เทคนิคแบดมินตัน . . ประเภทเดี่ยว

เทคนิคการเล่นแบดมินตันประเภทเดี่ยวของ "Jiang Yanjiao"


Jiang Yanjiao :
แชมป์  World  Junior  2002
แชมป์  10th Chinese National Game
แชมป์  Denmark Open 2006
แชมป์  BAC 2007

คำถามจากทางบ้าน : ในความคิดของคุณ ลักษณะไหนถึงควรจะเรียกว่าเป็น "ลูกยาว" ที่ได้มาตรฐาน ?

ลูกยาว = ยิ่งสูง ยิ่งไกล ยิ่งดี

Jiang Yanjiao  : ในขณะที่คุณแข่งขัน, ยามใดที่ถูกกดดันจากคู่แข่งขัน เราจำเป็นต้องตีลูกยาวกลับไป เพื่อให้เรามีเวลามากขึ้นในการเตรียมตัวรับลูก
ในจังหวะต่อไป ลูกยาวที่ดีก็คือลูกที่ตีได้ทั้งสูงและไกล คำว่า “สูง” ในที่นี้ก็คือ ต้องให้สูงเพียงพอที่จะลอยข้ามคู่แข่งขันไป และมีรัศมีการโค้งได้ระดับ

ส่วนคำว่า “ไกล” ก็คือ ต้องตีไปให้ใกล้เส้นเขตแดนหลังของฝั่งตรงข้ามให้มากที่สุด ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ลูกยาวคือลูกที่มีรัศมีโค้งสูงได้ระดับและ
ไกลเพียงพอที่จะถึงเส้นหลังนั่นเอง



คำถามจากทางบ้าน: ผมถนัดใช้การก้าวขาแบบ “ไข้วขา” ในเวลาที่ผมต้องถอยไปตีลูกในแดนหลัง ปัญหาก็คือผมมักจะถอยไปรับลูกได้ไม่ทันอยู่เป็น
ประจำ ขอถามหน่อยครับว่า ผมควรจะฝึกการถอยไปรับลูกอย่างไรดี? หัวใจสำคัญของการฝึกอยู่ที่ตรงไหน?

Jiang Yanjiao : จริง ๆ แล้วการถอยไปให้ถึงตำแหน่งที่ดีที่สุดในการรับลูกเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ขนาดนักแบดมืออาชีพอย่างฉันยังทำไม่ค่อยจะได้เลย สำหรับปัญหาของคุณ ข้อแนะนำของฉันก็คือ คุณควรจะฝึกถอยหลังจากหน้าเน็ตไปตีลูกในแดนหลัง ถ้าการถอยหลังแบบ “ไข้วขา” ทำให้คุณถอยได้
ไม่ทัน คุณก็ควรจะเปลี่ยนไปใช้การก้าวขาแบบ “เขยิบขา” แทน ซึ่งจะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น

ข้อควรระวังก็คือ ในจังหวะที่คุณถอยหลัง อย่าใช้การก้าวขาแบบเขยิบขาโดยตรง ให้ก้าวถอยหลังก่อน 2 ก้าว เมื่อถึงจังหวะหมุนตัว  (ขวางตัวตั้งฉาก
กับเน็ต)  เพื่อจะตีลูกเมื่อไหร่ค่อยใช้การเขยิบขา


การก้าวขาแบบ "ไข้วขา"
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

การก้าวขาแบบ "เขยิบขา"
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
cr.youtube popipig


คำถามจากทางบ้าน : ผมขอถามหน่อยนะครับว่า ในการแข่งขันแบดมินตันประเภทเดี่ยวนั้น จำเป็นไหมว่าทุกครั้งที่ตีลูกเสร็จ เราจะต้องรีบกลับเข้าประจำตำแหน่งที่กลางคอร์ท?

Jiang Yanjiao  : พวกเรานักแบดประเภทเดี่ยวต้องอ่านเกมส์อยู่ตลอดเวลา เราต้องคาดเดาการตีของคู่แข่งขันว่าเขาจะตีลูกแบบไหน และลูกจะตกใน
บริเวณใด เมื่อเราคิดได้แล้วว่า คู่แข่งขันน่าจะตีลูกไปที่ตรงไหนถึงค่อยเคลื่อนไหวไปเตรียมรับลูกในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้อง
กลับตำแหน่งกลางคอร์ทตลอดเวลา



คำถามจากทางบ้าน : ขอถามเรื่องการเสริฟลูกยาวในการแข่งขันประเภทเดี่ยวหน่อยครับ คู่แข่งขันของผมมีสเต็ปเท้าไวและปั่นลูกหยอดจากแดนหลังได้ดี ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ผมเสริฟยาวไป เกมส์ก็ตกอยู่ในการควบคุมของคู่แข่งขันโดยตลอด ขอถามหน่อยครับ ถ้าเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ผมควรจะเปลี่ยนมาเสริฟลูกสั้นแทน ใช่ไหมครับ?

