JJNY : UN ประณามไทย│ปิยบุตร มองปชต.ไทย 2 ใบอนุญาต│วิโรจน์ ยันชัดเอกสารไม่ตรงกัน│รถยึดเข้าลานประมูลพุ่ง 'ปิกอัพ' หนักสุด

UN ประณามไทย ส่งตัว 6 ผู้เห็นต่างชาวกัมพูชากลับประเทศ เท่ากับละเมิดสิทธ์-กม.อุ้มหาย
https://www.isranews.org/article/isranews-news/133772-UNcambodia.html
 
UN ประณามไทยละเมิดกฎหมายสิทธิ หลังตัดสินใจส่งตัวผู้เห็นต่างชาวกัมพูชากลับประเทศ 6 รายเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ย้ำชัดการกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายอุ้มหายของไทยเอง ขณะฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ทางการไทยหยุดร่วมมือกัมพูชาตามล่าผู้เห็นต่างข้ามชาติ
 
------------------------------------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ของสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศกัมพูชาได้รายงานข่าวกรณีที่ทางการไทยได้ผลักดันผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวกัมพูชาจำนวนหกรายออกนอกประเทศ การกระทำเช่นนี้ทางสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ออกมาประณามว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดความมุ่งมั่นต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐดำเนินการส่งกลับผู้คนไปยังประเทศที่พวกเขาอาจเผชิญกับการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ตามการให้สัมภาษณ์ของโฆษก สํานักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติที่ให้ไว้ต่อ RFA
 
นักกิจกรรมทั้งหกคนดังกล่าวนั้นอยู่ในสังกัดพรรคการเมือง Cambodia National Rescue Party ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกแบนในกัมพูชา โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่ามีผู้เยาว์คนหนึ่งถูกทางการไทยเนรเทศกลับกัมพูชาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนอีกจำนวนหกรายพบว่าเป็นผู้ที่หนีออกจากกัมพูชาเมื่อปี 2565 โดยหลังหนีออกมาไม่นานพวกเขาก็ถูกตั้งข้อหากบฏ
 
มีข้อมูลว่าตอนนี้นักกิจกรรมอีกหกรายที่เป็นผู้ใหญ่ดังกล่าวถูกขังแยกออกจากกันในเรือนจำสามแห่งในประเทศกัมพูชา จากข้อมูลทางการเรือนจำที่กัมพูชาระบุว่าผู้เยาว์ที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับนั้นถูกปล่อยตัวให้ไปอยู่กับครอบครัวแล้ว เมื่อเขาเดินทางไปถึงกัมพูชา
 
นางวิเวียน ถัน โฆษกข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR กล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดต่อ กฎหมายภายในประเทศของประเทศไทยคุ้มครองผู้ที่อาจเผชิญกับอันตรายเมื่อกลับไปที่บ้านเกิด
 
“"UNHCR มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาของไทย ซึ่งละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ” นางถันกล่าวผ่านอีเมลไปยัง RFA กัมพูชา และกล่าวต่อว่าหลักการนี้กําหนดให้รัฐที่มีความผูกพันรวมถึงประเทศไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีบุคคลใดถูกขับไล่หรือส่งกลับไปยังดินแดนที่ชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย
 
UNHCR เรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นในคํามั่นสัญญาภายใต้กฎหมายภายในประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เพื่อรักษาหลักการไม่ส่งกลับ” นางถันกล่าว
 
อนึ่งประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายที่นางถันกล่าวถึงไปเมื่อปี 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งรายละเอียดกฎหมายระบุว่าให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรม และปกป้องหลักการไม่ส่งกลับ
 
นางถันกล่าวว่าเธอตั้งข้อสังเกตว่าเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นหลานชายวัย 7 ขวบของนักกิจกรรมคนหนึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเนรเทศ ซึ่งเรืองนี้ เป็นเรื่องที่น่าตกใจเนื่องจากขัดกับหลักการของการกระทําเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กของประเทศไทยและกฎหมายอื่นๆ กําหนด
มีรายงานว่านักกิจกรรมชาวกัมพูชาคนอื่นที่ยังอยู่ในประเทศไทยให้สัมภาษณ์ RFA ว่าตอนนี้พวกเขากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและต้องอาศัยด้วยความกลัวว่าจะมีใครมาเคาะประตูบ้าน
 
นายเพน บุนธรกล่าวว่าชุมชนผู้เห็นต่างชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มองว่าการเนรเทศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เป็นลางสังหรณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และเหล่าผู้เห็นต่างตอนนี้กําลังใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าทางการไทยจะมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น
 
