เคยอ่านธรรมนิยายหลวงตาบวชมาทำไม? กันบ้างหรือยัง

กระทู้คำถาม
ใครที่ยังไม่เคยอ่านธรรมนิยาย "หลวงตาบวชมาทำไม" วันนี้เอามาแบ่งปันให้อ่านกันค่ะ

คำนำ
    พระพุทธศาสนาเปรียบดังร่มโพธิ์   ร่มไทร   หรือว่า   ร่มไม้   อันเต็มไปด้วยดอก   ผล  ใบ  ช่อ  กิ่งก้านสาขา   เปลือก   กระพี้และแก่น.   
ผู้ใดใคร่ที่จะพักพิง    เข้ามาอาศัยร่มเงา   เพื่อบรรเทาความเร่าร้อน    ก็เข้ามาพักผ่อนดับความรุ่มร้อนได้ตามปรารถนา.    ผู้ใดใคร่ประดับร่างกายให้สวยงาม  และสูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้    ก็เด็ดดมเชยชมได้สมอุรา.   ผู้ใดใคร่จะบริโภคผล  ก็ต้องปีนป่าย เหนี่ยวรั้ง   เก็บผลมานั่งบริโภคได้สมปรารถนา.   ผู้ใดใคร่ที่จะได้ใบ  ช่อ  กิ่งก้านหรือเปลือก  กระพี้   เพื่อเอาไปทำยา    ก็สามารถไขว่คว้าได้สมภิรมย์หมาย. ผู้ใดใคร่นักที่จักได้แก่น
ของต้นไม้ ก็ต้องใช้กำลังบากบั่นไม่ท้อแท้  ไม่ท้อถอย  พากเพียรโดยชอบ  ประกอบ ด้วยความเฉลียวฉลาด จึงจะได้มาซึ่งแก่น อันสามารถนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ตนและผู้อื่นได้.  พระพุทธศาสนาจึงเป็นเหมือนต้นไม้    ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ผู้ที่มีทุกข์   ต้องการบำบัดทุกข์   หรือต้องการจะพ้นจากทุกข์อย่างถาวร   เพราะฉะนั้น  ผู้ที่เข้ามาอาศัยพึ่งพิงต้นไม้  คือ  พระพุทธ ศาสนา    จึงควรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที   และมีปฏิการะ  คือ  มีการกระทำตอบแทนตามสมควร    เพื่อให้ต้นไม้พระพุทธศาสนา   มีการเจริญเติบโต   งอกงาม   และแพร่พันธุ์สืบต่อไป    อันจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
อีกสิ้นกาลนาน.    หากผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ แล้วไม่ช่วยกันรักษา ทำนุบำรุง  ป้องกันและแพร่พันธุ์ต้นไม้  แต่กลับช่วยกันตัด  โค่น  เผา  ทำลาย    โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล   ไม่คิดถึงประโยชน์อันเป็นสาระจริง ๆ  ของตนหรือของผู้อื่น    ในไม่ช้า    ต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ได้ทุกอย่างก็จะไม่เหลือแม้กระทั่งตอ   ย่อมสิ้นซากจากแผ่นดิน   นั่นก็หมายความว่า  พระพุทธศาสนา  ซึ่งพระศาสดาได้สั่งสมพระบารมีมายาวนานนับประมาณมิได้ เพื่อก่อตั้งไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่เหล่าสัตว์ จะต้องล่มสลาย    สูญหายไปจากโลกเร็วกว่าที่กำหนดไว้.     
    เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่ไม่ใข่พุทธะ คือ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา  แต่ไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า  ไม่รู้หน้าที่ของชาวพุทธ  ไม่รู้จักคุณสมบัติของชาวพุทธและไม่รู้จักข้อปฏิบัติที่ชาวพุทธควรบำเพ็ญ จึงล่วงเลยประโยชน์ในโลกนี้  ประโยชน์ในโลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งอันสูงสุด  เป็นผู้ที่ต้องการแก่นไม้  แต่ก็ไม่รู้จักแก่น  ไปคว้าเอาเปลือก  ใบ  กระพี้ ฯลฯ  โดยที่เข้าใจว่าเป็นแก่น   
ต้องการดอกไม้  ผลไม้ แต่ก็ไม่รู้จักดอกผล ไปถือเอาสิ่งอื่นโดยที่เข้าใจว่าเป็นดอกผล   ก็ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ที่ตนปรารถนา.  ความไม่รู้  ความหลง  คือ  อวิชชานี้แหละ   เป็นเหตุสำคัญ   ที่ทำให้ชาวพุทธล่วงละเมิดความถูกต้อง  ซึ่งก็คือพระธรรมวินัย  กลับไปปฏิบัติสิ่งที่ผิด  อันจะนำมาซึ่งทุกข์โทษทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น  โดยที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง   หรือโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์.
    โดยเฉพาะ ผู้ที่ได้บรรพชาอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนา  ควรที่จะได้เรียนรู้  ควรที่จะได้ศึกษาหลักคำสอน  ให้เข้าใจถูกต้อง  และเป็นแบบอย่างที่สมควรแก่ชนทั่วไป  แต่เมื่อไม่ศึกษาให้เข้าใจ    หรือไม่มีเป้าหมายที่ถูกต้อง  ในการบรรพชาอุปสมบท  จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิบัติผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย กลายเป็นแบบอย่าง  
ประเพณีที่ไม่ดีงาม  อันเป็นการแสดงถึงความเสื่อมทรามแห่งพระพุทธศาสนา  ซึ่งเราท่านทั้งหลาย  ก็ได้เห็นประจักษ์กันอยู่อย่างชัดเจนในปัจจุบันนี้.
จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้เป็นชาวพุทธ ที่ปรารถนาเป็นพุทธะ    ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  ในความเป็นชาวพุทธปัจจุบัน  มาเป็นชาวพุทธที่ปฏิบัติตามหลักคำสอน ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุผลและความถูกต้อง  อันจะนำมาซึ่งความสุขส่วนตนและประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม    โดยการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งยังคงสามารถนำมาปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่มีกาล  เป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย  ใครปฏิบัติได้ก็ย่อมจะมีผลเป็นความสุข   ตามสมควรแก่เหตุแน่นอน.
    การบวชในพระพุทธศาสนาเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด   เป็นสิ่งที่ไม่มีโทษ  มีคุณอย่างอเนกอนันต์  แต่สำหรับผู้ที่ไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ ถึงการณ์  
กลับทำสิ่งที่ไม่มีโทษให้มีโทษ    ทำสิ่งที่มีคุณให้ไม่เป็นประโยชน์     นับว่า   ช่างน่ากรุณาเสียเหลือเกินว่า   เหตุไฉนหนอ   
ท่านจึงไม่รักตนเองเอาเสียเลย   ทั้งไม่รักพระพุทธศาสนาด้วย.    เพราะฉะนั้น   จึงปรารถนาว่า   ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว     
จะได้ช่วยกันทำนุบำรุง    รดน้ำ   พรวนดินต้นไม้   พระพุทธศาสนา  โดยการร่วมกันศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน   ซึ่งไม่พ้นไปจากศีล    สมาธิ    ปัญญา    โดยเริ่มจากปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป    ส่วนผลคือปฏิเวธ    ย่อมบังเกิดตามสมควรแก่การปฏิบัติ.

               ด้วยความปรารถนาดีและจริงใจ

                              ภิกษุรูปหนึ่ง

(ปรารภพุธที่ ๙ พ.ค. ๕๐)             ( พุธที่ ๑๓ – เสาร์ที่ ๒๗ ก.ย. ๕๑)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่