เวลาคนด่าเรา หรือดูถูกเรา เราจะลืมหรือไม่รู้สึกโกรธได้ยังไงครับ

ในที่ทำงาน หลายๆคนมักจะชอบใช้วาจาอุบาท เหมือนพ่นออกมาจากรูตูด
ไม่ว่าจะด้วยเจตนา หรือว่าคึกคะนองปาก ผมรู้สึกโกรธกับคำพูดเหล่านั้นมาก แต่แสดงออกไม่ได้ครับ
เพราะการทำงานต้องใช้ พรรคพวก เช่นเราติดขัด หรือต้องสอบถาม ประสานงานกับคนแบบนั้นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ผมไม่รู้จะคิด หรือระงับความรู้สึกโกรธนั้นยังไงดีครับ
พี่ๆในห้องสีลม ที่มีปสก.ทำงานสูงๆทำยังไงบ้างครับ
และพี่ๆในห้องศาสนา ใช้หลักธรรมข้อในไหนครับ

ปกติผมเป็นคนระวังคำพูดมาก กลัวคนอื่นจะโกรธ จะหาว่าผมพูดหยาบ แต่เวลาทำงานผมกลับโดนซะเองครับ
ถึงแม้จะไม่บ่อย แต่มันทำให้รู้สึกโกรธครับ มันทำลายสมาธิในการทำสิ่งอื่นๆเยอะเลยครับ

ขอย้ำว่า ผมตอบโต้เขาไม่ได้นะครับ เพราะผมเลือกที่จะอยู่แบบไม่มีพรรค ไม่มีฝูง

ขอบพระคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 16
แนะนำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
คือเมื่อเจอสภาวะที่ไม่พึงพอใจเช่นนั้น
ให้เจริญสติ ดูการเกิดดับของโทสะ และทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น
แรกๆ อาจเผลอปล่อยใจให้ปรุงแต่งไปกับโทสะอย่างเมามันชนิดขาดสติ
แต่ฝึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้เท่าทันโทสะมากขึ้น
เริ่มฉลาดขึ้นจนไม่ไปหลงทุกข์อยู่กับจิตที่ปรุงแต่งนานเกินไป

เคยสังเกตมั้ยว่าทำไมเวลาเราได้ยินเสียงหมาดุเห่าใส่ตอนเราเดินผ่าน
หรือประตูที่โดนลมพัดแรงๆ กระทบผนังให้เกิดเสียงดังๆ
ทำไมเราถึงไม่รู้สึกโกรธ หรือเก็บเอามาทุกข์ใจเหมือนเวลาเราโดนคนอื่นว่า
เหตุเพราะเราไม่ได้ปรุงแต่งต่อความยาวสาวความยืดไง

รำคาญอาจเกิด ณ ช่วงที่ได้รับผัสสะทางหู
แต่เราคงไม่รู้สึกโกรธ คับแค้นใจ ไม่พอใจจนเป็นทุกข์
หรือนำมาคิดมาก คิดทบทวนซ้ำๆ ให้ช้ำใจแน่นอน
เพราะเราใช้วิธีฟังเสียงหมาและเสียงประตูแบบ "สักแต่ว่าได้ยิน" ไง

เมื่อเทียบกับเสียงคนพูดว่าเรา
เรามีกระบวนการฟังที่ต่างออกไป คือ
ฟังแล้วคิดต่อ ฟังแล้วปรุงแต่ง ตีความไปต่างๆ นานา

คราวหน้าถ้ามีเหตุการณ์โดนพูดไม่ดีใส่อีก
ลองวิชาดูมั้ย ถือเป็นการทำแบบฝึกหัดหัวข้อ "เจริญสติ"
ได้ยินปุ้บ ได้ดูว่าเรารู้สึกอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ทุกข์?
ร้อนผ่าวที่หน้า?
บีบอัดบริเวณหน้าอก?
ตึงๆ บริเวณหน้าผาก?
อยากพูดด่ากลับ?
ฯลฯ

ถ้าดูอย่างต่อเนื่องให้ดีๆ
จะเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมันโผล่ขึ้นมาเองทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยากให้เกิด
สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าทุกอย่างล้วนไม่ใช่ของเรา (อนัตตา)

แถมถ้าเราไม่ไปปรุงแต่งต่อ
แต่ใช้วิธี "สักแต่ว่าได้ยิน" เหมือนเวลาเราได้ยินเสียงหมาเห่าใส่เรา
หรือประตูโดนลมกระแทกจนเกิดเสียงดัง
เราจะพบว่า อาการเหล่านั้นจะค่อยๆ ลดปริมาณความเข้มข้นลงทันที
ซึ่งก็ตรงกับหลักที่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมเสื่อม (อนิจจัง)

แบบฝึกหัดแรกๆ อาจยังไม่เก่ง
แต่ยิ่งเราเจอบ่อย เราจะยิ่งมีโอกาสได้หัดทำ หัดลองวิชา
ถ้าทำแล้วได้เห็นผลลัพธ์อย่างที่กล่าวมาชัดเจน
คราวหน้าเราจะยิ่งจับจุดได้ และทำแบบฝึกหัดได้คล่องขึ้น สนุกขึ้น
ลองดูๆ ^____^
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่