มติชน_มองความเห็นจากนักวิชาการ ผลกระทบเลือกตั้ง2ก.พ. หากตลก.ชี้′โมฆะ-ไม่โมฆะ′

หมายเหตุ - หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีผู้ร้องว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่าวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นที่หลากหลายว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งเป็นโมฆะแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งด้วยการเปิดรับสมัครใหม่ หรือสั่งไม่โมฆะ จะมีผลกระทบด้านอื่นๆ หรือไม่ จึงมีความเห็นจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ถึงกรณีดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้

เจษฎ์ โทณะวณิก
ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย
สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

มองว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เพราะ 1.ศาลอาจเห็นว่าคณะผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณามาอย่างดีแล้ว 2.โดยเนื้อหาแล้ว การพิจารณาว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจำนวนมาก จึงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาประเด็นนี้

3.การพิจารณาว่าการเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ ว่าเป็นโมฆะหรือไม่นั้น มีผลต่อบ้านเมืองอย่างมาก หากไม่มีกลไกใดมาคลี่คลายจะยิ่งเป็นปัญหา ไม่มีคำตอบให้สังคมได้พิจารณาและนำไปปรับใช้

ศาลรัฐธรรมนูญอาจตัดสินไปได้ทั้ง 2 แนวทางคือ โมฆะ และไม่เป็นโมฆะ หากเป็นโมฆะก็อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น เพราะ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ปิดล้อมสถานที่รับสมัคร, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เปลี่ยนสถานที่รับสมัครเพื่อให้รับสมัครได้, กกต.ไม่พยายามเต็มที่ที่จะรับสมัครทุกเขต

กกต.ไม่จัดให้บรรดาผู้สมัครมีโอกาสใช้สิทธิของตัวเอง สั่งปิดหน่วยเลือกตั้งโดยที่ไม่แจ้งความ ฯลฯ เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น หรือโมฆะเนื่องจากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไม่คุยกับประธาน กกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่สามารถเลือกได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

จึงเป็นเหตุให้เกิดการเลือกตั้งที่ขาดตกบกพร่อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สาเหตุเหล่านี้ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ คนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ หากศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเพราะคนที่เกี่ยวข้องกับโมฆกรรม ถือเสมือนหนึ่งว่าไม่เกี่ยวข้อง ในกรณีการเลือกตั้งซ่อม เวลาจะซ่อมอะไรต้องมีสิ่งนั้นก่อนจริงไหม ซึ่งเขตที่ไม่มีผู้สมัครมันซ่อมไม่ได้ถูกไหม

ส่วนการเปิดรับสมัครใหม่นั้น กกต.มองว่าในเมื่อสามารถตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ได้ ต้องแปลว่าสามารถกำหนดการเลือกตั้งใหม่ทั่วราชอาณาจักรและบางเขต แต่รัฐบาลมองว่าให้ กกต.จัดการเลือกตั้งไปเลย จึงไม่มีทางออกที่ชัดเจน การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปเพื่อให้ศาลทำหน้าที่

ส่วนเรื่องการรักษาการของรัฐบาลชุดนี้ไม่รู้ว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปนานแค่ไหน หากมองในแง่กฎหมายมี 2 แง่ ทั้งอยู่ได้และอยู่ไม่ได้

ในแง่ที่อยู่รักษาการไม่ได้ เป็นไปตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญที่บอกว่า 30 วันหลังการเลือกตั้งต้องเปิดสภาใหม่ ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลรักษาการก็หมดหน้าที่ หากไม่สามารถเปิดสภาได้ก็อยู่ต่อไป แปลว่ารัฐธรรมนูญประสงค์ให้รัฐบาลเดิมทำหน้าที่เพียงเส้นของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

ในแง่ที่สามารถอยู่รักษาการต่อไปได้เรื่อยๆ คือ จำนวนวันที่กำหนดไว้เป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัด นัยยะที่สำคัญที่สุดคือปฏิบัติหน้าที่จนได้รัฐบาลชุดใหม่ อยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะมีอย่างกรณีจำนำข้าวและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทอีกไหม จะอยู่ในภาวะง่อยเปลี้ยอีกนานแค่ไหน บางคนอยู่ในสภาพนี้ 20-30 ปี ซึ่งถ้าเทียบกับรัฐบาลไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เกิดมีคดีไหนที่นายกรัฐมนตรีต้องติดคุก ถือว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จะทำอย่างไรต่อไปต้องว่ากัน

