อาทิตตปริยายสูตร (พระสูตร)ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

กระทู้คำถาม
อาทิตตปริยายสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=378&Z=403
             [๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ริมฝั่งแม่น้ำคยา
พร้อมกับภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงเป็น
ของร้อน คืออะไร คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เป็นของร้อน
แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็น
ปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ
โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นของร้อน
แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟ คือ
ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งใน
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็น
ปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้ง
ในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น
ต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระองค์ได้ตรัสไวยากรณ์
ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ต่างมีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๖
__________

อาทิตตปริยายสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=4669&Z=4738
             [๓๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธรรม
ปริยายเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อน
ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจะพึงรู้แจ้ง
ด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความ
ยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ
๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่
จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุก
โพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู
จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุ-
*พยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติด
ลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก
จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน
อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุก
โพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรส อันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น
จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน
อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลง
แล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย
จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีใน
อนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง
คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษ
ไร้ผล เป็นความโง่เขลา ของบุคคลผู้เป็นอยู่ ตนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึง
ทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ บุคคลไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราเห็นโทษอันนี้แลว่าเป็นอาทีนพของบุคคลผู้เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ
             [๓๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อม
พิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุก
โพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง
รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง โสตินทรีย์ที่
บุคคลเกี่ยวด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น
เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า หูไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสต-
*สัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
เพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บอันคม
ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จมูก
ไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง ฆานวิญญาณไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา
ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง
ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน
ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ลิ้นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง
ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
เพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหอกอันคม
ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า กาย
ไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็น
ปัจจัยก็ไม่เที่ยง ความหลับจงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า
ใจไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
ปัจจัยก็ไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้
ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็น
ปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ
แม้ในมโนสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติ
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่าอาทิตตปริยาย และธรรมปริยาย
ฉะนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่