ทางด้านของนายบึง โกฟฮูน ผู้เห็นต่างอีกรายกล่าวว่านับตั้งแต่การเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาจำนวนหกคน ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาอีกจำนวนเกือบนับร้อยคนก็ต้องหนีจากห้องเช่าของพวกเขา เพื่อไปหาที่อยู่อาศัยใหม่และตกลงที่จะหยุดการนัดพบปะกัน
 
นายบึงได้กล่าวต่อไปโดยเรียกร้องให้สํานักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเร่งดําเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการหาการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามก่อนที่ชาวกัมพูชาจะถูกจับกุมและเนรเทศมากขึ้น
 
ทางด้านของนางเอเลน เพียร์สัน ผู้อํานวยการกิจการเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ารัฐบาลไทยควรหยุดร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อช่วยไล่ล่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบสภาเมื่อเจ็ดปีก่อน
 
เจ้าหน้าที่ไทยเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเหล่านี้โดยเพิกเฉยต่อหลักการคุ้มครองผู้ลี้ภัยขั้นพื้นฐานอย่างโจ่งแจ้ง” นางเพียร์สันกล่าวผ่านอีเมลที่ส่งมายัง RFAและกล่าวว่าทางการไทยไม่ควรสมรู้ร่วมคิดในการข่มเหงผู้วิพากษ์วิจารณ์ข้ามชาติของรัฐบาลกัมพูชา
 
เรียบเรียงจาก : https://www.rfa.org/english/cambodia/2024/11/27/cambodia-refugees-refoulement/



ปิยบุตร มองประชาธิปไตยไทย 2 ใบอนุญาต ทำการเมืองชัดขึ้น จาก 3 ก๊กอำนาจ เหลือแค่ 2 ขั้ว 
https://www.matichon.co.th/politics/news_4925924
 
ปิยบุตร มองประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต ทำการเมืองไทยชัดขึ้น จาก 3 ก๊กอำนาจ เหลือแค่ 2 ขั้ว
 
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง [จาก 3 ก๊ก เคลื่อนสู่ 2 ขั้ว] ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อการแบ่งขั้วทางการเมืองในปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” ก็มีคำอธิบายกันว่า การเมืองไทยในระยะต่อไป แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่
 
1. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล/ประชาชน
2. พรรคเพื่อไทย
3. กลุ่มอนุรักษนิยมดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วย กลไกรัฐ และมวลชน ที่ไม่ชอบทั้ง 1 และ 2 โดยมีหลายพรรคพยายามแย่งชิงการเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้
ฐานคิดของการวิเคราะห์แบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 3 ข้อ
 
1. พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันรักษา “ยี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” เรื่องการต่อสู้ ที่ได้รับมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังมีความพยายามที่จะหาหนทางใช้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอยู่บ้าง แม้ในเรื่องเล็กน้อย หรือทำทีละเล็กละน้อย ก็ตาม
 
2. กลุ่มอนุรักษนิยมดั้งเดิม “ขาประจำ” ที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ยังคงยืนยันไม่ชอบ และพยายามหาหนทางกำจัดคุณทักษิณต่อไป
 
3. พรรคเพื่อไทย บางส่วนยังคิดเชื่อมกับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน อยู่บ้าง ในฐานะที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันและต่อสู้ด้วยกันมากว่า 10 ปี และบางส่วนอาจคอยหยิบฉวยเอาพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ไปใช้เป็น ”ไพ่โจ๊กเกอร์“ ต่อรองกับชนชั้นนำและพรรคร่วมรัฐบาลได้
 
ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์เช่นนี้ และยังเคยนำไปพูดในหลายรายการว่า การเมืองแบบ 3 ก๊ก จะไม่มีก๊กใดก๊กหนึ่งยึดเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กไม่ต้องการให้มีก๊กใดก๊กหนึ่งขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กจะพยายามแสวงหาพันธมิตรชั่วคราว เพื่อสู้กับอีกก๊ก
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลทำงานมาสักระยะ จนคุณเศรษฐา รับภัยจาก “นิติสงคราม” เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นคุณแพทองธาร เราได้เห็นการแสดงออกหลายต่อหลายครั้งของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะแกนนำ (ทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบทางการและทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบไม่เป็นทางการ) และ บรรดา ส.ส.หลายคน ที่ต้องการเอาใจผู้ออกใบอนุญาตใบที่สอง
 
แม้เรื่องที่ง่ายที่สุด เบาที่สุด ไม่ได้ชัดเจนฟันธง คลุมๆ เครือๆ อย่าง รายงานการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง ก็ยัง “กระโดดหนี” กันเกือบยกพรรค
 
