จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า

ขีรรุกขสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


    [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในรูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ซึ่งเป็นของเล็กน้อย
ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ...
ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ
ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ซึ่งเป็นของเล็กน้อย
ผ่านทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ยังละราคะ โทสะ โมหะ นั้นไม่ได้ ฯ


             [๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อเป็นต้นไม้มียาง ขนาดเขื่อง ขนาดรุ่น ขนาดเล็ก
บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งหนึ่ง ยางพึงไหลออกหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า ฯ

             พ. ข้อนั้น เพราะอะไร ฯ

             ภิ. เพราะยางมีอยู่ พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของเล็กน้อย
ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีได้แท้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งมีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ...
ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว
ถ้าแม้ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป
ย่อมครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะ ยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้ ฯ



             [๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะโทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง
ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย
จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นได้แล้ว
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งไม่มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์
อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง ผ่านมาทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย
จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้น ได้แล้ว ฯ

             [๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อซึ่งเป็นไม้มียาง เป็นต้นไม้แห้ง เป็นไม้ผุ ภายนอกฤดูฝน
บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ยางพึงไหลออกมาหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ข้อนั้น เพราะเหตุไร ฯ

             ภิ. เพราะยางไม่มี พระเจ้าข้า ฯ

             พ. ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง
ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย
จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว
ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ...
ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะโทสะ โมหะนั้นแล้ว
ถ้าธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่งผ่านมาทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น
ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันเล็กน้อย
จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นได้แล้ว ฯ


จบสูตรที่ ๔

Ref.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=4460&Z=4528&pagebreak=0

ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=291
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่