สยาม กับ ไทย สงสัยมากค่ะ

กระทู้คำถาม
เรื่องของเรื่องคือเมื่อปี 52 (ผ่านมา5ปีแล้วหรือเนี่ยยย)ได้เขียนนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส  
ซึ่งเป็นเรื่องราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แล้วจะต้องบรรยายและให้ตัวละครพูดถึงคนไทยในสมัยนั้น
จำไม่ได้ว่าตอนค้นเรื่อง สยามกับไทย นี่คือได้คำตอบว่าอะไร

ทราบแต่รู้ว่าคนกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นในเอกสารทางราชการไม่ได้เรียกตัวเองว่าสยาม
แต่พูดถึงกรุงไทยว่าพระเจ้าอยู่หัวคือ  พระมหากษัตราธิราช กษัตริย์กรุงไทย
ในขณะที่ชาวต่างชาติที่มีเอกสารให้เห็นอย่างเด่นชัดก็เรียกชาวกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นชาวสยาม
จึงสรุปให้กับตัวเองว่าน่าจะใช้ได้ทั้งสองคำซึ่งก็ปรากฏตามในนิยายที่ตีพิมพ์
แต่ก็เน้นให้ตัวละครพูดถึงสยามเป็นหลักตามที่ชาวยุโรปเรียกเรา

และเนื่องจากชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ได้เขียนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้นและเรียกคนไทยว่า ชาวสยาม
ซึ่งทำให้สันนิฐานหรือเดาว่า ชาวต่างชาติไม่น่าจะเรียกเอง ถ้าเราไม่ได้บอกเขา เขาก็คงไม่รู้ว่าจะต้องเรียกเราว่าอะไรถูกไหมคะ

ดังนั้นดิฉันจึงเชื่อว่าสยามไม่ได้เป็นคำต้องห้าม หรือแปลในความหมายที่ไม่ดี  
หรือว่ามีเอกสารที่จำเพาะเจาะจงแน่ชัดคะ ว่าสยามเป็นคำต้องห้ามในสมัยนั้น
และหลงหูหลงตาดิฉันไปก็รบกวนผู้รู้ช่วยแจ้งเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ จะขอบพระคุณยิ่งค่ะ

ราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า สยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
จากเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้นดิฉันจึงคิดว่ากรุงศรีอยุธยาเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชนสยาม
จึงสามารถเรียกชื่อได้ว่า คนไทยที่อยู่ในสยาม หรือชาวสยามนั่นเอง

แต่พอมีคนอ่านนิยายทักว่าไม่ถูกต้องหลายคนเข้า
ก็ทำให้ดิชั้นลังเลขึ้นมาอีกรอบว่าดิฉันได้พลาดไปเพราะความเคยชินหรือเปล่า
และที่ถูกควรเป็นอย่างไรคะ สาเหตุที่มาถามไถ่ให้แน่ใจเพราะนิยายเรื่องนี้กำลังเป็นละคร
จึงอยากจะให้เผยแพร่สู่คนจำนวนมากในคำตอบที่ถูกต้องที่สุดค่ะ
ขอบคุณสำหรับคำตอบนะคะ^^
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
'ชาวต่างชาติไม่น่าจะเรียกเอง ถ้าเราไม่ได้บอกเขา เขาก็คงไม่รู้ว่าจะต้องเรียกเราว่าอะไรถูกไหมคะ'
ก็อาจจะถูกนะครับ แต่เราอาจจะบอกเขาไว้นานเป็นพันๆปี ก่อนปัจจุบันนะครับ ซึ่งระหว่างนั้นชื่อดินแดนหรือชนชาติก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแม้กระทั่งสาปสูญไปได้ แต่คนที่เคยเรียกก็ยังเรียกแบบนั้นต่อเนื่องมา

การเรียกว่า 'สยาม' ในสมัยนั้นน่าจะหมือนกับที่เราเรียกประเทศจีนซึ่งรากเดิมมาจากคำว่า 'ฉิน' แต่ต่อมาหลายพันปีเปลี่ยนราชวงศ์ไม่รู้เท่าไหร่ไม่มีฉินแล้ว ในบาลีก็ยังคงเรียก 'จีนะ' ซึ่งฝรั่งก็เรียก 'china' ซึ่งไทยก็รับมาเรียก 'จีน' ถ้าเกิดเราสรุปว่าสมัยนั้นต้องเรียกตัวเองว่า 'สยาม' เพราะต่างชาติเรียก แบบนี้เราก็พูดได้สิครับว่าประเทศจีนสมัยนั้นต้องเรียกตัวเองว่าจีนะ เพราะฝรั่งทั่วโลกเรียก china มาโดยตลอด

