ก่อนตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งคราวก่อน เลขาฯปชป.กล่าวว่า ถ้าลงเลือกตั้งอาจถึงตาย และถ้าไม่ลงก็ต้องพิการ ที่สุดเลือกพิการ

พรรค ปชป. ในภาวะวิกฤติ

โดย 14 เม.ย. 2557 05:01


ในวิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อขณะนี้ หลายองค์กรต่างประสบภาวะวิกฤติโดยทั่วหน้า รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุด เพิ่งฉลองวันก่อตั้งพรรคครบ 68 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ตัดสินใจไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ กกต.ได้สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสู้ศึกเลือกตั้งหรือไม่?

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้าเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม พรรคจึงจะลงแข่งขัน แต่จากการ สอบถามความเห็นผู้สมัครจากทั่วประเทศ มีถึง 80% ที่เห็นว่าไม่สามารถหาเสียงได้อย่าง ปลอดภัย ยกเว้นใน กทม. ภาคใต้และภาค กลางบาง ส่วนพรรคเพื่อไทยอาจหาเสียงได้พรรคเดียว

แม้แต่ กกต.ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ก็ต้องประสบภาวะวิกฤติ ไม่อาจรับประกันได้ว่าการเลือกตั้ง จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงถูกฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่าไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆที่รัฐบาลก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ การเลือกตั้งจะเรียบร้อยได้อย่างไร?

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากต้องเผชิญกับศึกภายนอกแล้ว ยังอาจต้องเจอกับศึกภายในอีกด้วย เพราะอาจมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งต้องการลงเลือกตั้งตามหน้าที่ของพรรคการเมือง แต่อีกฝ่ายคัดค้าน เพราะกลัวว่าจะขัดแย้งกับอดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งขณะนี้เป็นผู้นำ “มวลมหาประชาชน” กปปส.ที่ประกาศชัดเจนว่าจะต้องปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง

ก่อนตัดสินใจบอยคอตการเลือก ตั้งคราวก่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ถ้าลงเลือกตั้งอาจถึงตาย และถ้าไม่ลงก็ต้องพิการ ในที่สุดจึงเลือกตั้งแนวทางพิการ และดูเหมือนจะยังพิการอยู่ ยังไม่สามารถตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือยืนอยู่กับที่ ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ให้พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทการเป็นผู้นำประเทศผ่าทางตัน

มีเสียงเรียกร้องจากภายในพรรค ให้ปฏิรูปพรรคอย่างเร่งด่วน เพราะไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างภายในมานานถึง 5 ทศวรรษ และแพ้เลือกตั้งถึง 7 ครั้งในเวลา 28 ปี ต้องลบล้างภาพลักษณ์ “ดีแต่พูด” เปิดกว้างรับคนรุ่นใหม่ๆ พร้อมกับแนวความคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ พร้อมจะนำประเทศสู่พัฒนาการใหม่ๆ เลิกหวังพึ่งอำนาจพิเศษ แต่พึ่งลำแข้งตนเอง

พรรคประชาธิปัตย์ต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ว่าไม่ใช่แค่เป็นพรรคเดียวที่พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน แต่ต้องเป็นพรรคที่แตกต่างจากพรรคคู่แข่ง ซึ่งเป็นพรรคนายทุนที่มีมหาเศรษฐีเป็นเจ้าของพรรค แต่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเป็น “พรรคประชาธิปไตย” ให้สมาชิกและประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และพร้อม ที่จะเป็นผู้นำประเทศทั้งในยามปกติหรือ วิกฤติกาล.


http://www.thairath.co.th/content/416301
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่