[ทีวีดิจิตอล] โครงข่าย (Mux) กรมประชาสัมพันธ์ ให้บริการทีวีดิจิทัลสาธารณะ รวม 7 ช่อง

กรมประชาฯโหมโครงข่าย ทีวีสาธารณะ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 10:00

กรมประชาฯสรุปแผนลงทุนโครงข่าย 3 ปี มูลค่า 3.7 พันล้าน ให้บริการ "ทีวีดิจิทัล" สาธารณะ รวม 7 ช่อง



นายชุมพร เครือขวัญ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมและพัฒนางานเทคนิค กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่ากรมฯ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่าย (Mux) ทีวีดิจิทัล โดยกำหนดรูปแบบให้บริการช่องทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในปีนี้ โดยกำหนดให้บริการช่องเอสดี 6 ช่อง และ เอชดี 1 ช่อง รวม 7 ช่อง

ทั้งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็นผู้รับใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล สาธารณะ และเตรียมขอใบอนุญาต จาก กสทช. ติดต่อกับโครงข่ายกรมฯ เพื่อขอเช่าใช้บริการโครงข่ายแล้ว ประกอบด้วย รัฐสภา ,กระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงกลาโหม , กระทรวงเกษตรฯ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กลุ่มมหาวิทยาลัย และช่องเอชดี 1 ช่อง จะให้บริการช่องไทยพีบีเอส "ช่องใหม่" เนื่องจากโครงข่ายไทยพีบีเอสให้บริการไม่เพียงพอ

สำหรับแผนลงทุนโครงข่ายปีนี้ ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2557 จำนวน 980 ล้านบาท เพื่อลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 18 สถานีส่งหลัก ครอบคลุมครัวเรือนทั่วประเทศ 50% ส่วนปี 2558 ลงทุนเพิ่มอีก 1,250 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณอีก 21 สถานีส่งหลัก หรือครบทั้ง 39 สถานีส่งหลักทั่วประเทศ และปี 2559 ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณในสถานีส่งเสริม 114 สถานี โดยใช้งบประมาณลงทุนโครงข่าย 3 ปีรวม 3,700 ล้านบาท

โดยมีต้นทุนการให้บริการคงที่ประกอบด้วยค่าเช่าสิ่งอำนวยความสะดวก (สถานีส่งสัญญาณ) รวม 39 ล้านบาท/ปี , ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม 60 ล้านบาท/ปี และค่าเช่าโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติค 20 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ จะมีรายได้จากการให้บริการเช่าช่องทีวีดิจิทัลเอสดี เดือนละ 4.5 ล้านบาท และช่องเอชดี เดือนละ 13 ล้านบาท

สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายอีก 3 ราย ให้บริการช่องทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่องเช่าใช้บริการ ประกอบด้วย
กองทัพบก (ช่อง5) ได้รับใบอนุญาต 2 โครงข่าย มีช่องทีวีดิจิทัล เช่าใช้บริการ 13 ช่อง ประกอบด้วย แกรมมี่ 2 ช่อง เวิร์คพอยท์ เนชั่นทีวี ช่องนาว ทรู ทีเอ็นเอ็น โมโนกรุ๊ป เดลินิวส์ทีวี ไบร์ททีวี (3เอ.มาร์เก็ตติ้ง) ช่อง7 พีพีทีวี และอมรินทร์ทีวี

โครงข่าย อสมท รวม 5 ช่อง ประกอบด้วย ช่อง อสมท 2 ช่อง สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี และไทยรัฐทีวี และ

โครงข่ายไทยพีบีเอส รวม 6 ช่อง ประกอบไปด้วย บีอีซี 3 ช่อง ช่อง8 (อาร์เอส) และทีวีพูล 2 ช่อง

วานนี้ (17 ก.พ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือในการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวม 8 องค์กร ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่าในปีนี้จะเริ่มทดลองออกอากาศ "วิทยุดิจิทัล" กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยใช้คลื่นความถี่ย่าน VHF ที่ว่างอยู่มาทดลองออกอากาศ จากนั้นในช่วงต้นปี 2558 คาดจะเริ่มจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุดิจิทัล โดยเริ่มจากการประมูลประเภทบริการธุรกิจ และจะจัดสรรคลื่นฯ เต็มรูปแบบ ครบทั้ง 3 ประเภท คือ บริการชุมชน บริการสาธารณะ และบริการธุรกิจ หลังจากยุติโทรทัศน์ระบบอนาล็อก เพื่อนำคลื่นความถี่ฯดังกล่าวมาจัดสรรเป็นคลื่นฯ วิทยุดิจิทัล

พร้อมกันนี้ บอร์ด กสท. เห็นชอบให้ ช่องทีวีดาวเทียม OHO Channel และช่อง Mix 24 Variety ที่พบมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ละเมิดกฎหมายอาหารและยา ให้ดำเนินการยุติการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวทันที หากฝ่าฝืนจะออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 77 พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553 ด้วยการปรับ 5 ล้านบาท และปรับวันละ 5 แสนบาท ตลอดระยะเวลาการออกอากาศโฆษณาดังกล่าว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่