สองอำนาจตุลาการ กับ รัฐธรรมนูญ "สรุปคือไม่จำเป็นต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ" / ชีวิตคนไทย ในฐานะผู้อาศัย น่าสงสารจริง !!!

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 10:30:06 น.
การ์ตูนคิวคน โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์ มติชน 15 เมษายน 2557

ชีวิตคนไทย ในฐานะผู้อาศัย น่าสงสารจริง !!!
พี่น้องงงง รีบๆ มีความสุขกันซะ จวนหมดเวลาแล้ว




http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1397531822&grpid=03&catid=01&subcatid=0100






วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 23:07 น.  ข่าวสดออนไลน์

สองอำนาจตุลาการ กับ รัฐธรรมนูญ

รายงานพิเศษ

วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง สำหรับประเด็น "อำนาจ" ของศาลรัฐธรรมนูญในการรับพิจารณาสถานภาพนายกฯ รักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากปมโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาฯ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกันมีข้อสังเกตเรื่องสุญญากาศทางการเมือง หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นสภาพ เข้าช่องทางมาตรา 7 ตั้งนายกฯ คนกลาง เพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจ

นักวิชาการชื่อดังมองประเด็นดังกล่าวอย่างไร




สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง


คําร้องลักษณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยสั่งจำหน่ายคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกพิจารณาสถานภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีกระทรวงกลาโหมสั่งปลดออกจากราชการ

โดยศาลให้เหตุผลว่ามีการยุบสภา ไม่มีความเป็นส.ส. จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดี ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยเมื่อนำคำร้องนี้มาเทียบเคียงกับกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกขอให้พิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงยุบสภา นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ที่อยู่เพียงแค่รักษาการจนกว่าจะเลือกตั้งได้ ครม.ชุดใหม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องนี้ เป็นเหตุให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่ามีจุดมุ่งหมายสร้างสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่

แต่หลักบริหารการปกครองไม่มีคำว่าสุญญากาศทางการเมือง นายกฯ พ้นตำแหน่ง รองนายกฯ ก็ขึ้นมาแทน หากถูกวินิจฉัยให้หลุดทั้งคณะ ฝ่ายข้าราชการประจำจะมาทำหน้าที่ชั่วคราว กฎหมายมีกลไกรองรับไว้แล้วทุกขั้นตอน

เรื่องสุญญากาศยังเป็นเพียงการคาดเดา แต่ไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นจริง คำวินิจฉัยที่ผ่านมาถูกวิจารณ์มาตลอด

ในเมื่อไม่สามารถคาดเดาทิศทางคำวินิจฉัยได้ หากเกิดกรณีดังกล่าวนายกฯ สามารถไปฟ้องร้องในกระบวนการศาลสถิตยุติธรรม หรือเข้าชื่อยื่นร้องต่อวุฒิสภาเพื่อขอให้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มาตรา 7 ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้ เพราะระบุเพียงเรื่องที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ทุกอย่างมีกฎหมายรองรับและบัญญัติไว้หมดแล้ว



สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง


ส.ว.มีสิทธิ์ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพของนายกฯ สิ้นสุดลงหรือไม่ หากเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ก็ต้องมีการพิจารณาให้พ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยให้นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยระบุทำนองว่าไม่สามารถรักษาการต่อไปได้ให้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181

หากเป็นเช่นนั้นต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความในลักษณะขยายความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

อาจเป็นเช่นเดียวกับกรณีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะบางเขตไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ กรณีนี้คือการตีความในลักษณะขยายความในบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีหากวินิจฉัยให้พ้นสภาพจริง ตำแหน่งก็จะว่างลง ดังนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่ต้องหาบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อ

ที่ผ่านมานายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม เสนอว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เพื่อทูลเกล้าฯ ขอให้มีพระราชวินิจฉัยแก้ไขปัญหานี้ เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง เพราะหากการปกครองเกิดสุญญากาศประชาชนเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นที่พึ่ง

