บารมีและอาสวะ - พระธรรมเทศนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

บารมีและอาสวะ
สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

---------


    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะนั้นเป็นสัจจะคือความจริงของจริง ซึ่งมีอยู่เป็นไปอยู่ในบุคคลทุกๆ คน จึงเป็นความจริงของชีวิต ของร่างกายและจิตใจ ทั้งในอดีต
ในอนาคต และในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริงนี้ ทั้งที่เป็นส่วนทุกข์ ส่วนเหตุให้เกิดทุกข์
ส่วนความดับ และส่วนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงทรงดับทุกข์ได้ ดับกิเลสได้ทั้งหมด ทรงเป็นผู้พ้นทุกข์ เป็นผู้พ้นกิเลส

ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจแห่งพระโพธิญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ ที่ตรัสรู้ถึงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง
สืบเนื่องมาจากที่ได้ทรงปฏิบัติเพิ่มพูนบารมีคือความดียิ่งๆ ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้


                                                                                        ปุพเพกตปุญญตา

บุคคลทุกคนซึ่งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยความสุขของมนุษย์ น้อยหรือมาก และได้พบพุทธศาสนาอันแสดงสัจจะธรรม
ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง จึงทำให้ได้ทราบข้อปฏิบัติต่างๆ สำหรับที่จะได้เพิ่มพูนบารมีคือความดี อันได้กระทำไว้แล้ว
ซึ่งเรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในกาลก่อนมาอุปถัมภ์ ตั้งต้นแต่ให้บังเกิดเป็นมนุษย์
และให้เจริญมาตามควรแก่ฐานะนั้นๆ โดยลำดับจนถึงปัจจุบันของทุกคน

อันความดีที่เป็นบารมีนี้ก็ตรงกับความชั่วที่เป็นอาสวะ อันคำว่าอาสวะและบารมีนี้คู่กัน ดังจะพึงกล่าวเป็นคำไทยง่ายๆ ว่า
บารมีนั้นคือเก็บดี อาสวะคือเก็บชั่ว กรรมที่ทุกคนกระทำอยู่ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เมื่อกระทำแล้วคราวหนึ่งๆ กิริยาที่ทำนั้นก็ล่วงไป เสร็จไป แล้วไป แต่ว่ายังเก็บความดีความชั่ว อันเนื่องมาจากกรรมที่กระทำนั้นไว้อยู่
ถ้าเป็นส่วนชั่วก็เป็นอาสวะ เก็บชั่วเอาไว้ ถ้าเป็นความดีก็เป็นบารมี คือเก็บดีเอาไว้
หากประกอบกรรมที่ชั่วอยู่บ่อยๆ ก็เก็บชั่วเอาไว้มาก เพิ่มพูนขึ้น ถ้ากระทำกรรมที่ดีไว้บ่อยๆ ไว้มาก ก็เก็บดีเอาไว้มาก ก็เป็นบารมีเพิ่มพูนขึ้น
เพราะฉะนั้น อาสวะและบารมีนี้จึงเป็นส่วนที่ยังเหลืออยู่ ไม่เสร็จไป ๆ เหมือนดังกิริยาที่กระทำที่เสร็จไปแล้วไปเลิกไป เป็นคราวๆ

และคำว่าบารมีหรืออาสวะนี้ ที่เป็นเก็บดีหรือเก็บชั่วดังกล่าว ก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากรรมได้เหมือนกัน
เพราะกิริยานั้นทำคราวหนึ่งๆ ก็แล้วไปเสร็จไป เลิกไป แต่ว่ากรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชั่วนั้น ยังติดอยู่ยังเหลืออยู่
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า สัตว์ที่จะต้องตายถือเอาบาปบุญที่กระทำไว้แล้ว ..ไป

อันบาปบุญที่กล่าวนี้ก็หมายถึงกรรมนั้นเอง กรรมที่เป็นบาปเป็นบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว ..ไป
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ากรรมได้อีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นคำที่เรียกกันทั่วๆ ไป และอาจจะแยกส่วนดีเป็นบารมี ส่วนชั่วเป็นอาสวะ


                                                                                  เหตุที่ให้ประสบโลกธรรม

เพราะฉะนั้นทุกคนจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยพิจารณาถึงตนเองว่าเป็นผู้อันกรรมดีหรือบารมีนำมาให้บังเกิดเป็นมนุษย์
และบรรลุถึงความเจริญตามฐานะของตน แม้ว่าชีวิตจะต้องประสบสุขบ้างทุกข์บ้าง ได้บ้างเสียบ้าง อันเป็นส่วนที่เรียกว่าโลกธรรม
ธรรมะสำหรับโลก ก็เป็นธรรมดา เรียกว่าเป็นโลกธรรมคือเป็นธรรมะ คือเป็นธรรมดาของโลก

อีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าเป็นธรรมดาของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว อันส่งผลเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นได้บ้างเป็นเสียบ้างอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อประสบโลกธรรมดังกล่าว ก็ให้พิจารณาว่าเป็นธรรมดาโลก ซึ่งจะต้องสุขบ้างทุกข์บ้าง จะต้องได้บ้าง จะต้องเสียบ้าง
และก็เป็นธรรมดาของกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วด้วย ซึ่งถ้ากรรมดีก็จะส่งให้ได้รับผลดีเป็นสุข เป็นได้
ถ้ากรรมชั่วก็จะส่งผลให้เป็นทุกข์ เป็นเสีย

