เรียนแพทย์พระมงกุฎ เจออะไรบ้าง ในมุมผู้ปกครอง

สวัสดีครับ เนื่องจากสมัยที่ลูกกำลังจะสอบเข้ามหาลัย ก็คงเหมือนกับทุกๆท่านที่พยายามเสาะหาข้อมูลทั้งจากคนรู้จัก และตามสื่อต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกในการตัดสินใจ ผมเองก็เช่นกัน
แต่พอลูกได้เข้ามาเรียนจริงๆกลับพบว่าข้อมูลหลายๆอย่างตามสื่อต่างๆไม่อัพเดท เป็นแค่ข้อมูลเก่า เล่าปากต่อปาก แม้แต่คลิปที่มาจากหมอหรือศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว 10-20ปี หรือจากที่เหล่าสถาบันติวเตอร์ youtuberให้ข้อมูล ทำเหมือนตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ หลายอย่างก็ผิดไปจากความเป็นจริงมาก youtuber tiktoker บางท่านก็แค่ค้นgoogleแล้วเอาไปทำcontent

ผมจึงอยากจะส่งต่อข้อมูลอัพเดทบางส่วนในมุมที่ผมรับรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กและผู้ปกครองรุ่นต่อๆไป

เริ่มจากเมื่อคะแนน TCAS3 ออก เพื่อเลือกจัดอันดับที่เรียน ลูกผมเก็งคะแนนอยู่ในlevelที่ติดแพทย์ทางเหนือได้ แต่ไม่อยากเลือก เพราะขณะนั้นมีปัญหาเรื่อง PM2.5หนัก และมีข่าวบุคลากรเสียชีวิตจากมะเร็งปอดแล้วถึง 4 ท่าน
แต่คะแนนดูแล้วไปไม่ถึง top3
มาถึงจุดนี้จึงต้องช่วยลูกนั่งคิดใหม่โดยไม่ดูแค่ลำดับจากการจัดตามสื่อโซเชียล และได้ข้อมูลมาว่า 

1. รามา ศิริราช พระมงกุฎ ก็คือปริญญาแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล เหมือนกัน รับปริญญาพร้อมกันด้วย 
2. เลือกที่เรียนใกล้บ้านไว้ก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และดูแลsupportได้ง่าย พระมงกุฎเดินแค่ 5นาทีจากอนุสาวรีย์ ใจกลางเมืองที่สุด จากบ้านก็แค่40นาที
3. ค่าเทอมไม่แพง (ข้อนี้ได้จากข้อมูลตาม social ที่พูดกันไม่ครบ)

ยอมรับตรงๆว่าแต่แรกไม่ได้เลือก แพทย์พระมงกุฎเลย ด้วยเหตุที่กลัวการฝึกทหาร+ผมและคนใกล้ตัวคิดว่าต้องเส้นสายเยอะ คงไปแข่งบารมีกับเขาไม่ไหว เรามันแค่คนธรรมดา ฐานะค่อนข้างแย่จากพิษโควิด
ซึ่งผมว่าก็ไม่แปลก ถ้ายอมรับกันตรงๆ คนส่วนใหญ่ก็เรียน ร.ด.เพราะไม่อยากเป็นทหาร กลัวการฝึกหนักกลัวลำบาก กลัวอันตราย กลัวถูกกดขี่ พ่อแม่ก็กลัวที่ลูกจะต้องไปเจอความลำบาก ณ.เวลานั้นผมก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน และผมก็คิดว่าสาเหตุนี้คะแนนอันดับTCASของพระมงกุฎจึงต่ำกว่าหลายๆสถาบัน เพราะคนคะแนนสูงส่วนใหญ่จะเลือกที่อื่นก่อน เอาตัวนี้ไว้หลังๆ