แม้การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะกรรม ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสามารถรักษาการได้
.............................................................................................................
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่ แต่อยู่ที่วิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้มากกว่า หลายๆ คดีศาลตัดสินใจเกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่ศาลมี กลายเป็นว่าทุกๆ การตัดสินใจในการบริหารงานจะต้องมีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาชี้ขาด

หรือกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แล้วการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ กกต.มีส่วนด้วยหรือไม่

กกต.พยายามดึงให้ศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นพวกเพื่อรองรับความชอบธรรมหรือไม่ และหากการเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ ก็ต้องมองเลยไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เห็นหรือไม่ว่าเกิดการขัดขวางการลงสมัครเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้ง ตรงนี้จะต้องทำอย่างไร ในขณะที่ศาลได้รับรองว่าการชุมนุมของ กปปส.ว่าสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธนั้น แต่กลับปรากฏว่ามีความพยายามที่จะตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลคุ้มครองศาลตรงนี้เหมือนศาลจะเอาตัวรอดฝ่ายเดียว ขณะที่หน่วยงานราชการอื่นๆ กลับทำงานไม่ได้

หน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ศาลฝ่ายเดียว ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ในการปกป้องประชาธิปไตยแล้วหรือไม่ หรือกำลังทำหน้าที่ในการปกป้องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่

.................................................

อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถึงตอนนี้ยังไม่เหตุอะไรที่จะบอกได้ว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าการรับคำร้อง อาจจะเป็นการรับไปก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะหรือไม่ แต่มองว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานที่ดี ถ้าบอกว่าเป็นโมฆะเพราะการจัดการเลือกตั้งไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จทุกหน่วยเลือกตั้งในหนึ่งวัน ก็จะทำให้ต่อไปการล้มการเลือกตั้งทำได้ง่ายมาก เช่นรวมชาวบ้านไปปิดหน่วยการเลือกตั้งสักหน่วยสามารถล้มการเลือกตั้งได้

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยอย่างมีเหตุผลรับฟังได้ไม่ว่าจะออกไปทางใดก็ตาม

ถ้าศาลวินิจฉัยให้เป็นโมฆะมองว่าจะเป็นทางออกให้พรรคประชาธิปัตย์กลับเข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้งได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นทางออกให้กับความขัดแย้งของสังคมไทยได้หรือไม่

เพราะถ้าคำวินิจฉัยออกมาไม่มีเหตุผลเพียงพอ แต่มุ่งเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาสู่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยที่กฎเกณฑ์กติกาถูกทำลาย ผมว่าคนที่ไปเลือกตั้งจำนวนมากจะมองว่าตัวเองถูกทำลาย ถูกละเมิดสิทธิโดยไม่เป็นธรรม จะเกิดปัญหาขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เหตุผลที่ศาลวินิจฉัยจะเป็นการระบุสาเหตุว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง หากวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะเพราะไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จทุกหน่วยเลือกตั้งในวันเดียว แบบนี้ปัญหาจะอยู่ที่ กกต. และผู้มาขัดขวาง จะให้รัฐบาลมารับผิดชอบก็คงไม่ได้
.............................................................................................................................................................

พิชิต ชื่นบาน
ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

คําร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ว่าจัดการเลือกตั้งไม่ลุล่วง ไม่แล้วเสร็จ ทำให้การเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้นแปลว่าองค์กรอิสระด้วยกันกำลังกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ดังนั้น เป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่ กกต.จะต้องออกมาต่อสู้ว่าตัวเองจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. คือสมควรที่จะเป็นคู่กรณีอย่างยิ่ง กกต.ไม่ควรเพิกเฉย ละเลย ที่จะเข้ามาคัดค้านคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับคำร้องของ กกต.ที่ยื่นคำร้องขอออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งใหม่ ใน 28 เขตเลือกตั้งที่มีปัญหา

ดังนั้นคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กับคำร้องของ กกต.ที่พยายามให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 2 คำร้องนี้จึงดูขัดแย้งกัน และคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้ง ถ้า กกต.จะป้องกันส่วนได้เสียของตนในการปฏิบัติหน้าที่ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะออกมาคัดค้านคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นปัญหาว่าจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลพินิจ แต่ถ้าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วเกิดการสูญเปล่าต้องพิจารณาหลายประเด็นว่าเงิน 3,800 ล้านบาทที่เสียไป ใครจะรับผิดชอบ เพราะจะเป็นประเด็นปัญหาว่าเงินจำนวนนี้ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายอันนี้ เพราะเป็นเงินซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้พูดถึงในเรื่องที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง

ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้จ่ายเงิน 3,800 ล้านบาท


................
(ที่มา:มติชนรายวัน 14 มี.ค.2557) ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์ www.facebook.com/MatichonOnline
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่