การเสริฟลูกยาวต้องให้ “ถึง”

Jiang Yanjiao : ปัญหาเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่คุณเสริฟได้ไม่ดีเพียงพอ เป็นไปได้ว่าลูกเสริฟของคุณอาจจะตกอยู่แค่กลางคอร์ทของฝั่งตรงข้าม
เท่านั้น ถ้าคุณเสริฟลูกได้ถึงตำแหน่ง คู่แข่งขันคงทำอะไรคุณไม่ได้มากนัก ดังนั้น คุณควรฝึกการเสิฟลูกยาวให้มากขึ้น

แน่นอนว่า คุณอาจแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปเสริฟลูกสั้นก็ได้ แต่ฉันแนะนำว่า ให้เลือกเสริฟตามความเหมาะสมของสถานการณ์จะดีกว่า ไม่จำเป็นว่า
จะต้องเสริฟแต่ลูกสั้นเสมอไป



คำถามจากทางบ้าน : สองวันมานี้ ผมฝึกการหมุนตัวเพื่อใช้โฟรแฮนด์ตบลูกเร็วในจังหวะที่ลูกลอยมาทางซ้ายมือ(ทางแบ็คแฮนด์)ของผม แต่ทำอย่างไร
ก็ทำได้ไม่ดี ช่วยสอนผมหน่อยครับว่าควรจะฝึกยังไงดี?

ใช้แรงจากแขนท่อนล่างและข้อมือในการตบเร็ว

Jiang Yanjiao  : ก่อนอื่นคุณควรให้ความสำคัญกับการก้าวขาของคุณ ให้คุณเคลื่อนเข้าถึงตำแหน่งตีลูกเสียก่อน จากนั้นถึงค่อยหมุนตัวเพื่อทำการตบลูก เนื่องจากเป็นการตบลูกเร็ว แรงที่ใช้ในการตบจึงควรมาจากแขนท่อนล่างและข้อมือเท่านั้น



คำถามจากทางบ้าน : ตอนนี้ผมกลัวการดาดลูกสูงมาก เพราะดาดที่ไรลูกออกนอกสนามทุกที เวลาตีเลยไม่กล้าตีเต็มแรง แต่ลูกที่ตีไปก็กลับไม่แรงพอ
ซะอีก  น่าโมโหจริง ๆ ! นักแบดอาชีพใช้แรงแค่ไหนในการดาดลูกสูงครับ?

ใช้แขนท่อนล่าง นำข้อมือในการตีลูกดาดสูง

Jiang Yanjiao  : ที่คุณตีลูกออกนอกเส้นอาจเป็นไปได้ว่า วงสวิงของคุณหยาบไปหน่อย ก็เลยทำให้คุณเผลอใช้แรงมากเกินไป สิ่งที่คุณควรระวังในการ
ดาดลูกสูงก็คือ การออกแรงตีจะเป็นแบบแขนท่อนล่างนำข้อมือ ถ้าการสวิงเป็นไปอย่างถูกต้อง มั่นใจว่าคุณจะไม่ตีลูกออกอีกแน่นอน



คำถามจากทางบ้าน : เมื่อไม่กี่วันก่อน ฉันได้แข่งขันกับนักแบดที่มีฝีมือร้ายกาจคนหนึ่ง เขามักจะไม่ค่อยตีลูกยาว เวลาเสริฟก็ใช้แต่ลูกสั้น หลังจากนั้นก็
เขาก็อาศัยจังหวะชิงบุกก่อนด้วยการดาดเร็วหรือไม่ก็ตัดหยอด ตีลูกโยกซ้าย-ขวาสลับกันไป เมื่อใดที่ฉันตีลูกกลับไปได้ไม่ดี เขาก็จะรีบกระโดดตบลูก
กลับมาอย่างรวดเร็ว ป้องกันได้ยากมาก ขอถามหน่อยค่ะ เมื่อต่อกรกับนักแบดที่มีฝีไม้ร้ายมือน่ากลัวแบบนี้ ควรจะทำอย่างไรถึงจะจัดการกับเขาได้?

