนมากอันเกิดจากการค้นคว้าวิจัยที่มากขึ้นในสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เรามีการบริหารผลการปฏิบัติงานที่สามารถอ้างอิงย้อนกลับไปยังการวางเป้าหมายและสถิติผลงานต่างๆ ของพนักงานแต่ละคน มีการจำแนกบุคลากรประเภทดาวเด่นโดยการเทียบประเมินผลการปฏิบัติงานคู่กับการประเมินศักยภาพในอนาคต มีการวัดผลสัมฤทธิ์การพัฒนารายบุคคลโดยใช้เกณฑ์ทางสถิติเป็นตัวเทียบ แต่หลายสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เหล่านี้สุดท้ายคือ Hard side ที่ยังไม่สามารถอธิบายหรือผลักดันบุคคลให้เดินหน้าไปพร้อมกับองค์กรได้ทั้งหมด หลายองค์กรที่มีกระบวนการจัดการบุคคลแบบ Hard side ที่เพียบพร้อมกลับละเลยการให้ความสำคัญด้าน Soft side อันได้แก่การมองลึกไปที่ความแตกต่างของแต่ละบุคคล แรงจูงใจ ลักษณะนิสัยใจคอเบื้องลึก EQ ทั้งๆ ที่ในงานวิจัยด้านจิตวิทยานั้นเสนอว่าปัจจัยด้าน Soft side นี้อาจจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบุคคลและองค์กรมากกว่า Hard side เสียอีก

ในความคิดของผมนั้น หากจะต้องคัดเลือกใครสักคนในการทำงาน สิ่งแรกที่ผมมองหาคือเรื่อง "ทัศนคติ" ของคนคนนั้น เช่นเดียวกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จอื่นๆ เช่น Southwest Airlines หรือ Chrysler ที่ถึงกับระบุไว้ว่า "We hire attitudes" องค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานที่มีทัศนคติแห่งความมุ่งมั่น การไม่ยอมแพ้ การเปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ๆ มองหาหนทางสู่การเป็นที่หนึ่งเสมอย่อมให้ผลงานที่แตกต่างจากองค์กรที่มีคนเก่งๆ เต็มไปหมดแต่ไม่มีไฟสำหรับทำเรื่องใดๆ อีก ทัศนคติเป็นเรื่องที่วัดได้ยากและใช้เวลาพอสมควรในการสังเกตว่าคนคนหนึ่งมีทัศนคติอย่างไร เหมาะสมกับองค์กรของเราหรือไม่ แต่หากค้นพบแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าอย่างมาก การค้นพบและคัดเลือกบุคคลที่มีทัศนคติที่ดีมาร่วมงานกับองค์กรจะส่งผลให้ทั้งบุคคลและองค์กรได้ประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและเกิดผลงานที่ดี ส่วนองค์กรเองก็ได้รับผลงานที่ดีตรงตามที่คาดหวัง ลดต้นทุนในการลองผิดลองถูกคัดคนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พนักงานที่มีทัศนคติที่ดีจะเป็นฝ่ายอาสาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับองค์กรในระยะยาวเองโดยที่ไม่ต้องร้องขอใดๆ

ทัศนคติคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ทัศนคติไม่ใช่เพียงแค่ความคิดหรือมุมมองที่เกิดจากการสั่งสมเฉพาะตัวตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวกำหนดการตอบสนองของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ ในอนาคตด้วย ในฐานะที่เราเป็นผู้ทำงานด้าน HR เหมือนกันผมจึงอยากใช้โอกาสนี้แนะให้ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพนักงานโดยพิจารณา Soft side ควบคู่ไปกับ Hard side ด้วยเพื่อความสมบูรณ์ขององค์กรและของพนักงาน เพราะบุคคลไม่ใช่เพียงแต่เดินทางออกจากบ้านมา "ทำงาน" ในองค์กรเฉยๆ เหมือนหุ่นยนต์เท่านั้น แต่บุคคลยัง "ใช้ชีวิต" ในองค์กรอีกด้วย และควรเป็นการดำรงอยู่ที่ก่อให้เกิดความสุข ความผูกพัน และผลงานที่ดีของทั้งสองฝ่ายครับ

Cr : วรวัจน์ สุวคนธ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

https://www.facebook.com/groups/721880084529324/ ชุมชน SMP.
Service Mind ชุมชนหัวใจบริการ สู่ระดับบริการมาตรฐานสากล

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่