ศิริราชเปิดศูนย์ไซเทค ฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญแนวใหม่ คงสภาพร่างกายเหมือนคนไข้จริง

กระทู้ข่าว
วันที่ 24 เมษายน ที่อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาล(รพ.) ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเป็นประธานเปิด′ศูนย์ฝึกอบรมหัตถการทางการแพทย์ศิริราช′ (ศูนย์ไซเทค : SiTEC) อย่างเป็นทางการขึ้น ที่อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 4   เนื่องในโอกาส รพ.ศิริราชครบรอบ 126 ปี  ว่า ที่ผ่านมาก่อนแพทย์จะทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการทางการแพทย์กับคนไข้จะต้องผ่านการฝึกอบรมการผ่าตัดก่อน มีทั้งการอบรมผ่านหุ่นจำลอง และการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่  มาจากผู้ที่มีจิตกุศลอุทศร่างกายให้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เดิมการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่จะต้องมีการ แช่ฟอร์มาลีน

ทำให้สภาพร่างกายไม่เหมือนร่างกายคนจริงๆ มีสภาพแข็ง และมีกลิ่นค่อนข้างแรง  เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น รพ.ศิริราชจึงจัดตั้งศูนย์ไซเทคขึ้น เพื่อเป็นศูนย์อบรมฝึกการผ่าตัดและหัตถการทางการแพทย์ชั้นสูงในสาขาวิชาต่างๆ และที่พิเศษคือ มีการพัฒนาการทำหัตถการแบบใหม่ที่เรียกว่า อาจารย์ใหญ่แบบนิ่ม จะไม่มีการแช่ด้วยฟอร์มาลีนเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม แต่จะมีการใช้สารเคมีบางชนิดที่สามารถทำให้สภาพร่างกายของผู้บริจาคมีสภาพเหมือนคนนอนหลับปกติ ผิวเนื้อนิ่มคล้ายคนไข้จริงๆ  ซึ่งจะแตกต่างจากอาจารย์ใหญ่แบบเดิมที่มีลักษณะร่างกายที่ค่อนข้างแข็ง  ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้การผ่าตัดเสมือนผ่าตัดคนไข้จริงๆ
      
"ปัจจุบันหลากหลายประเทศหันมาฝึกอบรมการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบนิ่มกันมากขึ้น ทั้งอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่เอเชียก็มีจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนแพทย์หลายแห่งก็เริ่มให้ความสนใจ โดยรพ.ศิริราช ได้เริ่มใช้วิธีนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 แต่ขณะนั้นพื้นที่จำกัด จึงได้ปรับปรุงขยายพื้นที่ออกเป็น 1,000 ตารางเมตร มีเครื่องมือหัตถการต่างๆมากมาย จนปัจจุบันเรียกว่าศูนย์แห่งนี้มีความทันสมัยอันดับต้นๆของภูมิภาคนี้ทีเดียว"
      
ศ.พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานศูนย์ไซเทค กล่าวว่า ศูนย์นี้เป็นศูนย์ฝึกหัตถการผ่าตัดบนร่างอาจารย์ใหญ่ทั้งแบบแช่แข็งและแบบนุ่ม   โดยได้รับอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่จากศิริราชมูลนิธิ  24.5 ล้านบาท และงบสำหรับจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือผ่าตัดอีก 36 ล้านบาท ร่วมกับงบประมาณแผ่นดิน 60 ล้านบาท อาทิ

เครื่องผ่าตัดส่องกล้องและเครื่องฝึกศัลยศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นต้น ภายในศูนย์ ประกอบด้วย ห้องฝึกผ่าตัดขนาด8 เตียง 2 ห้อง ขนาด 2 เตียง 2 ห้อง รวมเป็น 20เตียง ห้องบรรยายขนาด 50ที่นั่ง ห้องจัดเก็บร่างอาจารย์ใหญ่พร้อมตู้เย็นอุณหภูมิ 0 องศาและ -20 องศษ ห้องเตรียมร่างอจารย์ใหญ่พร้อมเตียงผ่าศพ แและระบบโสตทัศนูปกรณ์ที่มีคุณภาพและทันสมัย เพื่อถ่ายทอดสัญยาณภาพและเสียงในการฝึกอบรมและสาธิตการผ่าตัด อีกทั้งสามารถคอนเฟอเรนต์ไปยังสถาบันอื่นๆภายนอกและต่างประเทศได้ด้วย
     
นพ.ณปกรณ์ แสงฉาย อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ภาควิชาได้เตรียมอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มแล้วจำนวน 25 ร่าง โดยจะมีการนำมาใช้ในการฝึกอบรมที่ศูนย์ไซเทค จำนวน 11 ร่าง ร่วมกับอาจารย์ใหญ่แบบแช่เแข็ง 10 ร่าง ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 ในการฝึกผ่าตัดของออร์โธปิดิกส์ศัลยศาสตร์ ที่เป็นการผ่าตัดเส้นประสาทบริเวณหัวไหล่ โดยจะมีการพยายามเพิ่มการเตรียมอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มให้ได้มากขึ้น คาดว่าในปี 2558 จะเตรียมได้ 40 ร่าง เพื่อลดการใช้ปริมาณฟอร์มาลีน เนื่องจากในการเตรียมอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มจะใช้การฉีดสารเคมีเฉพาะ และใช้ฟอร์มาลีนเพียงร้อยละ 2   ทั้งนี้ แต่ละปีมีผู้มีจิตกุศลแจ้งความประสงค์บริจาคร่างกายประมาณ 2,000  ราย แต่สามารถเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ราว 300 ร่างต่อปี

มติชน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่