หากในประเทศของเรามีเรียกขานอย่างเดิมมาเป็นเวลานานแล้ว เราก็ยังคนเรียกแบบนั้น เราสามารถรู้ได้ผ่านรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ต้องถามเจ้าของประเทศ แล้วเราก็เรียกของเราด้วยความเคยชินอย่างที่เราเรียก ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ต่อให้เรารู้ว่าเขาเรียกว่ายังไง ก็ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเรียกตามเจ้าของประเทศนี่ครับ เพราะเราคุ้นเคยกับการเรียกของเราอยู่แล้ว



ที่ว่าไม่เรียก 'สยาม' เพราะเป็นคำต้องห้ามหรือความหมายทางลบคงไม่ใช่ครับ คำว่า 'สยาม' คำนี้อย่างว่าเป็นคำที่เรียกในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณซึ่งอาจจะรับมาหรือมีชนอื่นเรียก ซึ่งรากเดิมจิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่า "สยาม" มาจากคำว่า ซาม หรือ เซียม และคำที่คล้ายคลึงกับคำทั้งสองนั้นคือ ซำ หรือ ซัม ซึ่งเป็นภาษาไตเก่าแก่มีความหมายเกี่ยวกับน้ำและที่ราบลุ่ม เนื่องด้วยลักษณะพิเศษของคนไตที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามซำต่าง ๆ ทำให้ชนชาติใกล้เคียงเรียกคนไตว่าพวก ซำ หรือ ซัม"

เข้าใจว่าเมื่อเวลาผ่านไปความหมายก็อาจเปลี่ยน คนก็อาจจะลืมเลือนหมด อย่างที่ลาลูแบร์ที่ว่า  "ชื่อ เซียม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวเซียม คำนี้เป็นคำหนึ่งในบรรดาคำที่พวกโปรตุเกสในอินเดียใช้กัน, และก็เป็นคำที่ยากจะค้นหารากเหง้าที่มาของมันได้ พวกโปรตุเกสใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกชนชาติ มิใช่เป็นชื่อราชอาณาจักร.....อนึ่งใครก็ตามที่เข้าใจภาษาโปรตุเกสย่อมรู้ดีว่า รูปคำที่โปรตุเกสเขียนคำนี้เป็น Siam บ้างและ Siao บ้างนั้น เป็นคำเดียวกัน และถ้าจะเอาคำโปรตุเกสนี้มาอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีของฝรั่งเศสเราแล้วก็ต้องออกเสียงว่า ซียอง (Sions) มิใช่เซียม (Siams); เช่นเดียวกัน เมื่อเขียนเป็นภาษาละติน ก็เรียกชนชาตินี้ว่า ซิโอเน (Siones)

"ชาวเซียมนั้นเรียกตัวเองว่า ไท (Tai), หมายความว่า อิสระ, ตามความหมายของคำในภาษาของเขาซึ่งยังมีความหมายเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้ ชาวเซียมมีความภูมิใจที่ใช้คำนี้เช่นเดียวกันกับบรรรพบุรุษของเราซึ่งใช้นามว่า ฟรองซ์ (Franc) เมื่อได้กอบกู้อิสระภาพของชาวกอลให้หลุดพ้นจากอำนาจครอบครองของโรมันมาได้ ผู้ที่รู้ภาษามอญ (Pegu) ยืนยันว่าคำ เซียม ในภาษามอญนั้นแปลว่า อิสระ ถ้าเช่นนั้นบางทีคงจะเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสยืมคำนี้มาจากภาษามอญ, น่าจะเป็นว่าได้รู้จักชาวเซียมโดยผ่านชาวมอญอีกที แต่อย่างไรก็ดี นาวารเรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรจีน (Traitez Historique du Royaume de la Chine) บทที่ ๑ ตอนที่ ๕ ว่า ชื่อ เซียม, ซึ่งนายนาวาเรตเขียน เซียน (Sian) นั้น, มาจากคำสองคำคือ เซียนหลอ (Sian-lo), แต่หาได้อธิบายไว้ไม่ว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายว่ากระไร, ทั้งก็มิได้บอกไว้ว่าเป็นคำภาษาอะไร, ชวนให้เราเข้าใจว่า นายนาวาเรตถือว่า คำทั้งสองนั้นเป็นภาษาจีน..."

