คอลัมน์ รายงานพิเศษ จากข่าวสดออนไลน์
ปัญหาประสิทธิภาพการให้บริการและภาระหนี้มหาศาลกว่า 1.1 แสนล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งการบริหารงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวครั้งใหญ่ พร้อมทั้งเดิน หน้าขยายการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ แม้ว่าแหล่งเงินทุนก้อนใหญ่จะหายวับไปกับตา เพราะพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้
- เร่งปรับโครงสร้างองค์กร
ภารกิจแรกที่ถือว่าสำคัญที่ต้องเร่งสะสางคือการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษารายละเอียดรูปแบบการปรับโครงสร้างองค์กร คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ รฟท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
แนวคิดเบื้องต้นคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้มีความคล่องตัวเหมือนกับหน่วยงานเอกชน เริ่มจากเตรียมปรับลดตำแหน่งรองผู้ว่าฯ รฟท. ให้เหลือเพียง 4 คน จากปัจจุบัน 7 คน แบ่งการทำงานตามภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ และกลางจะรวมกับตะวันออก โดยส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่จะกระจายอำนาจให้ทั้ง 4 ภาค ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจมีฝ่ายต่างๆ เช่นเดียวกับส่วนกลาง เช่น หน่วยเดินรถ บริหารทรัพย์สิน โยธาและก่อสร้าง อาณาบาล นโยบายและแผน และประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะที่ผู้บริหารแต่ละภาคสามารถเสนอขอจัดสรรงบประมาณเข้ามายังส่วนกลางได้ แต่จะต้องมีการแยกบัญชีรายได้และรายรับออกจากส่วนกลางทั้งหมด เพื่อให้แต่ละภาคทำงานแข่งกันเอง โดยจะมีตัวชี้วัดผลงานเป็นเคพีไอ ภาคไหนบริหารดีมีกำไรจะได้รับโบนัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งยังมีแผนที่จะเปิดรับพนักงานใหม่อีก 1 หมื่นคน เพื่อนำมาเสริมกำลังคนปัจจุบันที่มีเหลืออยู่เพียง 1 หมื่นคนเท่านั้น
- ล้างหนี้กว่า 1 แสนล้าน
ภารกิจถัดมาคือการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ราวๆ 1.1 แสนล้านบาท ด้วยการเตรียมยกที่ดินย่านทำเลทอง 2 แปลง คือบริเวณมักกะสันจำนวน 500 ไร่ และสถานีแม่น้ำ 270 ไร่ ให้กระทรวงการคลังนำไปพัฒนาระยะยาว 99 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งหาก รฟท.ปลอดหนี้ก็จะสามารถกู้เงินมาลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ได้
ปัจจุบัน รฟท.มีที่ดินทั่วประเทศ 234,976 ไร่ มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินเพื่อการเดินรถ 198,614 ไร่ และที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 36,302 ไร่ โดยมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเฉลี่ยปีละ 1,600-2,000 ล้านบาท สำหรับที่ดินเชิงพาณิชย์ 36,302 ไร่ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถนำไปจัดหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ ที่มีศักยภาพสูง เช่น ที่ดินบริเวณมักกะสัน ที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ ที่ดินย่านพหลโยธิน 1,000 ไร่ และที่ดินซึ่งเช่าระยะยาวโดยกลุ่มเซ็นทรัล บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน 47 ไร่
- ลุยลงทุนยกระดับบริการ
นอกจากนี้ยังจะขยายการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟทั่วประเทศเฉลี่ย 40 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดและต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้ว่า รฟท. ต้องเจอกับข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการนำมาจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ ปรับปรุงซ่อมแซมทางรถไฟที่ชำรุดอย่างหนัก รวมไปถึงขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่ ภายหลังพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านแท้งไม่เป็นท่า
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกโครงการลงทุนเดิมทั้งหมดที่บรรจุในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้าน เป็นอันขาด เพราะทุกโครงการจำเป็นต่อการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันระบบรางของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นรวมทั้งการจัดซื้อและเช่าหัวรถจักร โดยเตรียมที่จะนำทุกโครงการเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินลงทุนแห่งใหม่ต่อไป
- ดันต่อสร้างทางคู่5เส้นทาง
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางนั้น ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกอบด้วย
1. รถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินพ.ร.บ.เงินกู้ 29,221.28 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 120 ล้านบาท
2. สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 21,196.07 ล้านบาทและเงินจากงบประมาณ 113.55 ล้านบาท
3. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 16,215.10 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 76.30 ล้านบาท
4. สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 20,833.43 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 107.17 ล้านบาท
5. สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 17,683.82 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 120 ล้านบาท
- ซื้อ-เช่าหัวรถจักรเพิ่ม
ส่วนโครงการจัดซื้อและเช่าหัวรถจักร รฟท.ได้ประกาศร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) การจัดหาหัวรถจักรเพิ่มอีก 50 คัน วงเงิน 5,750 ล้านบาท เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ใช้งานได้จริงเพียง 140-150 หัว รวมทั้งในเดือนก.ค. ยังเตรียมที่จะรับมอบรถจักร 2 คันแรกจากทั้งหมด 20 คัน ที่จัดซื้อไปในช่วงก่อนนี้ ซึ่งจะทยอยรับมอบจนครบช่วงต้นปี 2558 สำหรับ การเช่าหัวรถจักร รฟท.มีแผนที่จะเช่าเพิ่มอีก 20 หัว เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า วงเงินประมาณ ค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 35,000-40,000 บาทต่อวันต่อหัว พร้อมค่าบำรุงรักษาในเวลา 15 ปี รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 4,380 ล้านบาท ล่าสุดมีผู้ผลิตหลายรายสนใจ เช่น จีอี ของสหรัฐ จีน และเกาหลี ที่แสดงความสนใจ โดยล่าสุดบอร์ด รฟท.เห็นชอบในหลักการแล้ว รอเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และครม.ชุดใหม่พิจารณา
- เดินหน้าซ่อมทางรถไฟสายใต้
สำหรับงานซ่อมและบำรุงทางรถไฟทั่วประเทศก็จะทำต่อเนื่องหลังจากปิดทางสายเหนือซ่อมบำรุงมาแล้วเมื่อปีก่อน โดยในปีนี้มีแผนที่จะซ่อมบำรุงทางรถไฟสายใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีการเดินรถค่อนข้างถี่รวมทั้งการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า ซึ่งขาดการซ่อมบำรุงมานานกว่า 10 ปี ทำให้สภาพรางชำรุดทรุดโทรมจนกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งจะเห็นได้จากอุบัติเหตุตกรางอยู่บ่อยๆ สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ ปรับปรุงการดำเนินงานรถไฟไทยวงเงินรวม 1.7 แสนล้าน ที่ได้รับจัดสรรมาจากงบไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ส่วนทางรถไฟสายใต้จะปรับปรุงรวมระยะทางประมาณ 947 กิโลเมตร โดยจะมีการเสริมคันดิน เปลี่ยนไม้หมอนเป็นคอนกรีต เปลี่ยนรางที่เก่าชำรุดขนาด 60-80 ปอนด์ เป็นขนาดมาตรฐาน 100 ปอนด์ ตลอดทางรถไฟสายใต้ เริ่มต้นจากสถานีหัวหิน ถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รวมถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้ได้ประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้วรวม 8 สัญญา วงเงินรวม 8,598.927 ล้านบาท ตั้งเป้าจะเริ่มทยอยปิดทางรถไฟเพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่ เดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาซ่อมแซมรวม 3 ปี
- ศึกษาสร้างไฮสปีด4เส้น
แม้ว่ารัฐบาลนี้จะหมดหวังกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความหวังที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงไว้ใช้ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ รฟท. ศึกษารายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง-ตราด และโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทาง ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับผิดชอบ และอยู่ ระหว่างเตรียมข้อมูล เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และการจัดซื้อ-เช่าหัวรถจักร เป็นต้น เพื่อนำเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณา หลังจากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต คาดว่าภายในเดือนพ.ค.นี้ จะเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคการประกวดราคาสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงรถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาท โดยยืนยันว่าทุกโครงการมีความจำเป็น เพื่อยกระดับระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากนี้ต้องรอดูว่าในยุค "ประภัสร์ จงสงวน" รถไฟไทยจะกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวไทยได้จริงตามคำที่ผู้ว่าฯ คนนี้เคยประกาศไว้เมื่อครั้งที่เข้ารับตำแหน่งวันแรกช่วงเดือนพ.ย. 2555 หรือไม่