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่า การแบ่ง 3 ก๊ก แบบที่ว่ากัน หรือที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วิเคราะห์ไว้ในรายการต่างๆ นั้น อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจเป็นการวิเคราะห์จาก กระดานการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. มากกว่าปัจจัยชี้ขาดเรื่องความคิดและการต่อสู้
ผมจึงขอทดลองเสนอให้พิจารณาการแบ่งขั้วการเมืองโดยใช้ ”ชุดความคิดและแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง“ เป็นเส้นแบ่ง แทน
ดังที่ผมเคยนำเสนอในหลายโอกาสว่า ทุกวันนี้ การเมืองไทยอยู่ใน ”ระบอบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต”
พรรคการเมืองจะเข้าสู่อำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลได้ นอกจากได้รับใบอนุญาตจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีใบอนุญาตให้เป็นรัฐบาล จากชนชั้นนำจารีตประเพณี อีกด้วย
 
พรรคการเมืองอาจชนะเลือกตั้ง แต่ผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่สองไม่เอา พรรคนั้นก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล
พรรคการเมืองอาจตั้งรัฐบาลไปได้ แต่แล้วผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่สองไม่พอใจ ก็อาจยึดคืนใบอนุญาตได้
ระบอบ 2 ใบอนุญาตนี้ ทำให้การเมืองไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ จนพรรคการเมืองหันเหไปให้น้ำหนักกับใบอนุญาตใบที่สองมากกว่าใบแรก
หากนำความคิด “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งขั้วการเมือง ผมเห็นว่า การเมืองไทยกำลังเคลื่อนที่จาก “3 ก๊ก” ไปสู่ “2 ขั้ว” คือ พลังใหม่ และพลังเก่า
 
พลังใหม่ คือ พลังทางการเมืองที่ให้น้ำหนักกับใบอนุญาตใบแรกของประชาชนเป็นสำคัญ และพยายามปรับโครงสร้างอำนาจการเมือง ยึดใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อให้เหลือใบอนุญาตของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดเพียงใบเดียว ตามระบบปกติ
 
พลังเก่า คือ พลังทางการเมืองที่หมอบ สยบยอม เอาใจ สวามิภักดิ์ กับผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตที่สอง ส่วนใบอนุญาตใบแรกนั้น ก็หามาพอสังเขป
 
ณ วันนี้ การเมืองไทย มิใช่ 3 ก๊ก แต่เป็น 2 ขั้ว
 
ขั้วหนึ่ง พลังใหม่ ที่ต้องการยึดใบอนุญาตที่สอง ปรับให้การเมืองมาสู่ระบบปกติ
 
อีกขั้วหนึ่ง พลังเก่า ที่มีหลายพรรคการเมืองกำลังแย่งกันเอาอกเอาใจผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อขอให้พวกตนเองได้ตำแหน่ง อำนาจวาสนา เพื่อนำอำนาจมาแก้ปัญหาส่วนตนของพรรคพวกตนเอง เพื่อเอาใบอนุญาตที่ 2 มาชิงความได้เปรียบทางการเมือง และเพื่อให้ระบอบ 2 ใบอนุญาตนี้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะพวกตนได้ประโยชน์
 
พรรคการเมืองใด เป็นพลังใหม่ หรือพลังเก่า ประชาชนย่อมพิจารณาได้เองจากการกระทำ การแสดงออก และจุดยืนของพรรคการเมือง
 
https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/pfbid034hJM2cVXs9XbB8QbSx5yDoK3CZcRTf2KkLttUa5tzqYWYF9j3WQDKU7VQSf1ZJLql
  


วิโรจน์ ยันชัดเอกสารไม่ตรงกัน หลังกมธ.เรียกถกยิบ ที่ตั้งค่ายทหารบุรีรัมย์ จ่อถามต่อ กรมที่ดิน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4926081

เขากระโดง – กมธ.ทหาร ถกที่ตั้งค่ายทหาร ทับที่ชาวบ้าน “รองผบ.มทบ.26“ ยันอนุมัติถูกต้อง แจง ขออนุญาต 3 ครั้ง 3 แปลง เอกสารถูกต้อง แต่มีคลาดเคลื่อนบ้าง ขณะที่ ”วิโรจน์“ แฉเอกสารสำคัญระบุที่ตั้งไม่ตรงกัน เตรียมทำหนังสือสอบถามกรมที่ดิน
 
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนรษฎร ที่มี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กรณีการตั้งค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 หรือ ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทับที่ดินของประชาชน ใน จ.บุรีรัมย์ โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย จ.บุรีรัมย์ กรมที่ดิน กรมทางหลวง มณฑลทหารบกที่ 26 และกรมโยธาธิการ และผังเมือง เข้าร่วมชี้แจง โดยมี นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เข้าฟังการชี้แจงด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่