หรือนิโกลาส์ แชรแวสกล่าวว่า "...ชาวต่างประเทศเรียก สยาม(Siam)เป็นนามราชอาณาจักร แต่คนพื้นเมืองรู้จักแต่คำว่า เมืองไทย(Meüang-Thây)หรือไม่ก็เมืองกรุงเทพมหานคร(Meüang-Croung-Thêp-Maanacone)"

คำว่า 'สยาม' จะว่าคนไทยไม่รู้จักเลยคงไม่ใช่ เพราะมีใช้อยู่ในทางสงฆ์ ในงานแต่งวรรณกรรมบาลีหรืออย่างเช่นในหนังสือที่พระแต่งภาษามคธ ก็เรียก 'สยามทิยราชปเทเส'(ประเทศของพระเจ้าแผ่นดินไทยคือสยาม) เข้าใจว่าในสมัยนั้นคำว่าสยามน่าจะเป็นคำโบราณที่ใช้เรียกดินแดนแถบนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏใช้งานจริงทางราชการหรือการเรียกทั่วๆไป เมื่อเทียบกับ 'ไทย' หรือ 'อยุทธยา' ที่เรียกตลอดในสมัยกรุงศรีอยุทธยา(แต่คำว่าอยุทธยาจะแพร่หลายกว่า)

ในสมัยอยุทธยาไม่เคยพบหลักฐานว่าเราเรียกตนว่า 'สยาม' อย่างเป็นทางการเพิ่งมาใช้เป็นทางการครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ ครับ
ในอดีตกษัตริย์ก็เรียกว่า 'พระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา' 'พระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา' หรือ 'พระมหากษัตรยาธิราชเจ้ากรุงไทย' ไม่เคยเรียกว่า 'พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม'

ในพระราชกำหนดกฏหมายเก่าของอยุทธยาก็เรียกชนชาติว่า 'ใท' 'ไท' 'ไทย' ไม่ปรากฏเรียกสยาม

ในสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๒๓๐ ระบุว่า ใช้ ภาษาไทย ไม่ใช่ ภาษาสยาม



ในสมัยพระเพทราชา และสมัยธนบุรีต่างเรียกแผ่นดินกว่า 'กรุงไทย' ไม่ใช่ 'กรุงสยาม' เรียก 'ชาวไทย่' ไม่เรียก 'ชาวสยาม' ดังในจดหมายเจ้าพระญาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ โกษาปานที่ส่งไปฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๒๓๖

จดหมายเจ้าพระญาศรีธรรมราชปานถึงพระอธิกรณ์ เดอ ลา แชส (François de la Chaise) พระไถ่บาป (confessor) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14



จดหมายเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ส่งถึง มองซิเออร์ เดอ ปงต์ชาร์แตรง (Louis Phélypeaux, comte de Pontchartrain) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศส


และพระราชสาส์นที่พระเจ้ากรุงธนบุรีที่ส่งไปเมืองจีนก็ใช้คำว่า ไทย เช่นเดียวกัน

แล้วก็เอกสารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถึงพระเพทราชาที่มีต้นฉบับภาษาไทยเหลือ ฉบับฝรั่งเศสจะเขียน 'สยาม' แต่ฉบับภาษาไทยเขียน'ไทย' ไม่ก็เขียน 'กรุงศรีอยุทธยา' ทุกฉบับ ไม่มีคำว่า 'สยาม' ปรากฏในฉบับภาษาไทย


วรรณกรรมเก่าๆของสมัยอยุทธยาก็ใช้คำว่า 'ไทย' ตลอด อย่างวรรณคดียุคตันอยุทธยาอย่างลิลิตพระลอ "...ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทยไชเยศ คืนยังประเทศพิศาล..."

หรืออย่าง นิราศ'ตนทางฝรังงเสษ' ที่เขียนโดยกวีที่ตามคณะทูตไปฝรั่งเศสกับออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ก็มี
'เมื่อจากบันตัม    ใจพี่กระสัน    รัญจวนกวนใจ
เห็นเมืองนี้เอย    ดุจเห็นเมืองไทย    แต่นี้จากไป    ไกลเมืองแลนา'


แล้วก็สมัยก่อนมีคำว่า 'อโยธยา' อยู่จริงแต่ก็น้อยมากครับเมื่อเทียบกับ 'อยุทธยา' ที่เรียกกันอย่างแพร่หลาย อย่างออกพระวิสุทสนธร(ไม่ใช่วิสูตรนะครับ) ท่านเรียก 'กรุงศีรอยุท่ยา' ในบันทึกของท่านเป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่