จำกัดรูปแบบการบุกและทำลายจังหวะของคู่แข่งขัน

Jiang Yanjiao  : เมื่อพบกับสถานการณ์เช่นที่ว่ามา อย่างแรกเลยที่คุณต้องทำคือทำลายจังหวะการบุกของเขา หลีกเลี่ยงการใช้ลูกเร็วเวลาที่บุกใส่เขา พยายามใช้ลูกยาวให้มาก และต้องยาวพอที่จะถึงเส้นหลัง ใช้ลูกหยอดหน้าเน็ตให้มากด้วยเช่นกัน จะหยอดใกล้เน็ตหรือหยอดไกลเน็ตหน่อยก็ได้ทั้งนั้น
โยน ๆ หยอด ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่าลืมว่าห้ามตีลูกไปบริเวณกลางคอร์ทของเขาเด็ดขาด


แปลและเรียบเรียงจาก: http://sports.qq.com/a/20090618/000289.htm
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=zeng&month=08-2010&date=10&group=18&gblog=35

Swiss Open 2010 Filnal - Wang Shixian  vs Yanjiao Jiang
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
cr.youtube badmintonpassion


คุณถาม - หลินตันตอบ กับเทคนิคการเล่นแบดมินตันประเภทเดี่ยว


คำถามจากทางบ้าน: เวลาดูการแข่งขันของมือระดับโลก ผมสังเกตุว่าพวกเขามักจะหยอดลูกหน้าเน็ตตรงกลางคอร์ทเสมอ ไม่ได้หยอดไปทางซ้ายหรือขวา ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่า การหยอดที่ดีต้องให้ไปมุมใดมุมหนึ่ง การหยอดตรงกลางคอร์ทจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหรือครับ?

ตีเข้าตรงกลางเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

หลินตัน : การเล่นแบบตีเข้าตรงกลางเป็นหลักกลายเป็นรูปแบบปกติไปแล้วล่ะครับ เวลาที่นึกไม่ออกว่าจะตียังไง หรือโดนคู่แข่งขัน
กดดันหนัก การตีเข้ากลางไว้ก่อนจะเป็นการดีที่สุด ถ้าพูดถึงผลลัพธ์ของการตีเข้าตรงกลาง การตีเข้ากลางจะช่วยให้มีโอกาสตีผิดพลาดได้
น้อยลง ลูกแบดที่ตีไปตรงกลางก็ไม่ใช่ลูกที่จะรับง่ายซะด้วย นักแบดบางคนกลับไม่ถนัดที่จะรับลูกที่ตีมาตรงกลางด้วยซ้ำไป



คำถามจากทางบ้าน: ผมสงสัยว่า การกระโดดตบมีข้อดีตรงไหนครับ ช่วยให้การตบมีองศามากขึ้นหรือว่าช่วยให้ตบได้แรงขึ้น? แล้วนักแบดหญิงระดับทีมชาติทำไมไม่ค่อยจะกระโดดตบกันเลย เป็นเพราะเรี่ยวแรงไม่พอหรือเปล่าครับ?

ตบเพื่อเพิ่มความกดดันให้กับคู่แข่ง

หลินตัน: เป้าหมายหลักของการตบคือเพิ่มความกดดันให้กับคู่แข่งขัน ในปัจจุบันนักแบดมินตันชายมีความสามารถสูงส่งกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีลูกหนักไว้คอยกดดันบ้าง เราก็ยากที่จะเอาชนะพวกเขาเหล่านั้นได้

ส่วนเรื่องนักแบดหญิงไม่ค่อยจะกระโดดตบกัน ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของร่างกายแต่ละคน ถ้าพวกเธอคนไหนมีร่างกายแข็งแกร่ง
เพียงพอก็คงจะลองกระโดดตบกันบ้าง ลองดูยิบปุยยิน(YIP Pui Yin) นักแบดหญิงของฮ่องกงก็ได้ เธอรูปร่างไม่สูงนักแต่แข็งแรงมาก เธอเลยสามารถกระโดดตบได้บ่อยครั้ง ถึงแม้ผลลัพธ์อาจจะไม่ดีมาก แต่ก็กดดันคู่แข่งได้ในระดับหนึ่งเลยครับ



คำถามจากทางบ้าน: นักแบดประเภทพละกำลังดีจะสู้กับนักแบดที่เทคนิคดีได้ยังไงครับ? ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่คุณต้องแข่งกับเทาฟิคหรือไม่
ก็ลีชองเวย ทำยังไงถึงจะบีบพวกเขาให้เล่นไม่ออกได้ครับ?