กับทั้งให้พิจารณาถึงว่าเป็นธรรมดาของสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งอีกด้วย ซึ่งจะต้องมีเกิดมีดับ
และเมื่อตั้งอยู่ก็จะต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ดั่งชีวิตร่างกายนี้แม้ว่าจะไม่พูดถึงเรื่องกรรม หรือพูดถึงเรื่องโลกธรรม
ชีวิตนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จะอยู่ไปเท่าไหร่
ไม่ประสบอุบัติเหตุอะไร ก็ต้องตายเหมือนกันหมด แม้จะช้าเท่าไรก็ต้องตายในที่สุด และก็ไม่ช้ามากเกินไป


                                                                                           กาลเวลาของชีวิต

ดังชีวิตในปัจจุบันนี้ที่เรียกกันว่าขนาดแปดสิบเก้าสิบร้อยหนึ่ง เกินร้อยไปก็ไม่มากนัก ได้ถึงแปดสิบเก้าสิบก็นับว่ามาก
และเวลาแห่งแปดสิบเก้าสิบหรือร้อยหนึ่งนี้ ถ้าทุกคนนึกดูแล้วดูเหมือนว่ามากว่านาน แต่ว่าถ้านึกดูถึงตนเองในบัดนี้
ว่าแต่ละคนก็มีอายุกันอยู่เท่านี้ๆ และอายุเท่านี้ๆ ของตนนี้ ถ้านึกย้อนหลังไปดูตั้งแต่นึกจำความได้มาจนถึงบัดนี้
ก็จะรู้สึกว่าเหมือนอย่างแว๊บเดียวเท่านั้น ตั้งแต่จำความได้มาจนถึงนั่งกันอยู่ในที่นี้ในบัดนี้ ก็เหมือนกับแว๊บเดียว ก็มาอยู่ที่นี่แล้ว
อายุก็เข้าไปเท่านี้ด้วยกันแล้ว

คราวนี้มานึกดูถึงว่าต่อไปก็จะต้องถึงวาระหนึ่ง ที่ทุกๆ คนก็จะมีความรู้สึกอยู่ดั่งนี้ แต่ว่าปรากฏชัดว่าความตายมาอยู่ใกล้ที่สุดแล้ว
เช่นว่าป่วยมาก อันชัดเจนว่าจะต้องตายแน่ และในขณะที่ใกล้จะตายนั้น เมื่อยังมีความรู้สึก ยังไม่หมดความรู้สึก
หากจะย้อนหลังตั้งแต่จำความได้ ก็จะรู้สึกว่าตั้งแต่จำความได้มาจนถึงใกล้จะหมดลมนั้น ก็แว๊บเดียวอีกเหมือนกัน
แปลว่าระยะเวลาที่ชีวิตผ่านมา คือนับปีก็รู้สึกว่านาน แต่ว่าดูความรู้สึกแล้วก็จะรู้สึกว่าแว๊บเดียว ไม่นานเลย และก็จะต้องทิ้งทุกอย่าง
ทิ้งร่างกายอันนี้ ชีวิตอันนี้ ทิ้งทรัพย์สมบัติต่างๆ ทิ้งญาติมิตรทั้งหลาย ทิ้งบุคคลที่เป็นที่รักทั้งหลายไป


                                                                                            สุคติ ทุคติ

และแม้ว่าทุกคนจะไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าจะไปยังไง จะตายเกิดหรือจะตายสูญอย่างไร ด้วยญาณปัญญาของตนเอง
แต่เมื่ออาศัยศรัทธาคือความเชื่อตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะทราบได้ ว่าหาได้ทิ้งไว้ทุกอย่างไม่
ยังจะต้องถือเอาบุญบาปที่ได้กระทำไว้แล้วไป บุญก็ให้ไปดี บาปก็ให้ไปชั่ว ไปชั่วก็เป็นทุคติ ไปดีก็เป็นสุคติ

เพราะฉะนั้น หากพิจารณาดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้พากันบังเกิดความไม่ประมาท และในขณะที่ยังสามารถอยู่ก็ประกอบกรณียะ
คือกิจที่ควรทำอันเป็นประโยชน์ต่างๆ ตามหน้าที่ของตนก็ตาม ตามที่ควรทำก็ตาม ให้ไว้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
และในการที่มีความไม่ประมาทประกอบกรรมดีต่างๆ นี้ ทุกคนสามารถจะกระทำได้ และการกระทำดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการกระทำกรรมที่ดี
เพิ่มกรรมที่ดี เพิ่มบารมีอยู่เสมอ โดยอาศัยพุทธปฏิปทา คือปฏิปทาของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์
ก็ทรงบำเพ็ญพระบารมี คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออก ปัญญา วิริยะ ความเพียร ขันติ ความอดทน สัจจะ ความจริง
อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น และเมตตาความปรารถนาให้เป็นสุข อุเบกขาความเข้าไปเพ่งดู วางได้ เฉยได้
ในสิ่งที่ควรวางควรเฉยทั้งหลาย ด้วยปัญาคือความรู้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่