Note: ครอบครัวผม ทั้งปู่และตา มีประสบการณ์ตรงรักษาโรคที่เจ็บป่วยหนักๆจนถึงต้องผ่าตัดใหญ่ ที่ ร.พ.พระมงกุฎ เรื่องฝีมือทางการแพทย์เราจึงมั่นใจอยู่แล้ว เวลานั้นจึงไม่ได้หาข้อมูลด้านนี้มากนัก พอลูกได้เข้ามาเรียนจริง จึงได้ทราบว่าปีหลังๆนี้%เด็กที่ผ่านสอบNLหรือใบประกอบวิชาชีพแพทย์ ของที่นี่สูงกว่าบางสถาบันในTop3อีก(ได้คุยกับกรรมการ ศรว.) ผมว่าNLน่าจะเป็นตัววัดคุณภาพของแพทย์ได้ดีกว่าเอาแค่คะแนนสอบTCASมาจัดลำดับ (อัพเดทผลสอบ NL2 วันที่ 21เม.ย.67 พระมงกุฎผ่าน 100% ครับ ในขณะที่ๆอื่นบางแห่งผ่านไม่ถึง 50%)

จากข้อมูลทั้ง 3 ข้อ ทำให้เริ่มศึกษาพระมงกุฎ แบบเจาะลึก กลางวันนั่งค้นคว้า กลางคืนทนรอตี1ลูกอ่านหนังสือเสร็จ ก็ค่อยเอาข้อมูลเหล่านี้ให้เขารับทราบ พร้อมกับข้อมูลตัวเลือกอื่นๆด้วย ดูคลิปที่รุ่นพี่แต่ละสถาบันทำลงไว้ รวมทั้งคลิปการฝึกของพระมงกุฎที่พอมีรุ่นพี่ลงไว้บ้าง คุยกันทุกคืนจนวันสุดท้ายที่ต้องเลือกลำดับ ลูกก็ตัดสินใจเพิ่มพระมงกุฎเข้ามาในตัวเลือก ก่อนกดยืนยัน ผมยังถามลูกอยู่ว่า ถ้าติดจริงพร้อมจะอดทนในการฝึกไหม ลูกยืนยันแน่วแน่ว่าตัดสินใจแล้วจะไม่ถอยหลังหรือเปลี่ยนใจแน่นอน
ผลออกมาก็ติดจริง โดยหลุดอันดับต้นๆที่เลือกไว้เผื่อเก็งคะแนนTCASผิด ตามคาด 

---------------------------------------------------------------------------------
ชีวิตนิสิตเตรียมแพทย์ปี1 แพทย์พระมงกุฎ (ต่อไปนี้ขอเรียกชื่อย่อว่า วพม.) จึงเริ่มต้นที่นี่

เริ่มตั้งแต่เรียกสัมภาษณ์ ที่นี่จะเข้มข้นมาก มีการทดสอบทางจิตวิทยาโดยผู้เชียวชาญ มีคุณหมอมาตรวจร่างกาย ผู้ชายต้องแก้ผ้าออกหมด ไม่เหลือ กกน. แต่ผู้หญิงไม่ทราบนะครับ ขออภัยลูกผมผู้ชายและไม่ได้ไปถามเรื่องแบบนี้กับน้องผู้หญิง
การซักประวัติละเอียดย้อนไปตั้งแต่เกิดว่าเคยผ่านการผ่าตัด หรือเจ็บป่วยอะไรมาบ้าง
ประเด็นที่หลายๆคนอยากรู้ จะอยู่ตรงนี้
1. อ้วน ตรวจผ่านไหม ตอบเลยว่าลูกผมก็อ้วน นน.แถว90 BMIเกือบ30 และก็มีในรุ่นเกิน 10 คนที่อ้วนพอๆกันทั้งชายหญิง ผ่านมาได้หมดครับ ไม่มีตก ระเบียบราชการน่าจะBMIไม่เกิน35
2. ว่ายน้ำไม่เป็น อันนี้ไม่ใช่ประเด็น สัมภาษณ์ผ่านทุกคนครับ ว่ายไม่เป็นก็รับ
3. ตาบอดสี อันนี้ต้องขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ที่เป็นกรรมการ ว่าบอดแบบไหน ถ้าขัดกับการประกอบวิชาชีพหรือขัดกับระเบียบการรับราชการก็อาจไม่ผ่าน
4. LGBTQ ข้อนี้บางปี มีเขียนไว้ในระเบียบการรับสมัครว่าไม่รับ แต่ถ้าผู้สมัครแสดงความแน่วแน่ เข้มแข็ง และคิดว่าอดทนรับการฝึกได้ แก้ผ้าอาบน้ำร่วมกับเพื่อนได้ ก็มีรับนะครับ ขึ้นกับการประเมินของกรรมการว่าเป็นหญิงชัดเจนแค่ไหน ถ้าไม่ใช่ถึงขนาดฉีดนม แปลงเพศแล้ว ก็ยังพอมีโอกาส ต้องคุยกับกรรมการดู
นอกจากนี้ลองศึกษาประกาศรับสมัครแต่ละปี จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง

-------------------------------------------------------------------------------
ปี1 ค่าเทอม 16300 ขัดสนก็กู้ กยศ.ได้ง่ายเพราะรายชื่อเป็น น.ศ.ที่เกษตร เรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์และแพทย์ที่คณะวิท  ม.เกษตร เหมือนเด็กมหาลัยทั่วไป อิสระ ไว้ผมยาวตามชอบ เวลาว่างเยอะ ด้วยความที่เป็นเด็กคณะแพทย์ คะแนนก็จะออกมาสูงๆกันหมด Aแทบทุกวิชา ยกเว้นวิชาเลือกพวก พละ เต้นลีลาส มาฉุดลงบ้าง ได้ฟรีค่าหน่วยกิจเพราะเข้าเกณฑ์เรียนดี ซึ่งเพื่อนๆร่วมคณะก็ได้กันเยอะ คณะนี้จึงเป็นคะแนนระดับtopของ ม.อยู่แล้ว 
รุ่นนี้รุ่นพี่ปี2เข้ามาเจอไว ได้แนะนำให้รู้จักระเบียบวินัยว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ระเบียบแถวเบื้องต้น เมื่อเข้าไปใน วพม.มีตรวจเครื่องแบบ เสื้อผ้าต้องเนี๊ยบไม่มีขนผ้า เนคไทจรดหัวเข็มขัดเป๊ะๆ กระดุมต้องตรงอยู่กับที่ กางเกงขาต้องกว้างพอใส่ขวดน้ำได้
การได้สัมผัสกับระเบียบวินัยแบบนี้ แรกๆก็จะมีเสียงบ่นทั้งจากตัวลูก และพ่อแม่ ว่าเสียเวลาเตรียมตัวและแต่งตัว แต่ทำไปหลายๆครั้งก็เริ่มชำนาญ และกลายเป็นความเคยชิน เห็นได้ชัดถึงความเนี๊ยบและบุคลิกที่ดีมาก เมื่อลูกใส่ชุดนิสิต เทียบกับคณะอื่นๆ มีกิจกรรมที่ดีที่แทบไม่เห็นแล้วในระดับมหาลัย เช่น ไหว้ครู 
และกิจกรรมอื่นที่ต้องเข้า วพม.บ้าง รวมถึงเข้าไปรับวัคซีนหลายๆตัวที่ รพ.พระมงกุฎ เพื่อเตรียมสำหรับการทำงานใน ร.พ. และเริ่มเข้าถี่ขึ้นในเทอม2 ในมุมของลูกผม มันเป็นเรื่องดีมาก ที่ให้เด็กได้เริ่มสัมผัสกับระเบียบวินัยมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อปรับตัว รุ่นพี่จะตรวจระเบียบรายบุคคลหัวจรดเท้าใช้เวลานานมาก 
แต่ในมุมของบางบ้าน กลับเป็นการเพิ่มความกลัว ที่จะต้องเจอการฝึกมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายบ้านตัดสินใจซิ่ว ลาออกตอนจบปี1 การลาออกทยอยมาเรื่อยๆจนถึงวันสุดท้ายก่อนเซ็นต์สัญญาเข้ารับการฝึกก็ยังมีลาออก สรุปรวมออกไปกว่า10คน 

(ทราบมาว่ารู่น50ที่กำลังจะเข้าฝึก อาจารย์สั่งไม่ให้รุ่นพี่เข้าไปแนะนำระเบียบใดๆก่อน เพื่อลดความกังวลของเด็กๆ ส่วนตัวผมกลับรู้สึกเสียดายที่เด็กๆจะไม่มีโอกาสได้ค่อยๆปรับตัวกับระเบียบวินัยโดยเริ่มจากเล็กๆน้อยๆในปี1 ไปเจอของจริงปี2เลย จิตใจจะย่ำแย่กว่า)