ใช้ความเร็วและพละกำลังควบคุมการเล่นของคู่แข่ง

หลินตัน: นักแบดประเภทจอมเทคนิคจะเน้นการตีทุกช็อตให้ดีที่สุด หยอดก็ต้องหยอดให้ชิดเน็ต เวลาโยกก็ต้องให้เข้ามุม ส่วนนักแบดที่พละกำลังดีจะไม่เน้นกับการตีมากนัก อย่างผมเองก็รู้ดีว่าตัวเองมีจุดดีที่ตรงไหน เวลาแข่งผมจึงใช้พละกำลังและความเร็วของผมมาคอยควบคุมการเล่นของคู่แข่งขัน ถ้าเราตีได้ในแบบของเรา คู่แข่งขันก็จะตีใบแบบที่เขาต้องการไม่ได้ ต่อให้เป็นจอมเทคนิคก็คงยากที่จะใช้เทคนิคที่ตัวเองถนัด



คำถามจากทางบ้าน: ผมมักจะย่ำแย่เสมอเวลาที่ต้องเจอกับลูกหลอก มืออาชีพอย่างพวกคุณฝึกซ้อมยังไงเพื่อรับมือกับลูกหลอก? ต้องฝึกปฏิกิริยาให้ว่องไวใช่ไหมครับ? หรือว่าต้องศึกษาการตีของคู่ต่อสู้?

ฝึกบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความเคยชิน

หลินตัน:ปัญหาข้อนี้ออกจะเป็นระดับมืออาชีพซักหน่อย นักแบดมินตันมืออาชีพอย่างพวกผมต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เวลาตีแบดร่างกายเลยจะไปเองโดยอัตโนมัติ แต่ถึงแม้จะโดนหลอกก็ยังสามารถใช้สเตปขาปรับเปลี่ยนทิศทางไปตีลูกจนได้ แต่สำหรับนักแบดมือสมัครเล่นออก
จะยากซักหน่อยเพราะว่าไม่ได้ฝึกซ้อมหนักเหมือนพวกมืออาชีพ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ลูกหลอกให้ได้ก็ต้องหมั่นตีแบดให้บ่อย นาน ๆ เข้าก็จะแก้
ได้เอง แล้วเมื่อคุณรู้ว่าคู่แข่งขันถนัดการตีแบบไหนก็จะยิ่งง่ายเข้าไปอีกครับ



คำถามจากทางบ้าน: ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลาตีแบด โดยเฉพาะแรงจากข้อมือ อาจจะเป็นเพราะผมไม่รู้วิธีส่งแรงจากข้อมือก็ได้ ทำยังไงผมถึงจะมีแรงเพิ่มขึ้น ต้องฝึกแบบไหนดีครับ?

ยกดัมเบลเพื่อเพิ่มแรงข้อมือ

หลินตัน: พวกเราเหล่านักแบดอาชีพมักฝึกข้อมือด้วยการยกดัมเบลครับ วิธีที่ดีที่สุดก็คือนั่งบนเก้าอี้ แขนยืนตรง มือถือดัมเบลเอาไว้
บิดข้อมือด้วยการเอาด้านฝ่ามือขึ้นหรือไม่ก็ด้านหลังมือขึ้น ค่อย ๆ บิดช้า ๆ ทำแบบนี้กล้ามเนื้อที่ข้อมือและแขนก็จะแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ
มือสมัครเล่นก็อย่าโหมนักนะครับ ทำครั้งละ 10-12 ครั้งก็พอ อย่าลืมว่าต้องทำช้า ๆ นะครับ แล้วน้ำหนักก็อย่ามากเกินไปด้วย ไม่งั้นอาจบาดเจ็บได้


แปลและเรียบเรียงจาก: http://sports.qq.com/a/20080509/000438_1.htm
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=zeng&month=08-2009&date=30&group=18&gblog=29


Lin Dan demonstrates the backhand serve technique
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Lin Dan teach you Return of Serve
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Lin dan smash perfect
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Lin Dan vs children
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่