พนักงานลาป่วยได้ทุกกรณีหรือไม่ ?

จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

เมื่อทำงานไปแล้วทุกคนมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยกันบ้างเป็นธรรมดาของสังขาร ซึ่งตามกฎหมายแรงงานเขาบอกไว้ในมาตรา 32 ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ

ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือสถานพยาบาลของทางราชการ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ

ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันลาป่วยเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน

จากกฎหมายแรงงานที่ผมยกมาข้างต้น จึงสรุปแบบภาษาชาวบ้านได้ว่าลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง (ไม่ใช่ลาป่วยได้ปีละ 30 วันทำงานอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดนะครับ) และหากบริษัทอนุญาตให้ลาป่วยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ในวันที่ลาป่วยด้วย (แต่จ่ายให้ไม่เกิน 30 วันทำงาน ถ้าหากปีใดพนักงานลาป่วยจริงเกินกว่า 30 วันทำงาน ส่วนที่เกิน 30 วันทำงานนั้น บริษัทอาจจะไม่จ่ายให้ก็ได้)

ที่ผมบอกมาทั้งหมดนั้นอยู่บนเงื่อนไขสำคัญว่า "ในกรณีที่ลูกจ้างป่วยจริง ๆ" นะครับ

เพราะเรา ๆ ท่าน ๆ จะทราบว่ายังมีพนักงานบางคนที่ "ไม่ได้ป่วยจริง" แต่ไม่อยากจะมาทำงาน ก็เลยอ้างว่า "ป่วย" และขอลาป่วย ซึ่งตามระเบียบของทุกบริษัทจะมีบอกไว้ว่าในกรณีที่พนักงานจะลาป่วยให้ลาป่วยในโอกาสแรกที่จะทำได้ (เช่นโทรศัพท์) มาที่ผู้บังคับบัญชา (ซึ่งก็คือหัวหน้างานโดยตรงนั่นแหละครับ)

แต่ในทางปฏิบัติมักจะพบว่าพนักงานที่แกล้งป่วยมักจะโทร.มาขอลาป่วยกับใครก็ได้ที่ไม่ใช่หัวหน้า

การลาป่วยลักษณะนี้มักจะลาไม่ให้ถึง 3 วันทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปหาใบรับรองแพทย์มายืนยันซะด้วยสิครับ

ปัญหาจะเกิดกับหัวหน้างานว่า...แล้วควรจะต้องอนุญาตให้ลาป่วยทุกกรณีหรือไม่ ? ไม่อนุญาตได้ไหม ถ้าไม่ได้ป่วยจริง ?

จากปัญหาดังกล่าวตอบได้ดังนี้ครับ

1.หากลูกน้องของท่านป่วยจริง ก็ต้องอนุญาตให้ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน (แต่ถ้าบริษัทจะใจดีจ่ายให้เกินกว่า 30 วันก็ไม่มีปัญหานะครับ)

2.สำหรับกรณีลูกน้องที่มักจะชอบอู้งานโดยอ้างว่าลาป่วย ท่านอาจจะไปเยี่ยมเยียนลูกน้องที่ลาป่วยที่บ้าน หรือที่หอพักของเขาก็ได้ (แต่อย่าไปบอกเขาล่วงหน้าว่าจะไปเยี่ยม) ในกรณีที่เขาลาป่วยไม่ถึง 3 วันเพื่อไปดูว่าเขาป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งท่านจะต้องรู้ทันลูกน้องประเภทมือวางอันดับหนึ่งจอมอู้พวกนี้

ถ้าไปเยี่ยมแล้วไม่อยู่ที่ห้องพัก หรือเดินหน้าบานกลับมาห้องพัก อย่างนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้ลาป่วย เพราะไม่ป่วยจริง และถือว่าขาดงานในวันนั้นได้เลยครับ

3.หัวหน้างานจึงควรจะต้องแยกแยะให้ดีระหว่างลูกน้องที่ป่วยจริง กับลูกน้องที่มักจะชอบอ้างว่าป่วย (แต่ไม่ได้ป่วยจริง) จะได้มีการปฏิบัติกับลูกน้องได้อย่างถูกต้อง และเท่าทันลูกน้อง

แล้วกรณีที่ลูกน้องลาป่วยเท็จล่ะ..ผลจะเป็นอย่างไร ?

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.1426/2531 "...กรณีมีพฤติการณ์แสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ป่วย เป็นการหยุดงานไปโดยไม่จำเป็น ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อครบ 3 วันทำงานติดต่อกัน นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย..."

หรือ ฎ.1815/2533 "...ลูกจ้างยื่นใบรับรองแพทย์ออกใบรับรองวันที่ป่วยไม่ตรงกับวันที่ลา เมื่อนายจ้างปฏิเสธไม่อนุญาต เป็นการลาป่วยที่ไม่ชอบ ไม่ถือเป็นการลาป่วย ถือว่าลูกจ้างขาดงาน..."

จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นคงจะเป็นคำตอบสำหรับหัวเรื่องในวันนี้ได้แล้วว่า...ถ้าลูกน้องของท่านไม่ได้ป่วยจริง แล้วมาอ้างว่าป่วย และจะขอลาป่วย ถ้าท่านพิสูจน์ได้อย่างที่ผมบอกไปในข้างต้น (เช่นการไปเยี่ยมเยียนดูซิว่าป่วยจริงหรือไม่) ว่าเขาไม่ได้ป่วยจริง ก็ไม่ต้องอนุญาตให้ลาป่วย และจะถือว่าเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอีกด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่