ช้อสงสัยของอ. จุฬา เรื่องยูเน็ต

กระทู้คำถาม
รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


ไม่ว่าการจัดสอบ U-NET โดยสทศ. จะเป็นนโยบายของรัฐ (บาล?) อย่างที่ สทศ. อ้างหรือไม่ แต่จนกระทั่งวันนี้ สังคมยังไม่ได้ยินความเห็นและรายละเอียดในการบังคับใช้จากผู้ที่ควรมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการศึกษาของชาติ

ไม่ว่าจะเป็นรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือที่ประชุมอธิการบดี หากปล่อยให้ สทศ. ซึ่งเป็นเพียง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ก็เปรียบเสมือนให้คนตรวจตั๋วในเรือมาบังคับหางเสือและถือพวงมาลัย

ที่ผ่านมา สทศ. จัดทดสอบวัดมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษานอกระบบ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะผลสอบนำไปใช้ประกอบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้น (ถึงแม้คำถาม และคำตอบจำนวนมาก ได้ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างกว้างขวางในมาตรฐานการวัดผล) แต่เมื่อ สทศ. จะจัดสอบ U-NET โดยชี้แจงว่าเป็นนโยบายของรัฐ อีกทั้งทำตามพันธกิจและหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องดำเนินการทดสอบการศึกษา “ในทุกระดับ” น่าจะเป็นการตีความกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ตนเอง และสะท้อนความไม่เข้าใจในปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การศึกษาระดับอุดมศึกษา อีกนัยหนึ่งการศึกษาระดับสูง (Higher Education) มุ่งให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติเหล่านี้เป็นอย่างน้อย 1. ความรู้ (knowledge) 2. ความเข้าใจ (comprehension) 3. การนำไปใช้ (application)

4. การวิเคราะห์ (analysis) 5. การสังเคราะห์ (synthesis) และ 6. การประเมิน (evaluation)

นอกจากนั้นแก่นแกนของการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาคือให้ผู้เรียนเคารพและมีศรัทธาในความรู้ และรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในชุมชนแห่งการเรียนรู้

การทดสอบของ สทศ. 4 วิชา คือ การใช้ภาษาไทยและการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จะทำให้การเรียนในระดับอุดมศึกษาซึ่งเสมือน 4 หรือ 5 ปีของการสำรวจป่าทั้งป่า ถูกวัดผลว่ารู้จักต้นไม้เพียง 4 ต้น หรือไม่ และยังเป็นการใช้เครื่องมือตัวเดียวมาวัดบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษาทุกคณะ ทุกสาขาวิชาทั่วประเทศที่ต่างก็มีจุดเด่น จุดเน้นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละแห่ง การสอบ U-NET จึงสุมเสี่ยงให้เกิดการลดทอนความหลากหลายของการศึกษาให้เหลือเพียงมาตรฐานเดียวอย่างน่าใจหาย

ดูเหมือนว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการจัดสอบ U-NET คือ1) สทศ. เอง ที่ได้เป็นไม้บรรทัดวัดบัณฑิต 2) กลุ่มทุนและภาคธุรกิจ ที่ สทศ. ไปช่วยลดต้นทุนการคัดเลือกพนักงานบางด้านลง ด้วยเงินภาษีประชาชน และ 3) เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาและนักติวข้อสอบระดับชาติ

ในขณะที่นิสิตนักศึกษาและผู้ปกครอง กลับได้แต่ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น และในที่สุดระบบการศึกษาไทย จะเป็นระบบเรียนเพื่อสอบอย่างสมบูรณ์แบบ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่