ลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง

จากกฎสูงสุดของธรรมชาติที่บอกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” นี้เองที่ทำเกิด “สิ่งปรุงแต่ง” ขึ้นมา ซึ่งสิ่งปรุงแต่งนี้ก็จะตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์อีกที อันได้แก่ ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา), ความไม่เที่ยง (อนิจจัง), และมีลักษณะที่ต้องทน (ทุกขัง)

วิธีการที่เราจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นอนัตตานั้นก็ให้สังเกตดู จากลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง คือถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งปรุงแต่ง สิ่งนั้นจะมีลักษณะดังนี้คือ

๑. มีการเกิดขึ้น (คือจากการที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วมามีขึ้นในภายหลัง)

๒. ตั้งอยู่ได้เพราะมีเหตุและปัจจัยพร้อม

๓. แตก หรือ ดับไป (คือจากการที่มีอยู่ก่อน แล้วมาหายไปในภายหลัง)

สรุปได้ว่า ถ้าสิ่งใดเราสังเกตเห็นหรือรู้สึก (ด้วยตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) ว่ามัน มีการเกิดขึ้น หรือต้องอาศัยเหตุปัจจัยเพื่อตั้งอยู่ และมีการแตกสลายหรือดับหายไป ก็แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมมีลักษณะของอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) และสุญญตา (ว่างเปล่าจากตัวตนที่แท้จริง) อยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งนี่คือหลักสำคัญที่เราจะนำมาใช้สังเกตสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา เพื่อค้นหาความจริงว่ามันเป็นอนัตตาหรืออัตตา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่