ปี1เทอม2 มีหลายกิจกรรมที่ต้องเข้า วพม. บางคนก็เลือกหลบเลี่ยง อ้างป่วย อ้างติดธุระ เพราะยังปรับตัวไม่ได้ที่ต้องแต่งตัวตามระเบียบ ผู้หญิงต้องนั่งเอาเข็มกลัด3ตัวแทงไข้วกระดุม1ตัวเพื่อให้ตรงอยู่ตลอดเวลา กว่าจะเสร็จทุกเม็ดใช้เวลามาก 
ส่วนลูกผมจะอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่พร้อมเข้าร่วมทุกกิจกรรม ไม่เคยพลาด อย่างน้อยก็ถูกเก็บเป็นประวัติ อาจจะพอเป็นประโยชน์บ้างในอนาคต
บางปีมีงานนอกที่ตั้ง ที่ปี1ต้องเข้าร่วมด้วย รุ่นพี่จะดูแลน้องๆอย่างดี งานเสร็จจะมีรุ่นพี่ประกบส่งน้องๆแต่ละคนถึงรถผู้ปกครองหรือtaxiทุกคนทั้งชายหญิง
ช่วงนี้รุ่นพี่จะเริ่มให้ออกกำลังกายเตรียมร่างกาย ผู้ชายมีสำรวจว่าใครจะสมัครรับทุน ทบ. และให้เข้าซ้อมทดสอบร่างกายใน วพม.บ้าง ยิ่งใกล้เวลาเข้าฝึก ลูกเริ่มเครียดขึ้นเรื่อยๆ การออกกำลังเตรียมพร้อมร่างกาย จริงๆ ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่เข้าปี1 แต่ก็เป็นลักษณะทำบ้างหยุดบ้างไม่ต่อเนื่อง ต้องขอบคุณรุ่นพี่ที่ช่วงหลังๆก็มีบังคับ ต้องวิ่ง ต้องส่งlogจากappมือถือว่าวิ่งจริงวันละ1กิโลต่อเนื่องจริง ร่ายกายลูกจากวิ่งแค่500เมตรหอบแฮ่กต้องหยุดพัก ก็วิ่งได้ 1กิโลต่อเนื่องทำความเร็วได้ดีในที่สุด จากไม่เคยมีความคิดว่าจะไปแข่งสอบชิงทุน ทบ. แต่ถูกรุ่นพี่บังคับเข้าไปซ้อมทดสอบทั้งรุ่น พอได้ลองทดสอบ กลับพบว่าทำได้ดีกว่าคนผอมหลายๆคน จนมั่นใจว่าความอ้วนไม่ใช่อุปสรรค และตัดสินใจสมัครสอบชิงทุน ทบ.ในแทบจะนาทีสุดท้าย

การสอบชิงทุน ทบ.จะมีความเข้มข้นกว่าตอนสัมภาษณ์ปี1หลายๆส่วน ผลการเรียนปี1เป็นส่วนสำคัญหลัก คะแนนทดสอบร่างกายขอแค่ผ่านตามเกณฑ์ซึ่งแต่ละปีอาจต่างกันไปครับ นอกจากวิ่ง ดันพื้น ลุกนั่ง ว่ายน้ำ ให้ได้ในเวลาที่กำหนด การว่ายน้ำคือส่วนที่เพิ่มเข้ามา คือจะผ่านเข้าเป็นนักเรียนทุน ทบ.ต้องว่ายน้ำเป็นด้วย
รับเฉพาะผู้ชาย 20ทุน

ผู้ได้รับทุน ทบ.จะเรียกว่า นักเรียนแพทย์ทหาร นพท.เรียนฟรี คือฟรีค่าเทอม ค่าชุดซึ่งแพงมากก็ฟรีบางส่วน ค่าซักรีด ค่ากินอยู่ทั้ง3มื้อ ค่าหอ ค่าไฟน้ำ แถมมีเงินเดือนให้ด้วย เริ่มนับอายุราชการตั้งแต่ปี2 เรียนจบติดยศร้อยตรีทหารบกทันที แต่การใช้ทุนหลังเรียนจบก็จะอยู่ที่ 10ปี มีค่าใช้จ่ายแรกเข้าครั้งเดียว 4หมื่นต้นๆ จากนั้นทุกๆปีไม่ต้องเสียอีกเลย ยกเว้นของส่วนตัวเช่นหูฟังแพทย์ เสื้อสครัป ซื้อเอง

