พอร์ตลงทุนสไตล์ "ปรารถนา"

กระทู้ข่าว
พอร์ตลงทุนสไตล์ "ปรารถนา" "ชีวิตเอกเขนกที่สร้างได้จากหุ้นปันผล"
updated: 16 พ.ค. 2557 เวลา 21:30:49 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์พิเศษ


ในวงการตลาดทุนมักจะมีกลุ่มนักลงทุนเงินหนา หรือที่เรียกกันว่า "นักลงทุนขาใหญ่" ที่ซื้อขายกันวันละเป็นหลักหนึ่งถึงสิบล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น มาแชร์ประสบการณ์ รวมถึงกลยุทธ์การทำกำไรต่าง ๆ ให้นักลงทุนได้ฟัง แต่สำหรับมุมของ "ปรารถนา มงคลกุล" ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แม็คกรุ๊ป (MC) บอกทันทีเลยว่า ตัวเอง "ไม่ใช่ขาใหญ่" และที่น่าสนใจมากกว่าคือ สามารถใช้ชีวิตได้แบบสบาย ๆ ด้วยเงินจากหุ้นที่ปันผลดีๆ ก็เท่านั้น




@เริ่มเข้ามาลงทุนตั้งแต่เมื่อไหร่

จำได้ว่าเริ่มลงทุนตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งยังไม่ได้เข้ามาลงทุนเต็มตัวมากเพราะเพิ่งจะทดลอง แต่พอเข้าสู่ช่วงประมาณต้นปี 2555 ก็จะจริงจังขึ้น เพราะเริ่มมีเวลาเข้าไปศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ชอบ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ พูดได้เลยว่ามีรายได้หลัก ๆ สำหรับใช้กินอยู่ จะมาจากเงินปันผล และกำไรจากการขายหุ้น (แคปปิตอลเกน)

@รีเทิร์นมากขนาดนี้พอร์ตน่าจะใหญ่มาก

ความจริงพอร์ตไม่ได้ใหญ่มากเลยขอยืนยัน แต่ก็มีกระแสข่าวเหมือนกันว่า พอร์ตเราไซซ์บิ๊กถึง 1 พันล้านบาท อันนี้เป็นความเข้าใจผิดนะ มูลนิธิต่างๆ ก็ส่งจดหมายมาขอบริจาคอย่างล้นหลาม (หัวเราะ) และยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ถึงจริงๆ เพียงแต่ว่าที่สามารถสร้างรายได้หลักจากการลงทุนได้ เป็นเพราะแนวคิดการจัดพอร์ตมากกว่า

@วางกลยุทธ์จัดพอร์ตอย่างไร

ประเด็นแรก เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ซึ่งส่วนตัวเป็นนักลงทุนประเภทหุ้นคุณค่า (วีไอ) ดังนั้นก็จะใช้วิธีแบ่งเงินลงทุนเป็นสองส่วน คือ สำหรับหุ้นดี ๆ ที่สามารถถือลงทุนได้ในระยะยาว จะมีสัดส่วนลงทุนประมาณ 85% ของพอร์ต หุ้นที่สนใจลงทุนเป็นกลุ่มค้าปลีก (รีเทล) เช่น บมจ.แม็คกรุ๊ป (MC) บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) บมจ.ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน (ROBINS) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เป็นต้น เพราะกลุ่มพวกนี้เรามีความเข้าใจธุรกิจพอสมควรอยู่แล้ว

นอกจากนี้ จะมีกลุ่มธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และกลุ่มสื่อสาร ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (IN-TUCH) ซึ่งหลายบริษัทจ่ายเงินปันผลดีมาก ขณะที่หุ้นกลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน และกลุ่มโรงพยาบาลก็ถือว่าน่าสนใจ และมักจะปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน หากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดี

ส่วนเงินอีกส่วนหนึ่งประมาณ 15% ของพอร์ตจะใช้สำหรับการซื้อขายระยะสั้น เพราะบางครั้งถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ธุรกิจนั้นมีแนวโน้มธุรกิจดีก็จะเข้าไปลงทุน

ดังนั้นการบาลานซ์พอร์ตแบบนี้ก็จะมีรายได้หลักจากหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีกำไรส่วนเพิ่มจากหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโต หรือปรับตัวขึ้นในระยะสั้นด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาในตลาด ก็อยากจะแนะนำเทคนิคการลงทุนอื่นๆ ด้วย คือ 1.หากมีงานประจำ อย่าเล่นแบบเก็งกำไร เพราะจะไม่มีเวลาทำงาน คุณต้องมาพะวงกับการซื้อขายตลอดเวลา

2.ต้องซื้อหุ้นในบริษัทที่รู้จัก ไม่ใช่ว่า "เขาเล่ามา" แล้วเชื่อตามเขา แบบนั้นอาจจะเสี่ยงต่อการขาดทุน อย่างน้อยที่สุดถ้าจะเข้ามาลงทุนก็ควรเริ่มจากการดูแนวโน้มของราคาหุ้นก่อน 3.คัดเลือกหุ้นเป้าหมาย ด้วยการลิสต์รายชื่อหุ้นที่สนใจ แล้วพยายามศึกษาข้อมูลให้เข้าใจธุรกิจนั้น ๆ อย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้สามารถลงทุนอย่างถูกจังหวะ ซึ่งส่วนตัวก็มีหุ้นที่ชอบอยู่ประมาณ 15-20 บริษัท ถ้าหากราคาตกก็พร้อมเข้าซื้อทันที

@หุ้น บจ.ไหนที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด

ส่วนตัวชอบ INTUCH นะ เรื่องนี้เราจะไม่พูดกันในเรื่องของประเด็นทางการเมือง แต่อยากให้มองในแง่ของตัวธุรกิจมากกว่า ซึ่ง INTUCH เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความสม่ำเสมอในด้านการจ่ายเงินปันผลมาก อีกทั้งยังเป็นโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมถึงพยายามต่อยอดธุรกิจด้วยการลงทุนบริษัทใหม่ ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีด้วย ดังนั้นด้วยสไตล์การลงทุนที่ต้องการมีรายได้ที่มั่นคง ก็เลยเลือกที่จะลงทุนใน INTUCH

@วางแผนสร้างรีเทิร์นช่วงตลาดผันผวนในปีนี้อย่างไร    

ตอนนี้กำลังมองหาช่องทางการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าตลาดในประเทศมีความเสี่ยงเรื่องการเมืองกดดันระดับหนึ่ง แต่แม้จะออกไปลงทุนในต่างประเทศก็ยังสนใจหุ้นผู้นำตลาด ที่เป็น Top Pick ของประเทศนั้น ๆ อยู่ รวมถึงตราสารหนี้ก็สนใจเช่นกัน แต่จะไม่เน้นไฮยีลด์บอนด์ เพราะมีความเสี่ยงสูงเกินไป ซึ่งไม่ตรงกับสไตล์การลงทุนนัก

ปีนี้ทั้งปีเราคาดว่าน่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ประมาณ 10-15% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ทำได้ 15-20% แต่หลังจากนี้ก็ยังมีโอกาสลุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้ทำการถอนเงินลงทุนจากการลงทุนระยะสั้นออกประมาณ 50% แล้ว ดังนั้นจึงมีกระสุนเหลือเพียงพอสำหรับการลงทุนในช่วงหลังจากนี้

และนี่คือสไตล์การลงทุนของ "ปรารถนา มงคลกุล" ที่จัดพอร์ตลงทุนแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่า "ชีวิตเอกเขนกสร้างได้จากหุ้นปันผล" โดยไม่ต้องร้อนรนเล่นหุ้นเก็งกำไร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่