ข้อสอบ'โอเน็ต'ฮาพาเศร้า

ข้อสอบ'โอเน็ต'ฮาพาเศร้า สทศ.ยันวัดความรู้ คิดวิเคราะห์ได้ทุกข้อ : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร

                      ทุกครั้งที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (องค์การมหาชน) จัด “การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์อย่างหนัก เป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ เพราะข้อสอบในแต่ละปีสร้างความมึนงง ฮือฮา กระตุกต่อมสงสัย อย่างข้อสอบโอเน็ต ม.6 ปีการศึกษา 2555 วิชาสุขศึกษา ... “หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา ต้องทำอย่าง?” ก.ชวนเพื่อนไปเตะบอล ข.ปรึกษาครอบครัว ค.พยายามนอนให้หลับ ง.ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ จ.ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง “เป็นแฟนกันต้องแสดงออกอย่างไรให้ถูกประเพณีไทย?” ก.เดินโอบไหล่ซื้อของ ข.ชวนไปทานข้าว ดูหนัง ค.นอนหนุนตักในที่สาธารณะ ง.ป้อนข้าวกันในร้านอาหาร หรือวิชาศิลปะ ปีการศึกษา 2556 “ปลูกฝังความเป็นไทยต้องให้ดูละครเรื่องอะไร?” ก.ขุนศึก ข.สี่แผ่นดิน ค.ดอกส้มสีทอง ง.แรงเงา จ.กี่เพ้า วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี “ม.6 สาเหตุที่ชาวยุโรปชอบทานแกงมัสมั่นของไทยคือ?” ก.รสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน ข.รสกลมกล่อมคล้ายซุป ค.สีสันสวยสะดุดตา ง.เครื่องเทศหอมครบเครื่อง จ.รสเปรี้ยวเหมือนต้มยำ

                      หรือ ฮากระจาย เช่น “หากมีเพศตรงข้ามมองหน้านักเรียน นักเรียนควรจะคิดว่า?” ก.เค้าตาถึง ข.เค้าตาต่ำ ค.เค้าชอบเรา ง.มองหาพ่อเหรอ ข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ "เพื่อนที่ไม่ช่วยงานเพื่อนในกลุ่ม เปรียบได้กับความสัมพันธ์แบบใด?" ก.ดอกกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่ ข.ไรโซเบียมในปมรากถั่ว ค.ไลเคน ง.พยาธิในลำไส้ จ.เหาปลาในฉลาม เป็นต้น

                      เรื่องนี้ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์  ผอ.สทศ.กล่าวอธิบายว่า สทศ.ยึดหลักและมาตรฐาน การออกข้อสอบ จะไม่เน้นความจํา แต่เน้นกระบวนความคิด ใช้การวิเคราะห์เป็นหลัก โดยการออกข้อสอบแต่ละวิชา คณะกรรมการออกข้อสอบจะต้องจัดทำพิมพ์เขียวข้อสอบ (Test Blueprint) การออกข้อสอบต้องครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนแต่ละวิชานั้นๆ และตรงตามเนื้อหาที่ถูกต้องถูกตามหลักวิชาการ ที่สำคัญจะต้องไม่ออกเกินหลักสูตร  ดังนั้นข้อสอบทุกข้อ คำถาม คำตอบ ล้วนอธิบายได้ว่าทำไมถึงถามและตอบ มีเหตุมีผล

                      ที่สำคัญเป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรฐานการบริหารการทดสอบ เน้นความโปร่งใสของการบริการการทดสอบทั้งด้านนโยบาย การบริหารและบริการต่างๆ 2.มาตรฐานบุคลากรด้านการทดสอบ เป็นการกำหนดบุคลากรที่จะมาทำงานกับ สทศ. 3.มาตรฐานการพัฒนาแบบทดสอบ กำหนดขอบเขตของการพัฒนาแบทดสอบ ลักษณะเฉพาะของแบบทดสอบ การสร้างแบบทดสอบ ตรวจสอบ คุณภาพ 4.มาตรฐานการพิมพ์ข้อสอบ การตรวจ การให้คะแนนและการประมวลผล และ 5.มาตรฐานการรายงานผลและนำไปใช้ ซึ่ง สทศ.จะยึดตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้การทดสอบมีระบบชัดเจน เชื่อถือได้ มีคุณภาพ มีความยุติธรรม ถูกต้อง

