ความสว่าง คือแสงแห่งสมาธิ



คนทั่วไปมักจะสงสัยว่าเมื่อนั่งสมาธิแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป...ถ้ากล่าวโดยทฤษฎีแล้ว เมื่อเรานั่งสมาธิจนกระทั่งใจสงบนิ่งปราศจากนิวรณ์ 5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางใจเราให้เป็นสมาธิ จากนั้นเราจึงจะเข้าสู่รูปฌาน และอรูปฌาน แล้วจึงเป็นพระอริยเจ้าในระดับต่างๆ ต่อไป (ซึ่งในรายละเอียดจะนำมาเล่าในภายหลังนะคะ) เมื่อฟังแล้วก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวเรา เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้...แล้วสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ เมื่อฝึกสมาธิไปแล้วจะมีอะไรที่ดูใกล้ตัวและ เป็นประสบการณ์ที่สัมผัสได้ด้วยตัวเอง

โดยปกติเราจะเรียกเหตุการณ์ หรือ สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ให้เราได้เรียนรู้ ได้พบเห็นว่า “ประสบการณ์” สำหรับการฝึกสมาธิทุกครั้งที่เราทำสมาธิไม่ว่าจะหลับตา หรือ ลืมตา ทำสมาธิ ในอิริยาบทต่างๆกัน (นั่ง นอน ยืน เดิน) สิ่งที่เราได้สัมผัส รับรู้ รู้สึก หรือ แม้กระทั่ง “เห็น” ในขณะนั้นๆ เราเรียกว่า “สภาวธรรมภายใน” และ ทุกสิ่งที่เราได้ประสบจากการฝึกสมาธิเราจะเรียกกันง่ายๆ ว่า “ประสบการณ์ภายใน” ดังนั้น หลังจากที่เราฝึกสมาธิทุกครั้งให้เราฝึกนิสัยสังเกตุว่า การฝึกสมาธิของเราที่เพิ่งผ่านมานั้นเรารู้สึกอย่างไร พบ เห็นอะไร และจะดียิ่งขึ้นถ้าเรามีสมุดเอาไว้สำหรับจดบันทึกผลของการปฏิบัติธรรมของเรา เพื่อที่เราจะได้นำมาสังเกตุดูว่า ในแต่ละรอบที่เรานั่งสมาธินั้นมีผลอย่างไร มีอุปสรรคอะไร แล้วพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง มีประโยชน์มากๆค่ะ

“สมาธิ” โดยทั่วไปแล้วผลที่ได้โดยทั่วไปแล้วจะบอกว่า “ได้ความสงบใจ” แต่ในความเป็นจริงแล้วความสงบใจเป็นเพียงผลส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงทุกคนที่ฝึกสมาธิยังได้สัมผัสกับสภาวธรรมภายในอื่นๆ อีกหลายอย่าง เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ทันได้สังเกตุ พิจารณา และจดบันทึก เพราะประสบการณ์ภายในเหล่านี้ถ้าไม่รีบจดในทันทีหลังจากที่ลืมตาขึ้นมาแล้ว...เราก็จะลืมค่ะ ดังนั้นนอกจากความสงบใจแล้ว สมาธิยังเป็นเรื่องของความสว่างที่เกิดขึ้นข้างใน ลองสังเกตดูสิคะ เวลาที่เรานั่งสมาธิไปเรื่อยๆ พอใจสงบแล้วจู่ๆ ก็เหมือนมีแสงสว่างส่องมาที่ตัวเรา มาที่บริเวณหน้าเรา เหมือนเรามีตาข้างในที่สามารถมองเห็นแสงได้อย่างไรอย่างนั้น หลายๆท่านได้เล่าว่าบางครั้งเวลาฝึกสมาธิในห้องคนเดียวในเวลากลางคืนรู้สึกเหมือนมีแสงสว่างส่องมาที่หน้า นึกว่าใครเข้ามาเปิดไฟในห้อง จึงลืมตาขึ้นมาปรากฎว่าในห้องมืดสนิท ไม่มีวี่แววของใครเข้ามาเปิดไฟ ในเรื่องความสว่างนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยกล่าวไว้กับพระอนุรุทธะไว้ใน อุปักกิเลสสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ว่า
           
“ดูก่อนอนุรุทธะ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย สมัยนั้น เราก็มีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้ สมัยนั้น เราก็มีจักษุหาประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ แลเห็นรูปหาประมาณมิได้ตลอดกลางคืนบ้างตลอดกลางวันบ้างตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง”  