"ประภัสร์"ยกเครื่องรถไฟ ลุยปรับโครงสร้าง-ล้างหนี้
ปัญหาประสิทธิภาพการให้บริการและภาระหนี้มหาศาลกว่า 1.1 แสนล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งการบริหารงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวครั้งใหญ่ พร้อมทั้งเดิน หน้าขยายการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ แม้ว่าแหล่งเงินทุนก้อนใหญ่จะหายวับไปกับตา เพราะพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้
- เร่งปรับโครงสร้างองค์กร
ภารกิจแรกที่ถือว่าสำคัญที่ต้องเร่งสะสางคือการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษารายละเอียดรูปแบบการปรับโครงสร้างองค์กร คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ รฟท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
แนวคิดเบื้องต้นคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้มีความคล่องตัวเหมือนกับหน่วยงานเอกชน เริ่มจากเตรียมปรับลดตำแหน่งรองผู้ว่าฯ รฟท. ให้เหลือเพียง 4 คน จากปัจจุบัน 7 คน แบ่งการทำงานตามภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ และกลางจะรวมกับตะวันออก โดยส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่จะกระจายอำนาจให้ทั้ง 4 ภาค ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจมีฝ่ายต่างๆ เช่นเดียวกับส่วนกลาง เช่น หน่วยเดินรถ บริหารทรัพย์สิน โยธาและก่อสร้าง อาณาบาล นโยบายและแผน และประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะที่ผู้บริหารแต่ละภาคสามารถเสนอขอจัดสรรงบประมาณเข้ามายังส่วนกลางได้ แต่จะต้องมีการแยกบัญชีรายได้และรายรับออกจากส่วนกลางทั้งหมด เพื่อให้แต่ละภาคทำงานแข่งกันเอง โดยจะมีตัวชี้วัดผลงานเป็นเคพีไอ ภาคไหนบริหารดีมีกำไรจะได้รับโบนัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งยังมีแผนที่จะเปิดรับพนักงานใหม่อีก 1 หมื่นคน เพื่อนำมาเสริมกำลังคนปัจจุบันที่มีเหลืออยู่เพียง 1 หมื่นคนเท่านั้น
- ล้างหนี้กว่า 1 แสนล้าน
ภารกิจถัดมาคือการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ราวๆ 1.1 แสนล้านบาท ด้วยการเตรียมยกที่ดินย่านทำเลทอง 2 แปลง คือบริเวณมักกะสันจำนวน 500 ไร่ และสถานีแม่น้ำ 270 ไร่ ให้กระทรวงการคลังนำไปพัฒนาระยะยาว 99 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งหาก รฟท.ปลอดหนี้ก็จะสามารถกู้เงินมาลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ได้
ปัจจุบัน รฟท.มีที่ดินทั่วประเทศ 234,976 ไร่ มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินเพื่อการเดินรถ 198,614 ไร่ และที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 36,302 ไร่ โดยมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเฉลี่ยปีละ 1,600-2,000 ล้านบาท สำหรับที่ดินเชิงพาณิชย์ 36,302 ไร่ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถนำไปจัดหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ ที่มีศักยภาพสูง เช่น ที่ดินบริเวณมักกะสัน ที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ ที่ดินย่านพหลโยธิน 1,000 ไร่ และที่ดินซึ่งเช่าระยะยาวโดยกลุ่มเซ็นทรัล บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน 47 ไร่
- ลุยลงทุนยกระดับบริการ
นอกจากนี้ยังจะขยายการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟทั่วประเทศเฉลี่ย 40 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดและต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้ว่า รฟท. ต้องเจอกับข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการนำมาจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ ปรับปรุงซ่อมแซมทางรถไฟที่ชำรุดอย่างหนัก รวมไปถึงขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่ ภายหลังพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านแท้งไม่เป็นท่า
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกโครงการลงทุนเดิมทั้งหมดที่บรรจุในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้าน เป็นอันขาด เพราะทุกโครงการจำเป็นต่อการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันระบบรางของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นรวมทั้งการจัดซื้อและเช่าหัวรถจักร โดยเตรียมที่จะนำทุกโครงการเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินลงทุนแห่งใหม่ต่อไป
- ดันต่อสร้างทางคู่5เส้นทาง
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางนั้น ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกอบด้วย
1. รถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินพ.ร.บ.เงินกู้ 29,221.28 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 120 ล้านบาท
2. สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 21,196.07 ล้านบาทและเงินจากงบประมาณ 113.55 ล้านบาท
3. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 16,215.10 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 76.30 ล้านบาท
4. สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 20,833.43 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 107.17 ล้านบาท
5. สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร เดิมจะใช้เงินจากพ.ร.บ.เงินกู้ 17,683.82 ล้านบาท และเงินจากงบประมาณ 120 ล้านบาท
- ซื้อ-เช่าหัวรถจักรเพิ่ม
ส่วนโครงการจัดซื้อและเช่าหัวรถจักร รฟท.ได้ประกาศร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) การจัดหาหัวรถจักรเพิ่มอีก 50 คัน วงเงิน 5,750 ล้านบาท เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ใช้งานได้จริงเพียง 140-150 หัว รวมทั้งในเดือนก.ค. ยังเตรียมที่จะรับมอบรถจักร 2 คันแรกจากทั้งหมด 20 คัน ที่จัดซื้อไปในช่วงก่อนนี้ ซึ่งจะทยอยรับมอบจนครบช่วงต้นปี 2558 สำหรับ การเช่าหัวรถจักร รฟท.มีแผนที่จะเช่าเพิ่มอีก 20 หัว เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า วงเงินประมาณ ค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 35,000-40,000 บาทต่อวันต่อหัว พร้อมค่าบำรุงรักษาในเวลา 15 ปี รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 4,380 ล้านบาท ล่าสุดมีผู้ผลิตหลายรายสนใจ เช่น จีอี ของสหรัฐ จีน และเกาหลี ที่แสดงความสนใจ โดยล่าสุดบอร์ด รฟท.เห็นชอบในหลักการแล้ว รอเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และครม.ชุดใหม่พิจารณา
- เดินหน้าซ่อมทางรถไฟสายใต้
สำหรับงานซ่อมและบำรุงทางรถไฟทั่วประเทศก็จะทำต่อเนื่องหลังจากปิดทางสายเหนือซ่อมบำรุงมาแล้วเมื่อปีก่อน โดยในปีนี้มีแผนที่จะซ่อมบำรุงทางรถไฟสายใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีการเดินรถค่อนข้างถี่รวมทั้งการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า ซึ่งขาดการซ่อมบำรุงมานานกว่า 10 ปี ทำให้สภาพรางชำรุดทรุดโทรมจนกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งจะเห็นได้จากอุบัติเหตุตกรางอยู่บ่อยๆ สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ ปรับปรุงการดำเนินงานรถไฟไทยวงเงินรวม 1.7 แสนล้าน ที่ได้รับจัดสรรมาจากงบไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ส่วนทางรถไฟสายใต้จะปรับปรุงรวมระยะทางประมาณ 947 กิโลเมตร โดยจะมีการเสริมคันดิน เปลี่ยนไม้หมอนเป็นคอนกรีต เปลี่ยนรางที่เก่าชำรุดขนาด 60-80 ปอนด์ เป็นขนาดมาตรฐาน 100 ปอนด์ ตลอดทางรถไฟสายใต้ เริ่มต้นจากสถานีหัวหิน ถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รวมถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้ได้ประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้วรวม 8 สัญญา วงเงินรวม 8,598.927 ล้านบาท ตั้งเป้าจะเริ่มทยอยปิดทางรถไฟเพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่ เดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาซ่อมแซมรวม 3 ปี
- ศึกษาสร้างไฮสปีด4เส้น
แม้ว่ารัฐบาลนี้จะหมดหวังกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความหวังที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงไว้ใช้ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ รฟท. ศึกษารายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง-ตราด และโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทาง ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับผิดชอบ และอยู่ ระหว่างเตรียมข้อมูล เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และการจัดซื้อ-เช่าหัวรถจักร เป็นต้น เพื่อนำเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณา หลังจากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต คาดว่าภายในเดือนพ.ค.นี้ จะเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคการประกวดราคาสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงรถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาท โดยยืนยันว่าทุกโครงการมีความจำเป็น เพื่อยกระดับระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากนี้ต้องรอดูว่าในยุค "ประภัสร์ จงสงวน" รถไฟไทยจะกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวไทยได้จริงตามคำที่ผู้ว่าฯ คนนี้เคยประกาศไว้เมื่อครั้งที่เข้ารับตำแหน่งวันแรกช่วงเดือนพ.ย. 2555 หรือไม่