                      เนื้อหาสาระสอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรหรือกรอบสาระที่กำหนด ถูกต้องและภาษาที่ใช้ไม่เป็นปัญหากับผู้สอบ คำถาม จะมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง และถามปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง มีความชัดเจน ส่วนตัวเลือก ทุกตัวในข้อเดียวกันจะต้องมีความเป็นเอกพันธ์ มีความยากง่ายพอๆ กัน ต้องมีความถูกเพียงตัวเดียว ควรเรียงตามหลักและเหตุผล หรือเรียงอย่างเป็นระบบ ภาษาที่ใช้ในตัวเลือกไม่ควรตรงกับตัวคำถาม ถ้าต้องมีจะต้องนำไปรวมไว้ในตัวคำถาม

                      สทศ.ได้เผยแพร่ ชี้แจงผ่านหน้าเว็บไซต์ของ สทศ.ให้โรงเรียน ครู นักเรียน ได้มาศึกษา มาดูล่วงหน้า ในการออกข้อสอบว่าจะออกอะไรบ้าง รูปแบบไหนบ้าง วัดอะไรเด็กบ้าง โดยมีการทำผังการออกข้อสอบ (Test Blueprint) อิงมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 (ปรับปรุง พ.ศ.2551) มีการสังเคราะห์เนื้อหาร่วมของแบบเรียนต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ วางระดับความยาก ง่าย ที่ครู นักเรียน โรงเรียน สามารถเข้ามาศึกษาได้

                      “ขอย้ำว่า ข้อสอบของ สทศ.เน้นการคิด วิเคราะห์เป็นหลัก และทุกคำถาม คำตอบ ผู้ออกข้อสอบต้องบอกได้ว่าต้องการวัดความรู้ ความสามารถอะไรของเด็ก อีกทั้งยังมีการตรวจสอบให้ตรงกับผังข้อสอบที่วางไว้ว่าจะสามารถวัดมาตรฐานการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จริงหรือไม่ ผ่านระบบการพัฒนาข้อสอบของ สทศ. ที่คุณสมบัติของผู้ออกและกลั่นกรองข้อสอบจะต้องมีความรู้ในเนื้อหาที่จะออกข้อสอบอย่างดี (Content specialist) มีความสามารถในการออกข้อสอบ เก็บความลับได้ ไม่กวดวิชา มีเวลามาทำงานจนแล้วเสร็จ และไม่มีลูกหลานที่จะสอบในปีนั้น อยากให้นักเรียนทุกคนมั่นใจได้ว่า สทศ.พยายามพัฒนาข้อสอบให้มีคุณภาพ และวัดความรู้ของเด็กได้อย่างแท้จริง”

                      ขณะนี้ สทศ.มีการจัดทำคลังข้อสอบ (Item Bank) เพื่อเป็นคลังข้อสอบมาตรฐานหมุนเวียนใช้จัดสอบแต่ละปี คาดว่าในปี 2558 จะมีการเผยแพร่ได้ นอกจากนั้น สทศ.ได้จัดโครงการงานบริหารการทดสอบสมรรถนะของครู ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ขณะนี้มีครูทั่วประเทศ ประมาณ 5,000 คน เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นการพัฒนาครูออกข้อสอบให้มีคุณภาพ และระบบการสอบโอเน็ตให้ได้มาตรฐาน ทำนายการประเมินผลระดับนานาชาติ หรือ PISA ได้แน่นอน




.............................

(ข้อสอบ'โอเน็ต'ฮาพาเศร้า สทศ.ยันวัดความรู้ คิดวิเคราะห์ได้ทุกข้อ : โดย...ชุลีพร  อร่ามเนตร )

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่