นี่ไงคะ พระองค์ท่านได้กล่าวเป็นแนวทางให้เราแล้วค่ะว่า เมื่อเราฝึกสมาธิ เราจะมีจักษุ เมื่อเรามีจักษุเราก็จะรู้สึกถึงแสงสว่าง และเห็นรูปได้...โดย จักษุ แสงสว่าง และการเห็นรูป จะแปรผันตรงกับสมาธิที่เราสามารถกระทำให้เกิดขึ้นได้ในคราวนั้นๆ ดังนั้น “สมาธิ กับ ความสว่าง” จึงเป็นของคู่กันค่ะ เพราะโดยธรรมชาติดั้งเดิมดวงจิตของเรานั้นผ่องใส สว่างมาก แต่เพราะกิเลสที่ห่อหุ้มใจเราไว้ ทำให้ความสว่างในใจเราถูกบดบัง ต่อเมื่อได้ฝึกสมาธิเมื่อใดใจเราจึงรู้วิธีการที่ทำให้ใจสงบ เมื่อใจสงบ หยุดนิ่ง ไม่คิดสิ่งใด นั่นหมายถึงในเวลานั้นใจเราปราศจากกิเลสมาควบคุม ความสว่างของดวงจิตดั้งเดิมของเราจึงสามารถเปล่งแสงสว่างให้เราได้รู้สึกสัมผัสอีกครั้ง เมื่อมีแสงสว่างเกิดขึ้นมากพอเราจึงสามารถรู้เห็น (รูป) ซึ่งคือสัจธรรมต่างๆได้ตามความเป็นจริงค่ะ

การปฏิบัติสมาธิเมื่อเริ่มต้นนั่งหลับตาอาจจะมืดสนิท ต่อเมื่อฝึกทำสมาธิเรื่อยไปความสว่างจะค่อยๆ สว่างขึ้นเป็นลำดับ จากที่มืดสนิท ก็ค่อยเป็นมืดเทาๆ แล้วจึงค่อยๆสว่างขึ้น เป็นความสว่างระดับแสงดาวบนท้องฟ้า แค่เทียนที่จุดบูชาพระ สว่างเหมือนแสงจันทร์ เหมือนตะวันเริ่มพ้นขอบฟ้า ตะวันเที่ยง จนกระทั่งสว่างเหมือนมีดวงอาทิตย์หลายๆดวงมาเรียงกัน เป็นต้น แต่ผู้ปฏิบัติไม่ควรไปกังวลกับความสว่างมากนัก เมื่อไหร่ใจนิ่งสงบ ความสว่างก็จะเกิดขึ้นเอง เราไม่สามารถไปเร่งรัดอะไรกับสภาวธรรมภายในได้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการฝึก และความพร้อมของใจเราในขณะนั้น ดังนั้นเราจึงสมารถวัดระดับสมาธิของเราได้เองเบื้องต้นที่ความสว่างภายในนี่เองค่ะ

บางคนสงสัยว่าการฝึกสมาธิ ต่างอย่างไรกับการนอน ดูแล้วคล้ายๆกัน คือ ได้รับการพักผ่อน ซึ่งก็มีส่วนที่คล้ายกันในประเด็นนี้ แต่สมาธินั้นกระทำเมื่อเรา “ตื่น” และ “มีสติ” แต่การนอนนั้นเป็นการที่เราหลับใหลไม่ได้สติ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลอะไรนอกจากการพักผ่อนทางกายเท่านั้น แต่การพักผ่อนทางจิตใจนั้นยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพราะจิตใจยังไม่ได้รับการฟื้นฟูด้วยการฝึกสมาธิจนกระทั่งใจเข้าสู่สภาวะสงบ เมื่อใจสงบ “จิต” ของเราจึงจะเริ่มได้รับการฟื้นฟูจากภาวะความเครียด จากปัญหาต่างๆ ที่ประสบมาตลอดทั้งวัน ด้วยสารเอ็นโดฟีน ดังนั้นจะให้ดีที่สุด ก่อนนอนให้นั่งสมาธิก่อนจนกระทั้งใจของเราสงบใสสว่าง ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งวัน หากสิ่งไหนทำไว้ดีแล้วก็ให้เราชื่นชม ปลื้มใจกับการกระทำของเราให้ต่อเนื่อง หากสิ่งไหนทำผิดพลาดไปก็ให้เรารู้จักให้อภัยตัวเอง พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งให้กำลังใจตนเอง (อันนี้สำคัญนะคะเราต้องอย่างไปตำหนิ ด่าว่า และโทษตัวเองมากนัก เพราะจะทำให้ใจของเราหมอง เวลานั่งสมาธิใจจะเกิดความสบาย และความสงบได้ยากขึ้นค่ะ) จากนั้นจึงค่อยนอนหลับด้วยความสุขใจ เพราะเราได้เคลียร์ทุกอย่างแล้วก่อนที่เราจะนอน การที่เราทำเช่นนี้จะทำให้เราสามารถนอนหลับได้ลึก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร่างกายของเราก็ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้นค่ะ
- See more at: http://www.storyweshare.com/story-view.html?id=146#sthash.5eFgUgbP.dpuf
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่