เร่งเครื่องด่วน "ศรีรัช-วงแหวน" เปิดใช้กลางปี"59 เก็บค่าผ่านทาง 50 บาท

กระทู้ข่าว
เริ่มต้นตอกเข็มเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ผ่านมากว่าปีเศษ ปัจจุบันโครงการทางด่วนสายใหม่เชื่อม "ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก" ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร ของ "บีอีซีแอล-บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ" กำลังจะเริ่มเห็นเค้าโครงของโครงสร้างทางยกระดับ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป และมีแนวโน้ม "กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย" ในฐานะเจ้าของโครงการจะเปิดให้บริการเร็วขึ้น จากแผนเดิมจะแล้วเสร็จปลายปี 2559 เพื่อเป็นการรองรับการเดินทางคนกรุงเทพฯย่านฝั่งธนบุรี

อัพเดตสถานะโครงการล่าสุด "สงวน คุณาธินันท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิศวกรรม บริษัทบีอีซีแอล เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเร่งงานก่อสร้างทางด่วนสายใหม่นี้ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น 6 เดือน จากแผนเดิมกำหนดเสร็จวันที่ 14 ธันวาคม 2559 คาดว่าจะเปิดได้ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559

ปัจจุบันงานก่อ สร้างโดยรวมสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คืบหน้าแล้วประมาณ 18-19% เร็วกว่าแผนงานประมาณ 1% และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปงานก่อสร้างตลอดเส้นทางจะเริ่มเห็น โครงการสร้างมากขึ้น เนื่องจากผู้รับเหมาคือบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ก่อสร้างให้ จะเพิ่มเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อเร่งงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น



พร้อม กันนี้ได้ซับงานบางส่วนให้กับผู้รับเหมาใหญ่ 2 รายมาช่วยเร่งดำเนินการ คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) จึงทำให้ผู้รับเหมาสามารถกระจายการก่อสร้างได้เต็มพื้นที่ โครงการ จะช่วยทำให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้น จึงมีแนวโน้มสูงที่ทางด่วนสายนี้จะเปิดใช้บริการได้เร็วขึ้น

"เร่ง ให้งานก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้เร็วเท่าไหร่ จะทำให้บริษัทมีรายได้จากค่าผ่านทางโครงการได้เร็วขึ้น โดยในปีแรกที่เปิดให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณการจราจรประมาณ 8-9 หมื่นคันต่อวัน จะเก็บค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ อยู่ที่ 80 บาท และเกิน 10 ล้อ อยู่ที่ 115 บาท" นายสงวนกล่าวและว่า

สำหรับ โครงการทางด่วนสายนี้ รูปแบบก่อสร้างจะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ก่อสร้างเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางรูปกล่อง ใช้ชิ้นส่วนคอนกรีตหล่อสำเร็จ มีจุดเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก บริเวณใกล้กับโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ จากนั้นแนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันออกตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม แล้วยกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 มาสิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมกับทางด่วนศรีรัชหรือขั้นที่ 2 บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และจะลดระดับอยู่บนพื้นดินบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 หน้าสวนสมเด็จฯ

และ เพื่อเป็นการรองรับการเดินทาง จะมีทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง คือ ทางแยกต่างระดับศรีรัช และทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษก นอกจากนี้ จะมีจุดขึ้น-ลงอีก 6 แห่ง ได้แก่ ถนนพระราม 6 จรัญสนิทวงศ์ บางบำหรุ ราชพฤกษ์ กาญจนาภิเษก และต่างระดับบรมราชชนนี จะช่วยเปิดพื้นที่การพัฒนาย่านกรุงเทพฯโซนตะวันตก และเสริมโครงข่ายการเดินทางมากขึ้น

ด้าน "พเยาว์ มริตตนะพร" กรรมการผู้จัดการ บริษัทบีอีซีแอล เปิดเผยว่า ทางด่วนสายนี้เป็นสัมปทานใหม่ที่บริษัทได้รับจากกทพ.ระยะเวลา 30 ปี ใช้เงินลงทุน 25,491 ล้านบาท นับจากวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ถึงปี 2585 ซึ่งบริษัทจะได้รายได้ค่าผ่านทางเต็ม 100% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน เนื่องจากเป็นการลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งบริษัทเป็นผู้หาเงินมาลงทุนทั้งหมด

สำหรับ เงินลงทุนโครงการนี้ในปี 2557 บริษัทจะใช้เงินลงทุน 7,092 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 8,789 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 5,331 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 60 ล้านบาท

โครงการนี้จะช่วยเรื่องการจราจรฝั่งธนฯให้เกิดความคล่องตัว ขึ้น คาดว่ามีผู้ใช้บริการ 1 แสนคันต่อวัน จะเข้ามาเติมในโครงข่ายเดิมทั้งระบบ มีปริมาณการจราจรอยู่เฉลี่ยวันละกว่า 1.1 ล้านคัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 พ.ค. 2557

ติดตามข้อคิดการเงินได้ที่ Maibat Fanpage
https://www.facebook.com/maibat.thailand

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่