แต่ต้องไปพิจารณาว่าแนวคิดนี้เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากสถาบันพระมหา กษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง จึงไม่ควรกระทำการดังกล่าวให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หรือนำพระองค์ท่านมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

แม้ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งตามมาตรา 181 หรือทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองจริง แต่การใช้มาตรา 7 ขณะที่เกิดสุญญากาศนั้นไม่ใช่ไปเอาใครที่ไหนมาเป็นนายกฯ หรือ ครม.คนกลางได้

ฝ่ายบริหารต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากยังไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้ง ต้องหาฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งมารักษาการแทน ซึ่งฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งก็คือนายกฯ และคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดปัจจุบัน

เป็นการแก้ไขปัญหาตามช่องทางในมาตรา 7 โดยนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 172 ที่ระบุว่าให้แต่งตั้งนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะหากจะเสนอนายกฯ คนกลางหรือใครก็ตามเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้

หากทำเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นการย้อนศรกลุ่มใด แต่เป็นการทำตามประเพณี การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

ในเมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภายังมีผลบังคับใช้อยู่ และ กกต.ยังไม่ยอมจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดเดิมรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

เพียงแค่ใช้อำนาจคนละมาตรา



ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่


ไม่มีเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องนี้ตั้งแต่ต้น เพราะรัฐบาลยุบสภาเมื่อ 9 ธ.ค.2556 ตามมาตรา 108 ฉะนั้นนายกฯ และ ครม.ทั้งคณะจึงเป็นรัฐบาลรักษาการตามมาตรา 181 เพื่อรอการจัดเลือกตั้งให้มีรัฐบาลใหม่

แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำเหมือนรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ยังไม่ได้ยุบสภา คือวินิจฉัยย้อนหลัง ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากประชาชน

ที่จริงนอกจากไม่มีอำนาจวินิจฉัยแล้ว ยังไม่มีอำนาจรับคำร้องกรณีดังกล่าวด้วย เพราะการย้ายข้าราชการเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่ทำตาม นโยบาย ซึ่งได้รับอำนาจที่ชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งของประชาชน รัฐบาลต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง

การโยกย้ายข้าราชการเพื่อสนองนโยบาย คือ การทำตามเจตนารมณ์ความต้องการประชาชน หากกลับไปดูสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีการโยกย้ายข้าราชการเต็มไปหมด แต่เหตุการณ์ขณะนี้สะท้อนถึงธงทางการเมือง

ข้อกังวลว่าจะเกิดสุญญากาศนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเคารพกติกาและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะไม่มีทางเกิดสุญญากาศ จะเกิดต่อเมื่อใช้อำนาจตีความข้อกฎหมายนอกรัฐธรรมนูญ หรือตีความอย่างกว้างเกิน ทำให้ความขัดแย้งมีโอกาสรุนแรงขึ้น เปิดช่องให้ทหารปฏิวัติได้

อีกทั้งมีสัญญาณว่ารัฐบาลจะใช้มาตรา 7 ทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยหากเกิดสุญญากาศทางการเมือง ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเห็นได้ถึงความพยายามจะพาประเทศกลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างถาวร ซึ่งประเทศไทยผ่านจุดนั้นมาหลายปีแล้ว

การรัฐประหารเดือนก.ย. 2549 ใช้กองทัพยึดอำนาจ แต่ตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมาถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะคนทั้งประเทศต้องการประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ต้องการผู้นำที่ตนเองมีสิทธิ์เลือก แต่ฝ่ายอำมาตย์ก็มีพัฒนาการ โดยจะใช้ตุลาการภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

อันที่จริงประชาชนทั่วไปมองเห็นว่าการโยกย้ายข้าราชการเป็นเรื่องปกติของรัฐบาล ไม่ส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ ไม่มีผลในการเปลี่ยนระบอบการเมือง

สรุปคือไม่จำเป็นต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ

    
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU56UTVNVGN4TUE9PQ%3D%3D&sectionid
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่