ประชาธิปไตยเป็นอะไรหรือ? | What’s Gone Wrong with Democracy? [The Economist, 1 March 2014]



นิตยสาร The Economist ของอังกฤษ ฉบับ วันที่ 1 มีนาคม 2014 ] ลงพิมพ์บทเรียงความเรื่องยาว 6 หน้าเป็นเรื่องสำคัญขึ้นปกหน้า ตั้งชื่อพาดหัวเรื่องว่า “What’s Gone Wrong with Democracy” [The Economist, March 1st, 2014] โยนคำถามมหึมาต่อชาวโลกว่า ประชาธิปไตยบนโลกมนุษย์เกิดความผิดพลาดเสียอะไรกันไปหนักหนาหรือ? แล้วจะต้องทำอย่างไรจึงจะแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิมได้?

เมื่อสองปีที่แล้ว The Economist นิตสารระดับโลกของอังกฤษ คู่แข่งของนิตยสาร TIME ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานดัชนีประชาธิปไตยโลก โดนรายงานสรุปว่า ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆในโลกตกอยู่ในสภาวะถดถอยตกต่ำ อีกหนึ่งปีถัดมาดัชนีประชาธิปไตยก็อยูในสภาวะชงักงัน อยู่กับที่ ไม่ดีไม่เลวไปกว่าปีก่อนหน้า ดัชนีประชาธิปไตยล่าสุดสำหรับปี 2013 ยังไม่ออกมา แต่ก็มาได้อ่านรายงานยาว 6 หน้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ความว่า ประชาธิปไตยในโลกกำลังพลาดท่าเสียที

เรียบเรียงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยโลกอย่างย่อที่สุด The Economist วิเคราะห์ว่า ในคริสตศตวรรษที่ 19th มีสหรัฐอเมริกา เป็นแบบอย่างประชาธิปไตยอยู่ประเทศเดียวในโลก ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นแบบอบ่างของระบอบประชาธิปไตยแบบรากหญ้าแท้จริง หมายความว่าทุกส่วนในสังคมระดับท้องถิ่นมีส่วนสร้างสังคมประชธิปไตยให้เข้มแข็ง ยิ่งใหญ่มีอำนาจเหนือรัฐบาลกลาง ประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง และระดับรัฐ มีอำนาจเหนือรัฐบาลกลางได้จริงๆแบบที่อังกฤาและยุโรปต้องทึ่งในปรากฏการณ์ประชาธิปไตยใหม่ในอเมริกา ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แม้ประชาธิปไตยจะค่อยๆเติบโตในยุโรป แต่ระบอบกษัตริย์ก็ยังคงได้รับความนิยมในประเทศสำคัญๆ เช่นในฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เข้าครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนครึ่งหลังของศตวรรษที่ประชากรกว่า 40% ในโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่อ้างได้ว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ดูแนวโน้มว่าประชาธิปไตย หรือที่เรียกในถาษาอังกฤษจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า “Democracy” แปลว่าการ”ปกครองโดยประชาชน” กำลังจะติดตลาดการเมือง ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตยพิสูจน์ให้เห็นว่าดี ชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองดีขึ้น รวยขึ้น เป็นประชาธิปไตยแล้วหลีกเลี่ยงสงครามได้ เป็นประชาธิปไตยทำให้กำจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

แต่แล้วมาประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยแสดงความอ่อนแอล้มเหลวและทำผิดทำถูกกันชุลมุนวุ่นวายในโลก หลายประเทศที่เอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ดูแล้วก็พบว่าอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นสามารถเอามาใช้เป็นข้ออ้างให้ทำอะไรๆได้ตามใจชอบโดยอ้างว่า “ข้าพเจ้ามาจากการเลือกตั้ง” ประเทศประชาธปไตยใหม่ๆทั้งหลายจึงล้มเหลวเพราะคิดว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางสู่อำนาจและเป็นลู่ทางกอบโกยหาประโยชน์ใส่ตนในหมู่นักการเมืองผู้ได้อำนาจจากการเลือกตั้งได้
ตัวอย่างความล้มเหลวของประชาธิปไตยใหม่ทั้งหลายปรากฏชัดเจนที่อีจิปต์และประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนที่ยูเครนก็เป็นตัวอย่างล่าสุดที่โลกเฝ้ามองจนอาจสรุปได้ว่าประชาธิปไตยแบบยูเครนนั้นล้มเหลวเพราะนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจอ้างผลการเลือกตั้งโดยไม่ฟังเสียงค้านและไม่ดูแลความต้องการของเสียงส่วนน้อย ประชาชนชาวยูเครนจึงต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติอีกครั้งหลังให้อำนาจนักเลือกตั้งไปนานถึงสิบปี
ตอนหนึ่งของเรียงความยาว 6 หน้าเขียนว่า:


“ในเวลาเดียวกันประเทศที่เพิ่งจะเริ่มเข้าค่ายประชาธิปไตยก็ดูจะกำลังโรยแรง
ที่อัฟริกาใต้หลังจากเริ่มทดลองเป็นประชาธิปไตยในปี 1994 ก็มีเพียงพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ได้
ปกครองประเทศ, คือพรรค African National Congress, พรรคนี้ยิ่งนานวันก็ยิ่งทำอะไรๆเพื่อ
ประโยชน์ของพรรคมากขึ้น.

ประเทศตุรกีแต่ก่อนเคยเป็นระบบผสมผสานระหว่างแนวคิดอิสลามสายกลาง กับการพัฒนา
เศรษฐกิจให้มั่งคั่งด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่แล้วต่อมาก็เต็มไปด้วยการทุจริต
คอร์รัปชั่นและรัฐบาลที่ลุแก่อำนาจ.

ที่บังคลาเทศ, ประเทศไทย, และกัมพูชา ไม่นานมานี้ก็เกิดการคว่ำบาตรการเลือกตั้งจากพรรคฝ่าย
ค้าน หรือไม่ก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ทั้งหมดที่ว่ามานี้แสดงให้เห็นว่าการสร้างสถาบันที่จำเป็นที่จะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนเป็นงานที่ช้า
มากจริง, ซึ่งก็ทำลายความเชื่อที่เคยมีกันมาก่อนว่าประชาธิปไตยนั้นสามารถเบ่งบานได้อย่าง
รวดเร็วและทันกาลทันทีที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตย. แม้ว่าประชาธิปไตยอาจจะเป็น ‘แรง
ดลใจสากล’, ดังที่คุณบุช (George.W.Bush) และโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) เคยยืนยัน, แต่
ประชาธิปไตยนั้นมันเป็นการปฏิบัติที่ต้องมีรากลึกทางวัฒนธรรม. ประเทศทางตะวันตกเกือบทุก
ประเทศได้ให้สิทธิเลือกตั้แก่พลเมืองมานานปีหลังการก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ละเอียดลึก
ซึ้ง, มีระบบราชการที่ทรงพลัง และประกอบด้วยสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่แนบแน่นมั่นคงถาวรในวิถี
ชีวิต, ในสังคมที่ยกย่องเทิดทูนสิทธิส่วนบุคคล และระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ.

อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สถาบันที่สร้างขึ้นมาโดยหวังที่จะให้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศ
ประชาธิปไตยใหม่ๆทั้งหลายกลับกลายเป็นดูเหมือนว่าจะล้าสมัยไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
แถมยังไม่ทำงานได้ประสิทธิภาพในประเทศประชาธิปไตยที่เป็นแบบอย่างมั่นคงมาแต่อดีต เช่น
สหรัฐอเมริกา. คำว่า “สหรัฐอเมริกา” กลายเป็นคำที่หมายความถึงอาการติดขัดไปทั้งระบบ



ประชาธิปไตย เต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดีชิงเด่นเอาแพ้เอาชนะกันในระหว่างต่างพรรคการเมือง
มีถึงสองครั้งที่สหรัฐอเมริกาเกือบล้มละลายเพราะหนี้ล้นพ้นตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระบวนการ
ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาก็เกิดความผิดพลาดเสียหายด้วยเหตุที่ใช้ระบบที่ใครมีอำนาจก็แบ่ง
เขตเลือกตั้งใหม่ให้ฝ่ายตนได้เปรียบ (Gerrymandering) การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการเมืองแบบ
รุนแรง เพราะว่านักการเมืองก็เพียงแค่เอาใจเฉพาะประชาชนที่อยู่ข้างพรรคเดียวกันเท่านั้นก็พอแล้ว
ส่งผลให้ไม่ต้องไปสนใจใยดีต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคของตน
และเสียงของเงินตรานั้นดังมากยิ่งกว่าเสียงอื่นใดในการเมืองอเมริกัน. นักรับจ้างวิ่งเต้นนับพันคน
(โดยประมาณ มีนักวิ่งเต้น หรือ lobbyist มากกว่า 20 คน ต่อสมาชิกรัฐสภา 1 คน) ทำให้มีความซับ
ซ้อนมากขึ้นในกระบวนการร่างกฎหมาย เป็นช่องทางในการแอบซ่อนและแสวงหาสิทธิพิเศษในการ
ให้ได้มาซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นประชาชนธรรมดาไม่มีหนทางทำได้ ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เข้าใจ
ว่าการเมืองในสหรัฐอเมริกานั้นซื้อขายกันได้ด้วยเงิน และคนรวยมีอำนาจมากกว่าคนจน แม้กระทั่ง
เหล่านักรับจ้างวิ่งเต้นและพวกผู้บริจาคเงินช่วยพรรคยังถือว่าการใช้จ่ายเงินทางการเมืองนั้นเป็นรูป
แบบหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย. ผลก็คือ ภาพลักษณ์ของ
อเมริกา - และถ้าจะให้ขยายความไปเป็นภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยก็ได้ - กำลังเสียหายเละเทะ.”



“เหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการทดลองประชาธิปไตยในหลายๆประเทศล้มเหลวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็     คือ การให้ความสำคัญมากเกินไปต่อการเลือกตั้ง และให้ความสนใจน้อยมากในเรื่องหลักการสำคัญอื่นๆที่เป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย อำนาจรัฐจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลย์, สิทธิของบุคคล เช่นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, และสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรปกป้องสิทธิของบุคคลจำต้องได้รับการรับรอง ประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆที่     ประสพความสำเร็จก็เพราะประเทศเหล่านั้นหลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจเอาใจเสียงส่วนใหญ่แต่ฝ่ายเดียว - การเอาแต่เอาใจประชาชนฝ่ายข้างมาก ทำให้ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งใช้อ้างไปทำอะไรต่อมิ     อะไรได้ตามใจชอบ. ประเทศอินเดียเป็นประชาธิปไตยมาได้อย่างยั่งยืนมั่นคงหลังปี 1947 (เว้นช่วง
สั้นๆที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินสองปี) และ บราซิล หลังกลางทศวรรษ 1980s ก็มั่นคงมาก็ด้วย
หลักการเดียวกัน: ทั้งสองประเทศจำกัดอำนาจของรัฐบาลตัวเอง และให้การประกันต่อสิทธิเสรีภาพ
ของบุคคล.”


บทเรียงความของ The Economist ที่อ้างเพียงน้อยนิดข้างบนนี้ ออกมาพร้อมๆกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศ John Kerry ของสหรัฐอเมริกากล่าวและเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว” การกล่าวเช่นนี้นับเป็นการปรับจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจนโดยอ้างอิงบริบทยูเครน ไทย และกัมพูชา

ในประชาคมอาเซียน ไม่มีประเทศใดเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ติดอันดับสูงๆของดัชนีประชาธิปไตยในโลก ประเทศไทยเคยมีคุณภาพการเป็นประชาธิปไตยสูงกว่าใครในอาเซียน แต่ตกต่ำเรื่อยมาตั้งแต่การยึดอำนาจของฝ่ายทหารในปี 2549-2550 อินโดนีเซียได้แซงหน้าไทยขึ้นสู่อันดับบนสุดในหมู่สิบรัฐสมาชิกอาเซียน  ไทยตกเป็นรองอินโดนีเซีย ตามด้วยมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ส่วนพม่ายังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เรียกได้เต็มนิยาม ลาวและเวียดนามเป็นรัฐสังคมนิยมอำนาจนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนบรูไนเป็นรัฐสุลต่าน ปกครอบระบอบกษัตริย์

สำหรับกัมพูชาหากดูจากบทเรียงความข้างบนก็จะพบว่ามีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยพอๆกับไทย เพราะบทเรียงความนี้อ้างประเทศสมาชิกอาเซียนว่ามีปัญหาประชาธิปไตยแบบอ้างแต่เลือกตั้งเพียงสองประเทศเท่านั้น


ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง … นิตยสาร The Economist แจ้งให้เราทราบแล้วว่า การเมืองการปกครองในระบอบที่อยากเป็นประชาธิปไตยของไทย ได้พัฒนาลงต่ำเทียบเท่ากัมพูชาแล้ว.


สมเกียรติ อ่อนวิมล
เผยแพร่ครั้งแรกใน Daily News Online วันที่12 มีนาคม 2557
เผยแพร่อีกครั้ง วันที่ 29 พฤษภาคม 2557


https://www.facebook.com/notes/877831232230835/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่