ส่วนผู้ไม่ได้รับทุน จะเรียกว่า นักศึกษาแพทย์ นศพ.จ่ายค่าเทอมและทุกอย่างเองแต่หลังจบใช้ทุนแค่3ปี ขยายความตรงค่าเทอมจะหนักสุดคือปี2นี่แหละครับเพราะมีค่าเครื่องแบบและอุปกรณ์สูงมากๆๆ โดยเฉพาะเทอม1 ตัวเลขค่าเทอมที่นี่คิดเป็นรายปี จะอยู่แค่แถว 3หมื่นกลางๆ หรือก็คือเทอมละหมื่นแปดกว่าๆ ตรงนี้เองก็ผมบอกว่าข้อมูลในsocialและเหล่าyoutuberจะบอกแค่ค่าเทอม มันเลยถูกที่สุด เมื่อเอามาเทียบกับ รร.แพทย์ทั้งหมด

แต่มีค่าใช้จ่ายจิปาถะรวมค่าเทอมแล้วแถวแสนเจ็ด โดยแยกจ่าย 2 งวด คือเทอม1ต้องชำระก่อนวันทำสัญญาเข้าฝึกปี2 แถวแสน3+ค่าสมาคม ผปค.อีก5พันกว่า และแบ่งจ่ายเทอม2อีก 4หมื่นกว่าๆ 
ที่ไม่แจ้งตัวเลขตรงๆเพราะแต่ละปีต่างกันไปครับ แต่แนวโน้มคือสูงขึ้นเรื่อยๆ (มีช่วงโควิดที่กรุณาเฉลี่ยให้เทอม1กับ2ใกล้เคียงกันเพื่อลดภาระ ผปค.บ้าง แต่หลังโควิทกลับมาหนักสุดเทอม1แบบนี้เลย) 

จริงๆไม่ใช่ว่าที่นี่เก็บแพงนะครับ ตรงข้ามผมว่าถูกกว่าที่อื่น หลักๆมันคือค่ากินอยู่ ค่าหอ เพียงแต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นก้อนใหญ่
เพื่อให้เข้าใจ ผมจะแจงตัวเลขให้ดู ที่ว่าแสนสามคือ

- ค่าเทอมทั้งปีจ่ายทีเดียว 3หมื่นกลาง (หาร2คือเทอมละ หมื่นแปดกว่าๆ ถูกที่สุดในบรรดา รร.แพทย์)
- ค่าเครื่องแบบเยอะมาก ชุดขาว ชุด ข.แบบสูท ชุดเขียวปกติ ชุดพรางสนาม ชุดวอร์ม เสื้อขาวแขนสั้น กางเกงเฉพาะบางพิธี เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รวมชุดนอน กระเป๋า2แบบ รวม5หมื่นกว่า (ซื้อครั้งเดียว ปีต่อไปจึงไม่มีตรงนี้)
- อาหาร ซักรีด ค่าหอ เทอมแรก รวม 3 หมื่นกลาง (หาร 6เดือน ตกเดือนละ5800เองได้อยู่กลางเมืองสุดๆติดอนุสาวรีย์  ผมว่าถูกที่สุดด้วย ม.อื่น ต่อให้ไม่ใช่แพทย์ ถ้าลูกอยู่หอไกลบ้าน ยังไงก็มีจ่าย 1-2หมื่นต่อเดือน หอ ตจว.อาจ 1หมื่น แต่ถ้าติดจุฬา เช่าคอนโดกลางเมือง ค่าเช่า+กินอยู่ซักรีด 2หมื่นต่อเดือนอาจไม่พอ)

**ดังนั้นตรงนี้ ผปค.ต้องเตรียมแสนสามไว้เลย บางคนที่ลาออกวันท้ายๆก่อนทำสัญญาเพราะไม่พร้อมตรงนี้ก็มี หลายคนตกใจเพราะไม่เคยรับรู้ข้อเท็จจริงตรงนี้มาก่อน ทราบเอาวันประชุม ผปค.คือ1สัปดาห์ก่อนทำสัญญา เตรียมไม่ทันครับ เท่ากับเสียเวลาเรียนปี1ไปทั้งปี สมัครTCASใหม่ก็ต้องรอรอบปีหน้า เท่ากับเสียเวลาไปเลย2ปี

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่